พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นหนึ่งในกฎหมายลูกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องร่างให้เสร็จตามรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้วางไว้ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยกร่างในขั้นแรก แล้วส่งให้ กรธ.เป็นผู้พิจารณาต่อ โดยเนื้อหาสาระของกฎหมายก็คือ การขยายบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น เช่น ส.ว. มาจาก 20 กลุ่มอาชีพหรือความเชี่ยวชาญ โดยใช้วิธีการคัดเลือกกันเองทั้งแบบภายในกลุ่มและข้ามกลุ่ม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขคัดกรองผู้ลงสมัคร
ส.ว.ชุดแรก 1 ใน 5 “คัดเลือกกันเอง” ก่อน แล้ว คสช.เลือกอีกที
ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 กำหนดการได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดแรกจำนวน 250 คน ให้มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขั้นสุดท้าย โดยจำนวน 50 คน มาจากการคัดเลือกของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งในหมวดบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ให้ กกต.ดำเนินการเลือก ส.ว. ตามวิธีการในกฎหมายลูก <คัดเลือกกันเอง> จากนั้นให้นำรายชื่อดังกล่าวเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. จำนวน 50 คน จากทั้งหมด 250 คน
ส.ว. ชุดที่สอง มี 200 คน ซึ่งมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ/ความเชี่ยวชาญ
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.กำหนดให้ ส.ว. มาจากการ “เลือกกันเอง” ของกลุ่มอาชีพ/ความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งหมด 20 กลุ่ม อันได้แก่
- ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ
- ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม
- ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ
- ด้านการศึกษา หรือวิจัย
- ด้านการสาธารณสุข
- ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา
- ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้
- ด้านปศุสัตว์ หรือประมง
- ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง
- ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน
- ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร
- ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม
- ด้านการประกอบวิชาชีพ
- ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน
- ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม
- ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี
- ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- ด้านอื่นๆ
การคัดเลือก ส.ว. มี 2 แบบ คือ “เลือกกันเองภายในกลุ่ม” กับ “เลือกไขว้”
ในการคัดเลือก ส.ว. จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ โดยวิธีการคัดเลือกจะแบ่งออกเป็นสองวิธี อย่างแรกก็คือ “การเลือกกันเองภายในกลุ่ม” ซึ่งวิธีนี้จะใช้เฉพาะระดับอำเภอ <ในกรณีที่มีผู้สมัครในกลุ่มเกิน 5 คน> โดยคณะอนุกรรมการประจำอำเภอ <ผู้รับสมัคร> จะจัดการคัดกรองผู้สมัครและจัดประชุมผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเพื่อให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวเอง จากนั้นให้ผู้สมัครภายในกลุ่มลงคะแนน ทั้งนี้ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกจะเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นๆ
เมื่อได้ผู้สมัครในระดับอำเภอ อย่างละ 5 คนต่อกลุ่มแล้ว คณะอนุกรรมการประจำอำเภอก็จะจัดให้มีการคัดเลือกอีกครั้ง แต่ครั้งที่สองจะใช้วิธีการ “เลือกไขว้” หรือให้แต่ละกลุ่มไปคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ โดยแต่ละคนจะมีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข และเมื่อมีการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว กกต.จะทำบัญชีคะแนนผู้สมัครจากมากไปหาน้อย โดยให้ 3 คนแรกที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอไปคัดเลือกกันต่อในระดับจังหวัด
เมื่อมาถึงระดับจังหวัด ก็ยังคงใช้วิธีการ “เลือกไขว้” เช่นเดิม โดยให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับอำเภอมาคัดเลือกตัวแทนระดับจังหวัดให้เหลือตัวแทนระดับจังหวัดละ 1 คนต่อ 1 กลุ่ม (จังหวัดละ 20 คน) จากนั้นตัวแทนในระดับจังหวัดก็จะมาคัดเลือกด้วยวิธีการ “เลือกไขว้” อีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกจากทั้งประเทศ และผู้นั้นก็จะได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. ในกลุ่มนั้นๆ
ทั้งนี้ กกต.จะต้องจัดทำบัญชีสำรองอีก 10 รายชื่อสำหรับแต่ละกลุ่ม สำหรับกรณีที่สมาชิกภาพของ ส.ว. ในกลุ่มใดสิ้นสุดลง จะได้ไม่ต้องดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกใหม่ แล้วให้ผู้ได้รับเลือกที่อยู่ในบัญชีสำรองในลำดับถัดไปเป็น ส.ว. แทน
ผู้สมัคร ส.ว.ต้องมีหลักฐานความเชี่ยวชาญ-ห้ามโฆษณาหาเสียง
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้กำหนด “เงื่อนไขพิเศษ” สำหรับผู้ที่จะลงสมัคร ส.ว. ไว้หลายข้อ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่แตกต่างไปจากการสมัคร ส.ส. นัก แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่
หนึ่ง ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ต้องมีหลักฐานแสดงความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปี
เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มความเชี่ยวชาญ/อาชีพไว้ ทำให้การสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. มีเงื่อนไขว่า ผู้สมัครต้องแสดงหลักฐานว่า ผู้สมัครมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับกลุ่มที่ตัวเองลงสมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องมีหลักฐานรับรองเป็นหนังสือ ยกเว้นกลุ่มด้านผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี
สอง ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. ห้ามโฆษณาหาเสียง ให้ใช้วิธีการพูดหรือแจกเอกสารแนะนำตัว
นอกจากการแสดงหลักฐานว่าผู้สมัครมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่ตนสมัครแล้ว เงื่อนไขอีกอย่างสำหรับการสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ก็คือ “ห้ามโฆษณาหาเสียง” แต่กฎหมายลูกก็เปิดช่องไว้นิดหน่อยว่า วิธีการหาเสียงให้ใช้การพูดแนะนำตัว รวมถึงการจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติและผลงานในการทำงานแต่เพียงเท่านั้น
สาม ผู้ที่จะสมัครเป็น ส.ว. มีสิทธิสมัครรับเลือกได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอำเภอใดอำเภอหนึ่ง
อย่างไรก็ดี หากผู้สมัครคนใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือเงื่อนไขข้างต้นที่กล่าวมา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
“ซื้อเสียง-ใช้อิทธิพล-กลั่นแกล้ง” มีโทษจำคุกพร้อมเพิกถอนสิทธิลงสมัคร
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ทำการทุจริตในหลายกรณี โดยบทลงโทษส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่
ความผิดสำหรับผู้กระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งรวมไปถึง กรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากกระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว.
หรือ หากผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือเพื่อให้เป็น ส.ว. อีกทั้งผู้ใดกระทำการให้สัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนลงคะแนนให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ทั้งนี้ หากผู้ใดกระทำความผิดข้างต้น ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
บุคคลทั่วไปมีสิทธิร้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. และผู้สมัครสามารถคัดค้านผลได้
ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่า ถ้าบุคคลใดก็ตาม เห็นว่าผู้ลงสมัครคนใดที่มีชื่ออยู่ในประกาศบัญชีผู้สมัครของ กกต. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการลงสมัคร ให้บุคคลนั้นยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณา
ทั้งนี้ หากศาลฎีกามีคำวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเร็ว เช่น ถ้าศาลมีคำสั่งให้ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศบัญชีรายชื่อ และหากศาลมีคำสั่งภายหลังการประกาศผลการคัดเลือก ส.ว. กกต.มีอำนาจขอศาลให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้สมัครมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต. ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากว่าเป็นการคัดค้านการเลือกหรือนับคะแนนในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือประเทศ ให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการคัดเลือกซึ่งมีปัญหา จากนั้นให้ กกต.ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป