ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ ผู้ซึ่งเคยเป็นขาประจำในการปราศรัยของการชุมนุมในระหว่างปี 2563-2564 ที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีจำนวนมาก จนต้องเดินเข้าออกเรือนจำหลายครั้ง จนกระทั่งมาถึงวันที่เขาต้องเข้าเรือนจำตามคำพิพากษาในปี 2567 ที่อาจทำให้เขาต้องอยู่ยาว
ไบรท์เป็นคนจังหวัดนนทบุรี ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ได้ราบเรียบ พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่เขายังเล็ก เขาต้องดิ้นรถทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เคยทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เคยเป็นลูกจ้างร้านสะดวกซื้อ แต่ก็ติดตามสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ขณะที่เขาอายุเพียง 15 ปี เขาทำกิจรรมภายใต้กลุ่ม “นนทบุรีปกป้องความเป็นธรรม” และเขาร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง จนกระทั่งไปเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นชินวัตร ตามนามสกุลของอดีตนายกรัฐมนตรี เคยเป็นแกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, เคยเป็นประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี ไบรท์แสดงความเห็นทางการเมืองมาต่อเนื่อง เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกไปรายงานตัว ก่อนที่ในช่วงปี 2566 ไบรท์จะเปลี่ยนขั่วทางการเมืองเข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคพลังประชารัฐ และจัดกิจกรรมปาร์ตี้กระชับมิตรสลายสีเสื้อเหลือง-แดง https://www.naewna.com/politic/754099
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67 พบว่า ไบร์ท ตกเป็นจำเลยในคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้นเจ็ดคดี โดยมีคำพิพากษาแล้วสามคดี จากคดีเหล่านี้ทำให้ไบรท์ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วสามครั้ง
คดีที่หนึ่ง : วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ไบร์ทถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากเหตุการปราศรัยในกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับเนติพรหรือ บุ้ง และ “ใบปอ” ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 และกำลังอดอาหารเรียร้องสิทธิประกันตัวอยู่ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
เบื้องต้นหลังถูกจับกุม ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ไบรท์ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 26 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกจากเรือนจำในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี ในคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่7 ธันวาคม 2566 ว่า ไบรท์มีความผิดตามฟ้อง มีโทษจำคุกสามปี ปรับเงิน 200 บาท เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง และโทษจำคุกให้รอการลงโทษ ให้เว้นการกระทำลักษณะเดิม พร้อมให้ทำงานสาธารณประโยชน์
คดีที่สอง : ไบรท์ถูกกล่าวหาจากการปราศรัยเชิญชวนประชาชนให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการจำเป็นจะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญก่อน ใน #ม็อบ2ธันวาไล่จันทร์โอชาออกไป เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 บริเวณห้าแยกลาดพร้าว
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 ศาลอาญาพิพากษาให้ไบรท์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่นตาม 116 (2)(3), ข้อหา “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” และ “เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแต่ไม่เลิก ตามมาตรา215, 216, ข้อหา “กีดขวางทางสาธารณะ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, ข้อหาตามพ.ร.บ.จราจรทางบก, ข้อหาตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535, ข้อหาฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคโควิด ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ศาลอาญากำหนดโทษจำคุกรวม 6 ปี และปรับ 22,200 บาท แต่เนื่องจากไบร์ทให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือ 3 ปี ปรับ 11,100 บาท โดยไม่รอลงอาญาและถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำ หลังจากนั้นได้มีการยื่นประกันตัวในวันถัดมาและศาลฯ ได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เท่ากับไบร์ท ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 วัน
คดีที่สาม : ไบรท์ถูกกล่าวหาจากการปราศรัยเกี่ยวกับความต้องการอยากเห็นสถาบันกษัตริย์อยู่ในที่ทางที่ถูกต้องในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลอาญาพิพากษาให้ไบรท์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” และ “เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแต่ไม่เลิก” ตามอาญา มาตรา 215 และ มาตรา 216, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหา “กีดขวางทางสาธารณะ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
ศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกรวม 6 ปี ปรับ 12,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 6,100 บาท ไม่รอลงอาญา
หลังอ่านคำพิพากษาแล้ว มีคนมาช่วยเหลือไบรท์โดยการยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวให้ แต่ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
RELATED POSTS
No related posts