“เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ข้อความข้างต้นมาจากคำถามพ่วงหรือประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามในการออกเสียงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผลของการออกเสียงประชามติในคำถามนี้ คือ ผู้มาใช้สิทธิจำนวน 50,071,589 คน เห็นชอบ 15,132,050 คะแนน (ร้อยละ 58.07) และไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน (ร้อยละ 41.03) เมื่อประกอบกับคำถามหลักที่ผู้มาใช้เสียงข้างมากเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ส่งผลให้หลังจากนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง กล่าวคือ กรธ.จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงห้าปีแรกของรัฐธรรมนูญ
คำถามที่ตามมาก็คือ กรธ.จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปในทิศทางใดเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงดังกล่าว
ส.ส.เลือกนายกฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก่อนเลือกตั้ง
ก่อนที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง เดิมร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติกำหนดให้ก่อนการเลือกตั้งนั้น แต่ละพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินสามรายชื่อ และในการเสนอชื่อผู้สมควรตำรงตำแหน่งนายกฯ ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ระบุว่า ในครั้งแรกของการเลือกนายกฯ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ จากรายชื่อในบัญชีที่เสนอก่อนการเลือกตั้งได้ ก็สามารถเสนอชื่อบุคคลอื่นนอกบัญชีได้ โดยให้ ส.ส.กึ่งหนึ่ง (250 คน) เสนอขอให้ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง และให้ที่ประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว.ลงมติ 2 ใน 3 (500 คน จาก 750 คน) หากที่ประชุมเห็นชอบ ให้ ส.ส.มากกว่ากึ่งหนึ่ง (251 คน) เลือกนายกฯ จากคนนอกได้
แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ให้เข้ากับคำถามพ่วง
สาระสำคัญของคำถามพ่วงคือ “ให้ ส.ว.จำนวน 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้” ซึ่งจากข้อความนี้มีสี่แนวทางที่ถูกเสนอให้ กรธ.พิจารณา
แนวทางที่หนึ่ง “เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล ให้ ส.ว.สามารถร่วมเลือกนายกฯ”
แนวทางนี้เป็นแนวทางที่แก้ไขเพิ่มเติมตรงตามเนื้อหาที่ระบุในคำถามพ่วง โดยในการแก้ไขเพิ่มเติม กรธ.อาจจะบัญญัติเพิ่มในมาตรา 270 ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ เพราะเดิมมาตรานี้บัญญัติว่าให้ ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการจัดทำและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามในแนวทางนี้ ส.ส.ยังคงเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอก่อนเลือกตั้งเช่นเดิม ส่วน ส.ว.จะมีสิทธิร่วมโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคนที่ ส.ส.เสนอมาเท่านั้น หากเป็นการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีก็ยังคงเป็นหน้าที่ ส.ส. ตาม มาตรา 272
แนวทางที่สอง “แก้ไข ม.272 ให้ ส.ว.มีสิทธิเท่า ส.ส.เลือกนายกฯ คนนอก”
แนวทางนี้ การเลือกนายกฯ ยังคงต้องเลือกจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอเช่นเดิม แต่หากเกิดไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ในวาระแรกของรัฐสภาตามมาตรา 272 มีการเสนอว่าให้ขอมติ 2 ใน 3 จากทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เพื่อให้สามารถเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี โดยไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมีมติก่อน เพราะในคำถามพ่วงก็ให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ อยู่แล้ว ดังนั้นการของดเว้นเพื่อเลือกนายกฯ คนนอก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเพื่องดเว้นเลย ทั้งนี้หากจะเลือกนายกฯ คนนอกมากกว่าหนึ่งครั้ง มีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ไกลสุดที่ทำได้คือตามวาระของ ส.ส.ชุดแรก
แนวทางที่สาม “ให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส.”
แนวทางต่อมาเป็นข้อเสนอของวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอว่า ในระหว่าง 5 ปีนี้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องร่วมกันโหวตคนที่จะเป็นนายกฯ เมื่อ ส.ส.และ ส.ว. มีสิทธิร่วมกันโหวตก็มีสิทธิร่วมกันเสนอ ส่วนจะเป็นคนในหรือเป็นคนนอกก็เสนอได้ทั้งนั้นในระหว่าง 5 ปีนี้ เพราะทั้งหมดเหล่านี้คือความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ทั้งฝ่ายเลือกตั้งที่มาจากประชาชนและจากฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงมาร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองและช่วยกันประคับประคองให้บ้านเมืองเดินต่อไปด้วยความสงบเรียบร้อยในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจไปด้วยกัน
แนวทางที่สี่ “เพิ่มอำนาจ ส.ว. อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล”
แนวทางนี้คือการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากหาก ส.ว.สามารถเลือกนายกฯ ได้ก็ควรมีอำนาจในการตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้เหมือนจะไม่ได้เสียงตอบรับมากนัก กระทั่ง สนช.เองต้องออกมายืนยันว่า ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่านตามคำถามพ่วงนั้น จะไม่มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแน่นอน
อย่างไรก็ตามแนวทางต่างๆ ยังไม่แน่ชัดว่าจะออกมาในทางใด ซึ่งจะพบว่า กรธ.นั้นสนับสนุนในแนวทางที่หนึ่ง ขณะที่ สนช.เองสนับสนุนไปในแนวทางที่สอง ทั้งนี้ต้องติดตามวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ที่ สนช. นำโดยสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. จะเข้าชี้แจงที่มาและเหตุผลของคำถามพ่วงให้ที่ประชุม กรธ.ได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของ สนช. ทั้งนี้ไม่ว่าการแก้ไขจะออกไปแนวทางใดเมื่อ กรธ.พิจารณาเสร็จ หลังจากนี้ไม่ถึง 30 วัน ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาภายใน 30 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย และขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มทำงานอย่างน้อยภายในหนึ่งปีกว่าก่อนการเลือกตั้งตามโรดแมปของ คสช.
ย้อนรอย: รัฐธรรมนูญ 2521 ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ
๐ ส.ว.มีจำนวนได้ถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. ๐ นายกฯ เป็นผู้เสนอรายชื่อ ส.ว. ๐ ข้าราชการประจำเป็น ส.ว.ได้ ๐ วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี |
อำนาจ ส.ว.ในระยะ 4 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ
๐ มีส่วนร่วมในการพิจารณาพระราชกำหนด ๐ ร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญๆ ๐ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. |
การเลือกนายกฯ ในวาระแรกฯ ของรัฐธรรมนูญ 2521
๐ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกฯ จากรัฐประหารในปี 2520 แต่งตั้ง ส.ว.ชุดแรก ๐ ส.ว.ชุดแรก 225 คน, ส.ส. 301 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 526 คน ๐ เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 264 เสียงขึ้นไป ๐ ส.ว.มาจากวงการทหารและตำรวจ 193 คน มาจากบุคคลจากนักธุรกิจและบุคคลพลเรือนอื่นๆ 32 คน ๐ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง มีกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม มีผลประโยชน์และอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันไป ๐ พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคกิจสังคม 88 เสียง พรรคชาติไทย 38 เสียง พรรคประชากรไทย 32 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 32 เสียง รวมเป็น 190 เสียง เห็นว่านายกฯ ควรมาจาก ส.ส ๐ พล.อ.เกรียงศักดิ์แสวงหาความสนับสนุนจาก ส.ส.กลุ่มต่างๆ ประมาณ 11 กลุ่ม รวมแล้วมี 111 เสียง ๐ ผลคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ จากการสนับสนุนจาก ส.ส.จำนวนหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุด |
RELATED POSTS
No related posts