ในสถานการณ์ที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่เริ่มประสานเสียงถึงความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เครื่องหมายคำถามก็ยังอยู่ที่ว่าการนิรโทษกรรมนั้นจะรวมคดีที่เกิดจากการหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ความแตกต่างในจุดยืนของพรรคการเมืองนี้จะกลายเป็นจุดตัดที่จะกำหนดเนื้อหาและทิศทางของการพิจารณากฎหมายในสภา
การจะผ่านกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรได้จะต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 251 เสียง โดยที่ตอนนี้ (จนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์) จุดยืนต่อการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ของบางพรรคการเมืองยังไม่มีความชัดเจน ชวนเช็คจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองในปัจจุบัน (ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567) ต่อประเด็นการนิรโทษกรรมมาตรา 112
นิรโทษกรรม 112
พรรคก้าวไกล (สส. 148 คน)
พรรคก้าวไกลนำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตนเองเข้าสู่สภา โดยเนื้อหาใช้กลไกคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน พิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมในคดีใดบ้างที่เข้าข่ายใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คดีที่ยกเว้นมีเพียงกรณีกระทำความผิดต่อชีวิต กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงโดยมิชอบในการสลายการชุมนุม และกรณีความผิดตามมาตรา 113 หรือล้มล้างการปกครอง
หมายความว่า หากร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลผ่านเป็นกฎหมาย คดีตามมาตรา 112 ก็จะอยู่ในกรอบที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณานิรโทษกรรมด้วย แม้จะไม่ใช่การการันตี แต่ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เห็นสมควรว่าการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เป็นสิ่งจำเป็นในการสลายความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสร้างการพูดคุยตามระบอบประชาธิปไตย
สำหรับในกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดการผลักดันแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. พรรคก้าวไกลกล่าวว่า “แม้ว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลจะถูกสั่งให้ถอยในเรื่อง กฎหมายอาญามาตรา 112 แม้ว่า ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล จะไม่ได้มีการระบุเป็นมาตรา แต่ไม่ได้มีการตัดสิทธิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ดังนั้น ถ้าเราไม่หลับตาข้างหนึ่งก็จะเห็นปัญหาตรงกัน และไม่มีปัญหากับมาตรานี้”
ไม่ชัดเจน
พรรคเพื่อไทย (สส. 141 คน)
จุดยืนของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ที่ผ่านมา นิรโทษกรรมเป็นแผลใหญ่ของพรรคเพื่อไทยหลังจากการผลักดันกฎหมาย “เหมาเข่ง” ล้มเหลวในปี 2556 โดยในคราวแรกนั้นไม่ได้ยกเว้นมาตรา 112 เอาไว้ ก่อนจะมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการให้ยกเว้นมาตรา 112 จากการนิรโทษกรรม ที่กลายเป็นเงื่อนไขเดียวของกฎหมายนิรโทษกรรมก่อนเกิดรัฐประหารในปีต่อมา
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2567 สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยกล่าวสนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าหากไม่ใช่อาชญากรรม ก็ควรจะยกเลิกคดี
“ก่อนหมดสมัยประชุมก็มีคนคิดเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าเวลาน้อย ผมคิดว่าสมัยหน้ามีบรรยากาศที่จะทำ แต่ถ้าทำเรื่องนี้ก็ต้องละเอียดอ่อน ต้องคุยกันถึงกรอบให้ชัด ถ้าเพื่อไทยคิดจะทำ คนก็จะระแวง เราจะต้องระมัดระวัง แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกไป คิดถึงคนทั้งหมด ผมคิดว่าถึงเวลาที่ต้องคุยกัน”
ต่อมา หลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว รายละเอียดการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ก็ยังไม่ชัดเจน ทางออกของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้จึงเป็นการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีระยะเวลาศึกษาในสภาผู้แทนราษฎร 60 วัน ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวพรรคเพื่อไทยจึงยังไม่ต้องตัดสินใจว่าจะรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยหรือไม่ โดยชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า
“ปัญหาใหญ่ที่ กมธ. ต้องถกคิด คือจะนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมเพียงใด เป็นสิ่งที่สังคม และพรรคการเมือง กำลังโต้เถียงอยู่ในขณะนี้ กมธ. คงต้องไปศึกษาว่าจะครอบคลุมการกระทำอะไร เวลาใด บุคคลใด ซึ่งจะมีการหารือกัน ว่าหากท้ายที่สุดเห็นควรว่าจะนิรโทษกรรม เราจะไปถึงขั้นยกร่างหรือไม่ เพราะหน้าที่ของเรา คือการศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจจะต้องมีการถามให้รอบคอบ จะได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จ ส่วนแนวทางการพิจารณานิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ที่มีความเห็นต่าง และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ต้องฟังความคิดเห็นกัน อย่าไปด่วนสรุปว่าจะมีหรือไม่มีอะไร ต้องดูรอบด้าน อย่าไปถึงขั้นฟันธงเลย”
พรรคไทยสร้างไทย (สส. 6 คน)
พรรคไทยสร้างไทยก็เป็นอีกพรรคหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการนิรโทษกรรมมาตรา 112 อย่างไรก็ดี อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็ยืนยันว่าการแก้ไขความขัดแย้งผ่านการนิรโทษกรรมนั้นควรไม่แบ่งฝ่าย แต่ให้ทุกคนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม
ไม่นิรโทษกรรม 112
พรรครวมไทยสร้างชาติ (สส. 36 คน)
พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตพรรคการเมืองของประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตนเองภายใต้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … ซึ่งระบุให้มีการนิรโทษกรรม เช่น การก่อกบฏ ก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แต่ไม่รวมความผิดตามมาตรา 112 การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ธนกร บุญวังชนะ รองหัวหน้าพรรคเคยให้สัมภาษณ์ว่าเหตุที่ไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 นั้นเพราะว่าเป็นคดีความมั่นคง อีกทั้งสถาบันกษัตริย์ก็เป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติและเกี่ยวข้องกับการเมือง
“ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยอยากจะออกมาพูดเพราะรู้ดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในใจคนไทยอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องพูด แต่ก็มีบางพรรคที่ออกมาแสดงความเห็นให้ข้อมูลบิดเบือนทำให้ประชาชนสับสน ผมจึงต้องขอออกมาพูดและย้ำให้เกิดความชัดเจนว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขของชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศ จึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับทุกร่างพ.ร.บ.ที่พรรคก้าวไกลเสนอให้นิรโทษกรรมกับผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงเรื่องสถาบัน และเชื่อว่าคนไทยทั้งชาติไม่ยอมรับแน่นอน“
พรรคประชาธิปัตย์ (สส. 25 คน)
พรรคประชาธิปัตย์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคกล่าวคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลเนื่องจากมีการรวมมาตรา 112 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย โดยราเมศมีความเห็นว่ากฎหมายของพรรคก้าวไกลเพื่อช่วยเหลือแนวร่วมของพรรคก้าวไกล และเป็นพรรคที่จะได้ประโยชน์
ต่อมา โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวอีกว่าความผิดตามมาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่มีวาระซ่อนเร้น การนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอีกระลอก เช่นเดียวกับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ให้ความเห็นว่ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่ควรรวมมาตรา 112 และเรียกร้องให้กรรมาธิการวิสามัญนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย
พรรคชาติไทยพัฒนา (สส. 10 คน)
จากการให้สัมภาษณ์ของวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เช่นเดียวกัน รวมถึงความผิดที่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต
“คิดว่าการที่พรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเช่นนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในนามรัฐบาล จะได้เป็นแนวทางเดียวกัน”
พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (สส. 1 คน)
พรรคครูไทยเพื่อประชาชนเป็นอีกพรรคหนึ่งที่นำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ภายใต้ชื่อเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … อย่างไรก็ดี ชื่อร่างกฎหมายและเนื้อหาภายในนี้ถูกเสนอโดยพรรคพลังธรรมใหม่ของระวี มาดฉมาดล เป็นครั้งแรกในปี 2565 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2567 พรรคพลังธรรมใหม่ไม่ได้ที่นั่งในสภา แต่ก็ปรากฏร่างกฎหมายชื่อเดิมเสนอโดยพรรคครูไทยเพื่อประชาชน หลังจากนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติก็ยื่นร่างกฎหมายของตนเองในชื่อเดียวกันตามมา
เนื้อหาโดยรวมของร่างกฎหมายพรรคครูไทยเพื่อประชาชนคล้ายกับร่างกฎหมายชื่อเหมือนของพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวคือ มีการนิรโทษกรรมให้กับความผิด เช่น การก่อการร้าย การชุมนุม แต่ยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 การทุจริต และการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
ปรีดา บุญเพลิง หัวหน้าพรรคยืนยันจุดยืนว่า
“ถึงเวลาที่บ้านเมืองต้องเดินหน้า กฏหมายอะไรที่เสนอแล้วยังมีเสียงคัดค้าน หรือต่อต้าน และจะนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต ในฐานะสส.ขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนพักเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งเสนอ หากเห็นว่าไม่เกิดผลดีต่อชาติบ้านเมือง ก็ขอให้เลิกซะ และผมยืนยันหลักการของพรรคครูไทยฯ ไม่แตะมาตรา 112 เด็ดขาด”