แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว: ประชามตินับเสียงเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบเท่านั้น

ร่างรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 10 มีนาคม 2559 โดยการแก้ไขในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเนื้อหาที่แก้ไขในครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

การแก้ไขครั้งที่สองยังคงเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นการแก้ไขในห้าประเด็นเพื่อทำให้กระบวนการออกเสียงประชามติมีความชัดเจนขึ้น เช่น การแก้ไขประเด็นการนับเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติ ฯลฯ  ขณะที่ถ้าประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไรนั้นยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

 

การนับคะแนนเสียงนับเฉพาะคน “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ”

การนับคะแนนเสียงของการทำประชามติเป็นที่ถกเถียง เมื่อหลายคนหลายกลุ่มตีความ “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขครั้งที่หนึ่งต่างกัน ในการแก้ไขครั้งนี้รัฐบาล คสช. จึงขอแก้ไขบทบัญญัติให้เป็น “เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติ” และถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ

สำหรับการนับคะแนนนั้น จะนับเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนว่า “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่นับรวมคะแนนบัตรเสียและงดออกเสียง ซึ่งวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 30 ล้านคน เห็นชอบ 12 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10 ล้านคน บัตรเสียและงดออกเสียง 8 ล้านคน ก็จะนับเฉพาะคะแนนเห็นชอบที่ได้มากกว่าไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่รวมบัตรเสียและงดออกเสียง ถือว่าได้เสียงข้างมากแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้คะแนนถึง 15 ล้านคน

 

ขั้นตอนการทำประชามติใหม่ ไม่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญครัวเรือน เน้นส่งผ่านออนไลน์ สื่อมวลชน

ขั้นตอนการแจ้งร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้แจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช.ทราบ และให้ ครม.แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

ขั้นตอนการจัดทำสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กรธ.จัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุป ส่งให้ กกต.ภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ กรธ.แจ้ง ครม. และ สนช.ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว

สำหรับการจัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุป แก้ไขจากเดิมที่ กกต.ต้องแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ถึง ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมด จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ มาเป็นการใช้วิธีการรณรงค์เผยแพร่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในช่องทางต่างๆ เช่น อินโฟกราฟิก เว็บไซต์ การซื้อโฆษณาจากสื่อต่างๆ รวมถึง การติดประกาศตามหน่วยงานราชการ

ขั้นตอนการกำหนดวันออกเสียงประชามติ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ กรธ.ส่งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ


กติกาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว
– การพิจารณาของ สนช.จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เว้นแต่ ครม.และ คสช.จะเห็นชอบด้วย
– มติเห็นชอบต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่

มอบอำนาจ กกต.ดูแลประชามติ พร้อมให้รณรงค์เต็มที่ในเวทีรัฐ 

รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดหน้าที่ของ กกต. ไว้ว่า ให้เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเวลาในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ รวมถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ และการนับคะแนน บัตรเสีย และการประกาศผลการออกเสียงประชามติ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ส่วนหนึ่งจะปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.กำลังร่างอยู่ โดยศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ชี้แจงไว้เบื้องต้นว่า จะมี 16 มาตรา ซึ่งมีบทกำหนดโทษเหมือนเดิม เช่น ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ ต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท

ส่วนขอบเขตการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า จะให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยจะให้ กกต.จัดเวทีแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม วิษณุเตือนว่า “ถ้าไปแสดงความเห็นในพื้นที่อื่น ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง หากถูกดำเนินการตามกฎหมาย”

 

ขยายฐานผู้มีสิทธิออกเสียง อายุ 18 ในวันประชามติ ก็มีสิทธิออกเสียงได้

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้เป็นอำนาจ กกต.กำหนด ซึ่งต้องใกล้เคียงกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับอายุ จากเดิมผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็นผู้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ กล่าวคือผู้ที่อายุ 18 ในวันที่ลงประชามติถือว่าเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นการขยายฐานของผู้มีสิทธิออกเสียงให้มากขึ้น

 

สนช. สามารถเสนอคำถามประชามติได้ 

ในการออกเสียงประชามติ นอกจากคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังกำหนดให้ สนช.สามารถเสนอประเด็นอื่นได้หนึ่งประเด็น และให้ กกต.จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม ว่าจะให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมกันไปในคราวเดียวกันได้ แต่ สนช.ต้องเสนอภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจาก กรธ.ว่าร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ในส่วนนี้เป็นการแก้ไขจากเดิมที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สนช.สามารถตั้งคำถามประชามติ ได้องค์กรละหนึ่งคำถาม โดยต้องมีการกลั่นกรองจาก ครม.ก่อน

 

วงจรเดิม ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ คสช.ตั้ง กรธ.ชุดใหม่

ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีสองเงื่อนไขที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เงื่อนไขแรกคือเสียงข้างมากลงคะแนนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าเห็นชอบ เงื่อนไขที่สองคือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากเสียงข้างมาก และนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ แล้ว แต่พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนด 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ร่างรัฐธรรมนูญก็จะตกไป

ทั้งนี้ ทางออกทางเดียวหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม ให้ คสช.แต่งตั้ง กรธ.ขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งระยะเวลาก็จะเท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ฤชุพันธุ์


ขั้นตอนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว
– การพิจารณาให้ทำเป็นสามวาระ
– วาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยว่าสมาชิกจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ
– วาระที่สองให้ สนช.พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา การออกเสียงขั้นพิจารณาเรียงมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมาก โดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน และให้พิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้ง
– วาระที่สามให้ สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการออกใช้รัฐธรรมนูญ ในการออกเสียงให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage