แถลงการณ์เรื่อง “ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ”

21 มิ.ย. 2559 ประชาไทรายงานว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), โครงการปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง สำหรับนักบริหาร (MPE) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

 

กาง พ.ร.บ.ประชามติฯ ชี้อาจขัดรัฐธรรมนูญ  

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีเมื่อ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินรับหนังสือที่ตนและนักวิชาการอีกจำนวนมาก รวมแล้วมากกว่า 100 รายชื่อยื่นให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมาตรา 61 วรรคสองใน พ.ร.บ.ประชามติฯ มีข้อความที่ไม่เคยปรากฏที่ใดมาก่อน ซึ่งข้อความนั้นมีอยู่ว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้เสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งความผิดนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้จอนมองว่าภาษาที่ใช้ในมาตรา 65 วรรคสองนั้นตีความยาก

“ผมได้ยินคำว่า ‘ปลุกระดม’ มาตลอดชีวิตแต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ถ้าผมบอกว่าช่วยกันไปลงประชามติ ไปรับร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้คือ ‘ปลุกระดม’ หรือไม่ ผมไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่ถ้าพูดแบบนี้ผมเดาว่าปลอดภัย ถ้าผมออกไปบอกให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือลูกผมจะต้องไม่ได้เจอพ่อเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันสำหรับผมมันกลายเป็นโลกที่ไม่ใช่ความจริง” จอนกล่าว

จอนกล่าวว่า ขณะที่ต้องรอผลวินิจฉัยดังกล่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศขยายความมาตรา 61 วรรคสองออกมา เช่น ถ้าต้องการจัดสัมมนาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมจัดด้วย ทั้งนี้เมื่อดูกฎของ กกต.พบว่า ห้ามจำหน่ายเสื้อ ห้ามติดสัญลักษณ์ที่เป็นการปลุกระดมรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับสิ่งที่ต่างประเทศกำลังทำอยู่ ในอังกฤษที่จะมีประชามติว่าจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่นั้น สื่อมวลชน นักการเมือง นักธุรกิจจะเลือกอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ล้วนประกาศจุดยืนของตนเองได้

 

รัฐบาลใช้ภาษีประชาชนผลักดันข้อดี รธน. ใครเห็นต่างเสี่ยงติดคุก

จอนกล่าวต่อถึงปัญหาที่เกิดจากกฎของ กกต.ว่า ขณะที่รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปอบรม ครู ก. ครู ข. ครู ค. ชี้แจงเพียงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็อาจเป็นการปลุกระดมเพียงทำโดยรัฐเพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่ผิดกฎของ กกต. ไม่ผิดมาตรา 61 วรรคสอง ขณะเดียวกันถ้าใครไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเสี่ยงติดคุก ซึ่งเป็นการปิดโอกาสประชาชนในการแสดงออก ที่สำคัญคือตัดโอกาสประชาชนที่จะสามารถรับฟังได้ทั้งข้อดี ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ และนี่คือความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่และส่งผลให้การลงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม

 

นิรันดร์ชี้บรรยากาศสับสน จากรับ/ไม่รับ รธน. กลายเป็นรับ/ไม่รับ คสช.

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลต้องตีโจทย์ให้แตกว่าการลงประชามติครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญคืออำนาจของประชาชนไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และการจะทำให้รัฐธรรมนูญที่เป็นข้อตกลงทางกฎหมาย การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ความชอบธรรมของการประชามติที่อำนาจของประชาชนมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้ง คือ ประชาชนจะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง และตัดสินใจกันว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ถ้ามันไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่แสดงถึงอำนาจของประชาชน มีการแทรกแซงจากอำนาจที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสภาพของเรื่องนี้ถูกทำให้สับสน คลุมเครือและดำมืด มีความไม่แน่นอนของผู้นำที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ทำให้การลงประชามติและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเพื่อจะบอกถึงอำนาจของประชาชนกลายเป็นสิ่งถูกทำให้คลุมเครือ สับสน กลายเป็นว่าประชามติที่จะเกิดขึ้นนั้นคือการตกลงว่าจะเอาหรือไม่เอา คสช.” นิรันดร์กล่าว

เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่ามีการคุยโทรศัพท์กับเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) แสดงว่ารัฐบาลชุดนี้ยังให้ความเคารพต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่กล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ดังนั้นอย่าบอกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ต่อองค์กรระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการชักศึกเข้าบ้าน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของสังคม

 

รัฐบาลไม่เข้าใจหลักการของประชามติ

นิรันดร์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขณะนี้แสดงให้เห็นว่าคนชั้นนำไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ หากหลักสำคัญในการทำประชามติคือ เสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งรัฐจะต้องให้สิทธิประชาชนในฐานะพลเมืองในการรับรู้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แน่นอนว่าประชาชนต้องสามารถพูดคุย ลงลึกถึงรายละเอียดข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นรูปธรรมจึงจะเป็นประโยชน์ต่ออำนาจของประชาชนในการลงประชามติ

ตอนหนึ่งนิรันดร์กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้สถานการณ์สร้างความเข้าใจต่อสังคมว่าจะพูดคุยแสดงความคิดกันอย่างไรแต่ไม่ใช่มาตีกรอบ ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพในการพูดคุย รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การตัดสินใจได้เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดและจัดให้มีขึ้น

 

ต่างประเทศเสนอไทยดันเสรีภาพแสดงออกส่งผลต่อประชามติ

ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประชามติกับการใช้เสรีภาพว่า รัฐไทยมีพันธะที่ต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยขณะนี้มีวาทกรรมที่รัฐบาลพูดอยู่เสมอคือ ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ ซึ่งเธอไม่แน่ใจว่าเป็นภาวะไม่ปกติหรือพยายามสร้างให้เกิดภาวะไม่ปกติกันแน่

อย่างไรก็ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ชัดเจนว่า การไม่ให้คนแสดงออกซึ่งความคิดทำไม่ได้ไม่ว่าอยู่ในภาวะใดก็ตาม ซึ่งตอนนี้พวกเราคงตอบว่าประเทศอยู่ในภาวะปกติ แต่คนที่บอกว่าไม่ปกติเป็นผู้มีอำนาจ และสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยตอนนี้คือ เราไม่พูดถึงสิทธิแต่พูดถึงการถูกจำกัดสิทธิเท่านั้น ซึ่งการจำกัดสิทธิในการแสดงออกทำได้ก็ต่อเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อชื่อเสียงของผู้อื่นโดยมีกฎหมายแพ่งรองรับความผิดอยู่แล้ว และกระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของประเทศซึ่งถูกตีความกว้างขวางมาก ขณะนี้การแสดงออกซึ่งความคิดที่แตกต่างก็กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ศรีประภากล่าวต่อถึงเอกสารรายงาน UPR ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ส่งให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนที่ผ่านมาแล้วได้รับข้อเสนอที่รับกลับมาทันที 181 ข้อ รวมกับอีก 68 ข้อที่นำกลับมาพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ (จากเดิมทั้งหมด 172 ข้อ) และเป็นปัญหาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในข้อเสนอที่รับมาแล้ว 12 ข้อและที่รับมาพิจารณาอีก 16 ข้อ

ตอนหนึ่งศรีประภายกตัวอย่างข้อเสนอแนะที่ไทยรับกลับมาพิจารณา เช่น เกาหลีมีข้อเสนอให้สนับสนุนการถกแถลงของสาธารณะที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และสาธารณรัฐเช็กมีข้อเสนอให้ประกันและเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้สิทธิรวมถึงบริบทของการยกร่างและรับรองรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้ถกแถลงต่อกระบวนการประชามติ ซึ่งน่าสนใจว่าทั่วโลกติดตามสถานการณ์ภายในประเทศไทยอยู่พอสมควร รวมถึงหากรัฐบาลรับข้อเสนอกลับมาแล้วไม่ปฏิบัติก็สมควรถูกประณาม และการโทรศัพท์สายตรงกับ UN ก็คงไม่มีประโยชน์

 

ร่าง รธน.ไม่ผ่านมีใครตอบได้ ผู้มีอำนาจยังตัดสินใจเช่นเดิม

เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงปัญหาสำหรับการลงประชามติเมื่อปี 2550 และการลงประชามติที่จะเกิดว่า ไม่ชัดเจน แน่นอนว่าถ้าผ่านประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกฎหมายสูงสุดที่บังคับใช้ แต่ถ้าไม่ผ่านประชามติก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ นอกจากนี้หลักการพื้นฐานของประชามติต้องเป็นไปโดยเสรี คือต้องรณรงค์ได้ แสดงความเห็นได้

เอกชัยชวนดูข้อเท็จจริงว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2559 มีมาตรา 61 วรรคสองเพิ่มเข้ามาจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ 2552 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และอาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปีด้วย ทั้งงานสัมมนาครั้งนี้ก็จะจัดไม่ได้ถ้าไม่เป็นไปตามประกาศของ กกต. ที่เขียนขยายความตามอำนาจ  พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสองออกมาบอกว่าห้ามจัดสัมมนา อภิปรายโดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่ประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนตามกฎหมายเข้าร่วมและมีเจตนาปลุกระดมทางการเมือง 

ตอนหนึ่งเอกชัยกล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในระบอบเสรีประชาธิปไตย วิธียุติความขัดแย้งคือ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ลดทอนให้คนกลับมาเป็น 1 คน 1 เสียง เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว เสียงส่วนใหญ่จะกำหนดทิศทางของประเทศ เสียงส่วนน้อยจะต้องอดทนและพยายามโน้มน้าวให้เสียงส่วนน้อยกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่

วัฒนธรรมในการแก้ปัญหาทางการเมืองไม่สามารถแก้ได้โดยรัฐประหาร เพราะการเมืองเป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล ไม่สามารถสั่งให้ชอบหรือไม่ชอบใครได้ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็ไม่สามารถสั่งคนมารักหรือเกลียดได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การเจรจาหาทางออกร่วมกันโดยหากติกาพื้นฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ถ้าเป็นอยู่แบบนี้รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดของประเทศและประเทศนี้ก็ไร้อนาคตทางประชาธิปไตยสากล

 

นักกิจกรรมถูกบีบ วิพากษ์ร่าง รธน.ยังลำบาก

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) กล่าวว่า ชีวิตตนเองไม่ปกติหลังจากการทำรัฐประหาร ก่อนหน้านี้ทำอะไรก็ได้ที่เป็นปกติ ไม่เคยต้องไปขึ้นศาลทหาร แต่ตอนนี้แค่กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 เดิน ยืนเฉยๆ นั่งรถไฟก็โดนจับ ทำให้คิดว่าคนที่เข้ามาบริหารประเทศโดยอ้างความไม่สงบเรียบร้อยนั้นกลับทำให้ชีวิตไม่ปกติและสังคมไม่สงบมากขึ้น แล้วก็อ้างว่าจะอยู่ต่อเพราะต้องการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้ามาดูประตูด่านแรกที่จะผ่านไป คือ ประชามติ ส่วนตัวเธอนั้นมองว่ายังไม่สามารถนำไปสู่ประชามติได้ เพราะที่มาของร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เต็มไปด้วยข้อจำกัด

ชนกนันท์กล่าวต่อว่า NDM ได้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกได้ทำเอกสารวิจารณ์ข้อดี ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบกับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แจก ซึ่งพอไปแจกเอกสารนี้ที่ไหนก็โดนจับ โดนยึด โดนเผาทิ้ง ก่อนหน้ารู้มาว่า กรธ.มีการจัดอบรมเรื่องร่างรัฐธรรมนูญให้ ครู ก ครู ข ครู ค ซึ่ง กรธ.เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง เนื้อหาที่เผยแพร่ออกไปต้องทำให้คนเห็นด้วยอยู่แล้ว ในทางกลับกันอย่าง NDM ที่เห็นข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าจะต้องแก้หรือว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเธอมองว่ามันจึงไม่ยุติธรรม

ชนกนันท์ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เมื่อการเผยแพร่ข้อมูลยังทำไม่ได้แล้วจะให้คนเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงและการลงประชามติครั้งนี้จะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

 

ชวนคุย: อนาคตประเทศเมื่อรับ / ไม่รับร่าง รธน.

ตอนหนึ่งในช่วงถามตอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมสัมมนาตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

จอนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ถ้าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยไม่มีโอกาสเข้าใจเนื้อแท้ของร่างรัฐธรรมนูญถือว่าประชามติไม่มีความชอบธรรม ซึ่งคิดว่าปัญหาขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ โดยอย่าไปหวังให้ประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใช้ภาษากฎหมาย ดังนั้นความเข้าใจของประชาชนที่จะเลือกรับหรือไม่รับอยู่ที่ได้ฟังการถกเถียงระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เกิดการถกเถียงกันนี้ขึ้นประชาชนย่อมไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้ามีคนเข้ามาบอกข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญแล้วหากประชาชนเลือกรับ มันเหมือนเป็นการมัดมือชกไม่สามารถถือได้ว่าเป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรม

ถ้าหากประชาชนเข้าใจโดยถ่องแท้ มีการถกเถียงระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยแล้วประชาชนส่วนใหญ่เลือกรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องเคารพในมติที่ออกมา แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ถ้าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยที่ไม่มีโอกาสรับรู้ข้อดี ข้อเสีย ไม่มีการถกเถียงในสังคม โดยใช้มาตรา 61 วรรคสอง ประกาศ กกต.ที่มีข้อห้ามอยู่นั้น อนาคตของประเทศไทยก็ค่อนข้างมืดมน

นิรันดร์แสดงความคิดเห็นต่อคำถามเดียวกันนี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีระบบโครงสร้างทางการเมืองตามที่ประชาชนเป็นคนกำหนด และการลงประชามติครั้งนี้กลับไม่ได้ย้ำถึงหลักการสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

 


แถลงการณ์เรื่อง “ประชามติกับการใช้สิทธิเสรีภาพ”

21 มิถุนายน 2559

 

การดำเนินการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากจะดำเนินไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ประชาชนทุกส่วนจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนและในการเข้าถึงข้อมูลและความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ลงคะแนนประชามติมีโอกาสศึกษาข้อมูลทุกด้านและสามารถชั่งใจได้ก่อนการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนประชามติในทางใด นอกจากนั้นแล้ว ประชาชนควรจะต้องทราบอย่างชัดเจนว่า ถ้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ผลของการตัดสินใจจะเป็นอย่างไร นี่คือหลักการของประชามติที่ยึดปฏิบัติกันทั่วโลก

แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ารัฐบาลได้ทุ่มเงินภาษีของประชาชนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในระดับชุมชนและระดับครัวเรือน โดยเป็นการเสนอข้อมูลที่อธิบายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว ซึ่งเท่ากับรัฐบาลกำลังใช้เงินภาษีของประชาชน (ซึ่งย่อมรวมถึงเงินภาษีของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ) เพื่อไปรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ

ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการลงประชามติให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพและความเป็นธรรม ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ซึ่งขยายความสาระของมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้โดยมีผลเท่ากับจำกัดโอกาสของประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอข้อมูลและความคิดเห็นในทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น มีการห้ามประชาชนจัดการประชุมสัมมนาเพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเว้นแต่มีหน่วยงานราชการหรือสถาบันการศึกษาหรือสถาบันสื่อร่วมจัด มีการห้ามประชาชนให้การสัมภาษณ์ผ่านสื่อหรือแจกจ่ายแผ่นพับหรือใบปลิวโดยการใช้ข้อความที่ “เป็นเท็จ” “รุนแรง” “หยาบคาย” หรือ “ปลุกระดม” รวมทั้งการห้ามจำหน่ายแจกจ่ายป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การ “ปลุกระดม สร้างความวุ่นวาย”

ในทางปฏิบัติทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรรมการ กกต.ได้แสดงความพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้แจกใบปลิวหรือผู้จำหน่ายแจกจ่ายเสื้อยืดที่มีเนื้อหารณรงค์ไม่รับต่อร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการขู่ที่จะดำเนินการกับศิลปินที่แสดงเพลงเสียดสีร่างรัฐธรรมนูญ

ด้วยข้อห้ามมากมายที่ใช้ภาษากำกวมไม่ชัดเจน และคำขู่ของกรรมการ กกต.บางท่านที่ออกทางสื่อมวลชนเป็นประจำ ประกอบกับโทษตามกฎหมายที่สูงถึงขั้นจำคุกนานสิบปี ปรับถึงหนึ่งแสนบาท ย่อมมีผลทำให้ประชาชนส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีความประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเหตุผลของตน หรือประสงค์ที่จะใช้ป้ายหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อชักชวนประชาชนไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นในส่วนที่สนับสนุนให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญย่อมมีข้อจำกัดอย่างมาก ทำให้แนวโน้มการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้นเป็นการรับข้อมูลเพียงด้านเดียว

การออกเสียงประชามติย่อมตั้งบนฐานคิดว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้จัดการลงประชามติต้อง “มอบอำนาจตัดสินใจสุดท้ายไว้ที่ประชาชน” ดังนั้น ผู้เห็นชอบและไม่เห็นชอบในประเด็นที่จะจัดทำประชามติจะต้องได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งได้รับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

พวกเราที่ร่วมแถลงในวันนี้ เชื่อว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. จะไม่สามารถดำเนินไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และประกาศ กกต. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ยังคงอยู่ต่อไป

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage