เก็บตกเวทีเสวนา โทษประหารชีวิต เครื่องมือแก้ปัญหาอาชญากรรม?

หลังเกิดเหตุคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงก่อนโยนร่างลงจากรถไฟ โทษประหารชีวิตก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยกระแสในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีการก่นด่า ประณาม และเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตจำเลยในคดี และเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มโทษคดีข่มขืนให้มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

การถกเถียงกันเรื่องโทษประหารชีวิต ว่าควรยกเลิกหรือไม่ หรือโทษประหารช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้จริงหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่มีน้ำหนักระดับหนึ่งมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน 

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหาคำตอบให้กับสังคม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงจัดงานเสวนาขึ้นในวันที่ 10 กันยายน 2557 โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทำงานรณรงค์เพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต รวมทั้งผู้ที่เห็นว่าโทษประหารยังจำเป็นในคดีข่มขืน มาร่วมสนทนากัน

ภาพจาก เฟซบุ้กเพจของ ศูนย์ประสานงานวิชาการและกิจกรรมนิสิตรัฐศาสตร์ มศว

ในทางวิชาการ ‘ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด‘ จากมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า การลงโทษผู้กระทำความผิด เป็นไปเพื่อทำให้คนเกิดความกลัว และไม่กล้าทำความผิด แต่ก็ยังไม่มีคำตอบเป็นรูปธรรม ว่าการลงโทษรูปแบบใดทำให้คนเกิด “ความกลัว” หรือช่วยยับยั้งอาชญากรรมได้จริง

ในอดีต การลงโทษต้องเป็นไปแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งผู้กระทำผิดจะไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ แต่หลังโลกผ่านประสบการณ์การประหัตประหารในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญขึ้นมา สังคมเริ่มเห็นว่า แม้ผู้กระทำผิดก็ยังเป็นมนุษย์และมีสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่ระดับหนึ่ง

‘ศรีสมบัติ’ กล่าวต่อไปว่า ในบางสังคม เช่นในยุโรป โทษประหารชีวิต ถูกมองว่าเป็นการลงโทษที่ลดทอนศักดิศรีความเป็นมนุษย์ และมีการยกเลิกไปเกือบครบทุกประเทศแล้ว ส่วนในกรณีของไทย แม้จะยังมีโทษประหารชีวิต แต่กฎหมายก็ยกเว้นการลงโทษสถานนี้กับคนบางกลุ่ม ได้แก่ 

1. บุคคลที่ทำความผิดขณะอายุต่ำกว่า 18 ปี 

2. กรณีสตรีมีครรภ์ ให้รอการประหารไว้สามปีนับแต่คลอดบุตร และเมื่อครบสามปีให้เปลี่ยนจากโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต  

3. บุคคลวิกลจริต

สำหรับฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตตามระบบกฎหมายไทยก็มีอยู่สองแบบ หนึ่งคือฐานความผิดที่กำหนดให้มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว กับสองคือฐานความผิดโทษที่กำหนดให้การลงโทษประหารชีวิตอยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษา

สำหรับคำถามที่ว่า “โทษประหารชีวิตจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมได้จริงหรือไม่?” ยังเป็นคำถามที่ยากจะตอบ เมื่อเปรียบเทียบสิงคโปร์ที่ยังคงโทษประหารไว้ กับฮ่องกงที่ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว อัตราการเกิดอาชญากรรมของทั้งสองก็ไม่ต่างกันมากนัก

ผู้ที่สนับสนุนให้คงโทษประหารมักเสนอว่า โทษประหารมีความจำเป็น เพราะเกรงว่าหากไม่มีโทษประหาร ผู้ที่ทำความผิดร้ายแรงเมื่อออกมาก็จะทำความผิดซ้ำ ยิ่งหากมีการอภัยโทษบุคคลเหล่านั้นก็จะติดคุกไม่นานแล้วออกมาทำความผิดอีก ดังนั้นหากจะมีการยกเลิกโทษประหารจริงก็อาจจะต้องมีการหามาตรการอื่น เช่น การตั้งเงื่อนไขการอภัยโทษให้รัดกุมยิ่งขึ้น 

สำหรับความเป็นไปได้ในการยกเลิกโทษประหารชีวิต ‘ศรีสมบัติ’ ระบุว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นไปได้หรือไม่ กระแสสังคมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หากสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าหลักของสังคม การยกเลิกโทษประหารก็คงทำได้ไม่ยาก แต่หากความกังวลในความปลอดภัยมีความสำคัญมากกว่า การยกเลิกโทษประหารก็คงจะเกิดขึ้นยาก

ภาพ การจำลองการประหารชีวิตด้วยปืน 

ในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานรณรงค์ ‘ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล’ จาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ระบุว่า จุดยืนขององค์กรคือการคัดค้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณี เพราะคุณค่าที่ทางแอมเนสตี้ยึดถือคือหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

ในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วรวม 141 ประเทศทั่วโลก การยกเลิกมีทั้งการยกเลิกในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่ายังมีโทษประหารในกฎหมาย และไม่มีการประหารชีวิตมาเกิน 10 ปีแล้ว 

หากนับเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ฟิลิปปินส์และกัมพูชาคือประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตอยู่ในระบบกฎหมาย ส่วนพม่า ลาว และบรูไน คือ ประเทศแม้โทษประหารชีวิตยังคงมีอยู่ในระบบกฎหมาย และไม่ได้ประหารชีวิตมาเกินสิบปีแล้ว  

สำหรับปัจจัยที่ทำให้หลายชาติเปลี่ยนแนวทางในการลงโทษด้วยการไม่ใช้โทษประหาร ได้แก่ การทวีความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในฐานะคุณค่าสากล ที่เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณเสมอกัน ประกอบกับที่มีผลการศึกษามายืนยันว่าโทษประหารไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้อาชญากรรมลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ 

‘ปริญญา’ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหลายประเทศคงโทษนี้ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสาธารณะ การประหารชีวิตทำให้คนรู้สึกปลอดภัย เพราะอาชญากรจะถูกกำจัดออกไปอย่างถาวร

อย่างไรก็ตามการประหารชีวิตอาชญากรเป็นรายบุคคล อาจไม่ได้ทำให้ปัญหาอาชญากรรมหมดไป เพราะไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นตอของอาชญากรรม เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ

‘ปริญญา’ ชี้แจงด้วยว่า การคัดค้านโทษประหาร ไม่ได้หมายถึงการละเว้นโทษแก่ผู้กระทำผิด เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นต้องมาเข้ากระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากพบว่ารับผิดก็ต้องรับโทษอื่นตามกฎหมาย

ภาพ การจำลองการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ

ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ อดีตนางสาวไทยและนักแสดง ผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้มีการแก้กฎหมายเพิ่มโทษความผิดฐานข่มขืนระบุว่า หลังเกิดกรณีฆ่าข่มขืนเด็กบนรถไฟ ก็มีการแสดงความคิดเห็นและประณามผู้ต้องหาอย่างดุเดือดผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่ว่าการประณามผ่านช่องทางดังกล่าวไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ตนในฐานะคนเป็นแม่ที่ห่วงใยสวัสดิภาพของลูก จึงต้องออกมารณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้มาการแก้กฎหมาย เพิ่มโทษคดีข่มขืนให้สูงขึ้น 

‘ปนัดดา’ ชี้ว่าโทษของคดีข่มขืนปัจจุบันถือว่าเบามาก แม้เหยื่อจะรอดชีวิตก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการกลับเข้าสังคม ต้องใช้ชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็น เคยมีกรณีที่ผู้เป็นพ่อข่มขืนลูกแล้วติดคุก แต่เนื่องจากเป็นคดีที่โทษเบา พอพ้นโทษก็กลับมาจะเอาลูกไปอยู่ด้วยโดยอ้างสิทธิความเป็นพ่อ ถ้าไม่มีการปรับปรุงกฎหมายเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่มีใครรับผิดชอบ 

อย่างไรก็ตาม ปนัดดาก็ชี้แจงว่างานรณรงค์ที่ผ่านมา เป็นการรณรงค์เพิ่มโทษเฉพาะคดีข่มขืนเท่านั้น และยอมรับว่าในหลายคดี การลงโทษด้วยการประหารชีวิตก็อาจไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

ภาพบรรยากาศงานนิทรรศการ โทษประหารชีวิต

แม้ว่าในงานเสวนาครั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาจะมีจุดยืนต่อเรื่องโทษประหารแตกต่างกันไป ในมุมของนักสิทธิมนุษยชน โทษประหารเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ ขณะที่มุมมองของผู้เป็นแม่ที่ห่วงใยในสวัสดิภาพของลูก ก็มองว่าโทษประหารยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะน่าจะช่วยให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นตรงกันก็คือ การยกเลิกโทษประหาร จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติมหาชน วันใดที่สิทธิมนุษยชนกลายเป็นคุณค่าหลักที่คนในสังคมให้การยอมรับ การยกเลิกโทษประหารก็จะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม แต่การพัฒนาไปถึงจุดนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage