รอการลงโทษให้ ไบรท์ ชินวัตร คดี ม.112 ปราศรัยเรียกร้องปล่อย บุ้ง-ใบปอ เหตุกลับตัวกลับใจมาประกอบสัมมาชีพ

7 ธันวาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไบร์ท ชินวัตร อดีตนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่ากล่าวคำปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับเนติพรหรือ บุ้ง และ “ใบปอ” ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 และอดอาหารเรียร้องสิทธิประกันตัวอยู่ในขณะนั้น โดยศาลมีคำพิพากษาว่าชินวัตรมีความผิดตามฟ้อง มีโทษจำคุกสามปี ปรับเงิน 200 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง และโทษจำคุกให้รอการลงโทษ ให้เว้นการกระทำลักษณะเดิม พร้อมให้ทำงานสาธารณประโยชน์


การอ่านคำพิพากษาในวันนี้เกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 705 ในนัดนี้ไม่มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกมาร่วมสังเกตการณ์ ชินวัตรมาถึงห้องพิจารณาคดีในเวลา 9.20 น. โดยมาถึงศาลพร้อมทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเวลาประมาณ 9.30 น. ศาลขึ้นบัลลังก์และอ่านคำพิพากษา โดยอ่านเฉพาะบทกำหนดโทษโดยสรุปได้ว่า

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง มาตรา 4 วรรคหนึ่งและมาตรา 9 วรรคหนึ่ง จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ในการพิจารณาคดีนัดแรกจำเลยขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องทั้งสามมาตรา การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป 

ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีบทลงโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 3 ปี ความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับเป็นเงิน 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับเป็นเงิน 100 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพและสำนึกในการกระทำ กลับตัวกลับใจมาประกอบสัมมาชีพและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ตามเอกสารหลักฐานที่ยื่นต่อศาล จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดี ทั้งการนำจำเลยไปคุมขังในระยะเวลาอันสั้นไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อจำเลยและต่อสังคม จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติปีละสามครั้ง ให้จำเลยและเว้นการกระทำในลักษณะที่คล้ายกับการกระทำในคดีนี้และให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

สำหรับเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมือ่วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ชินวัตรเข้าร่วมชุมนุม เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวให้กับ เนติพรหรือ บุ้ง และ “ใบปอ” ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ตอนหนึ่งของการปราศรัยชินวัตรกล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์เรื่องการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เรื่องการโอนย้ายกองกำลังทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ และเรียกร้องให้ยุติการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสน.ยานนาวาผู้รับผิดชอบท้องที่ให้ดำเนินคดีกับชินวัตร

ตำรวจจับกุมชินวัตรที่บ้านพักในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับชินวัตรและนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยเบื้องต้นเขาเคยแถลงว่าจะไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และขอถอนคำร้องคัดค้านการฝากขัง เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังชินวัตรก็ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันเดียวกัน ในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวชินวัตรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งและมีการไต่สวนคำร้อง ชินวัตรแถลงต่อศาลตอนหนึ่งว่า การกระทำที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้เขาเพียงมีเจตนาเรียกร้องสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวให้เนติพร และ “ใบปอ” เท่านั้น ส่วนการโกนหัวต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เขาก็เพียงต้องการแสดงออกว่ามีพสกนิกรถูกรังแก ส่วนที่เขาเคยแถลงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเพียงต้องการประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเนติพร และ “ใบปอ” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วเขาก็กลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชินวัตรโดยต้องวางหลักประกัน 150,000 บาท เท่ากัยชินวัตรถูกคุมขังไปแล้วรวม 26 วัน 

ต่อมาคดีนี้อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เบื้องต้นชินวัตรให้การปฏิเสธ แต่ในนัดสืบพยานนัดแรกวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ชินวัตรแถลงขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ คู่ความแถลงไม่ติดใจสืบพยานก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาในวันนี้ 

RELATED TAGS

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage