1. พรชัย ยวนยี หรือ แซม เป็นชาวจังหวัดบึงกาฬ เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการจุฬาฯ-ชนบท เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดรับนักเรียนที่ฐานะยากจนในต่างจังหวัดเข้ามาเรียนโดยให้ทุนการศึกษาตลอดจนเรียนจบ
2. พรชัย เริ่มทำกิจกรรมสมัยเป็นนิสิต จุฬาฯ เข้าร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เคลื่อนไหวคัดค้านการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ร่วมจัดตั้งกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน (CCP) เป็นเลขาธิการสนนท. ในปี 2553-2554 พรชัยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการคนเสื้อแดง มีบทบาทเด่นชัดในฐานะนักศึกษาปีกประชาธิปไตย
3. เมื่อปี 2558 พรชัยเข้าร่วมการชุมนุมครบรอบ 1 ปีการรัฐประหารของ คสช. และถูกจับกุมร่วมกับคนอื่นอีกรวม 32 คน พรชัยถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และประกาศ “อารยะขัดขืน” ไม่ยอมรับข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เคลื่อนไหวต่อเนื่องในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่จนถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 116 และถูกฝากขังในเรือนจำรวม 12 วัน ก่อนศาลทหารให้ปล่อยตัว และคดีความก็ค้างคาอยู่เป็นชนักติดหลัง
ต่อมาพรชัยเข้ารายงานตัวในคดีแรกของเขา แต่คดีที่ต้องพิจารณาที่ศาลทหารก็ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งคดียุติไปเพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ถูกยกเลิก ส่วนคดีที่สองของเขาในปี 2562 ทางตำรวจเรียกธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาเป็นผู้ต้องหาเพิ่มในคดี และคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า
4. ในปี 2563 พรชัยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม Unme of Anarchy จัดการชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เรียกร้องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ไม่ได้ร่วมในกลุ่มราษฎรที่นำเสนอประเด็น “ทะลุเพดาน” พรชัยร่วมการเคลื่อนไหวอีกครั้งในการตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล และทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้ามาต่อเนื่องกว่าหนึ่งปี
5. ในปี 2564 พรชัย ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้าอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่
1) คดีที่ถูกจับจากการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564
2) คดีให้กำลังใจมิลลิ แรปเปอร์ที่ถูกดำเนินคดีฐานดูหมิ่นพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564
3) คดีสาดสีที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 2 สิงหาคม 2564
และ 4) คดีที่เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 สิงหาคม 2564
โดยทุกคดี พรชัยไปรายงานตัวตามหมายเรียก และตำรวจไม่ควบคุมตัว
6. พรชัยแต่งงานเมื่อปี 2557 ลูกของพรชัยอายุ 8 ปีแล้ว ในช่วงกลางปี 2565 พรชัยและภรรยาวางแผนจะเดินทางไปใช้ชีวิตต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าจะพร้อมเดินทาง พรชัยก็เลือกกลับไปเข้าร่วมกระบวนการเพื่อต่อสู้ในคดีของตัวเองที่ยังค้างอยู่ ซึ่งการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องผ่านการตรวจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากเขามีหมายจับค้างอยู่ก็จะไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไทย ได้
7. วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 พรชัยเดินทางไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อไปขอถอนหมายจับที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ของศาลทหารแจ้งว่าคดีนี้จบไปแล้ว แต่หมายจับยังคงค้างอยู่ ซึ่งพรชัยต้องไปขอยกเลิกหมายจับที่ต้นทางที่เป็นผู้ขอออกหมาย คือ สน.สำราญราษฎร์ พรชัยจึงเดินทางไปที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อขอให้ยกเลิกหมายจับที่ค้างอยู่ และรออยู่ 1-2 ชั่วโมงตำรวจก็นำหมายจับฉบับใหม่มาให้ดู พร้อมแจ้งว่า พรชัยมีหมายจับอีกหมายหนึ่ง ในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นหมายจับของสน.นางเลิ้ง
8. พรชัยรับว่า ตัวเองเป็นบุคคลตามหมายจับ และถูกจับกุมพาตัวไปที่สน.นางเลิ้ง เมื่อไปถึงสน.นางเลิ้งในเวลาประมาณ 13.00 ตำรวจที่สน.นางเลิ้งก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า พรชัยถูกตั้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 ฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า พรชัยปาระเบิดเพลิงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตแต่ไม่ลุกไหม้ เพราะก่อนเกิดเหตุมีฝนตกหนักทำให้ซุ้มเปียกชื้น จึงวางแผนใหม่อีกครั้ง พรชัยให้การปฏิเสธ
9. หลังจากนั้นตำรวจส่งตัวพรชัยไปฝากขังที่ศาล ในเวลา 15.00 น. ก่อนที่ในเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก
10. ตำรวจแจ้งว่า ในกรณีเดียวกันมีผู้ถูกออกหมายจับอีก 2 คน ทำให้ในเหตุเดียวกันนี้จะมีผู้ถูกดำเนินคดีรวมจำนวน 4 คน เพราะก่อนหน้านี้ “บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 1 คน และได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน ตำรวจยังอธิบายด้วยว่าคดีนี้เคยส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ของพรชัยในจ.บึงกาฬ สองครั้งแล้วแต่พรชัยไม่อยู่บ้าน และไม่มีผู้รับ จึงไปขอศาลอาญาให้ออกหมายจับค้างไว้
11. การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นการนัดหมายชุมนุมแบบ Car Mob นำโดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ใช้ชื่อว่า “ขับรถยนต์ชนรถถัง” ซึ่งนัดหมายชุมนุมที่แยกอโศก และเคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนการชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้งนั้น เป็นการชุมนุมต่อเนื่องของมวลชนอิสระหลังการชุมนุมหลักจบลงแล้ว
12. นับถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 204 คน ใน 219 คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังโดยศาลไม่ให้ประกันตัว 4 คน คือ สมบัติ ทองย้อย, ใบปอ และ บุ้ง ทะลุวัง และพรชัย เป็นคนล่าสุด
หมายเหตุ รูปภาพได้รับความยินยอมจากตัวน้องและคุณแม่แล้ว