ทุกภาคส่วนหนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554เวลาประมาณ 14.00 น. สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยร่วมกับมูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ จัดเสวนาทางวิชาการการเมืองไทยกับพรรคการเมือง ในหัวข้อ “บทบาทภาคประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตย”ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหลายภาคส่วน

ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549ภาคประชาชนถือว่าได้รับการยอมรับสูง และอาจเรียกว่าสูงที่สุดจน กระทั่งมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงผ่านมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตศรัทธาภาคประชาชน เงื่อนไขต่างๆนำมาพูดขึ้นมากว่าภาคสามารถชี้นำสังคมได้โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสมือนเป็นการเชื้อเชิญให้มีการรัฐประหาร ดังนี้ หากการพัฒนาประชาธิปไตยโดยไม่ได้พูดถึงภาคประชาชนเลย ก็จะเหมือนกับเป็นการขาดตัวละครเอกเลยที่เดียว   

ที่มาภาพ : ประชาไท

 

สุรพล สงฆ์รักษ์

สุรพล สงฆ์รักษ์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า บทบาทของภาคประชาชนเกิดขึ้นจากการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของตนเองจากอำนาจรัฐ ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน และบ่อยครั้งการเมืองภาคประชาชนมักจะต้องคัดค้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มาทำลายวิถีชุมชน นายทุนเข้ามายึดที่ดินของชาวบ้าน ในขณะที่คนในประเทศนี้ที่เป็นเกษตรกรยังไม่มีที่ดินเพียงพอที่จะทำมาหาเลี้ยงชีพ การเมืองภาคประชาชนนั้นคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นการขยายพื้นที่อำนาจทางการเมืองที่ประชาชนโดยทั่วไปมักจะเสียเปรียบ

 

สุรพล ได้กล่าวถึงสิ่งที่ภาคประชาชนควรจะทำได้บ้างเพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย แบ่งเป็นประเด็นได้ ดังนี้

  • ประชาชนจะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ดำรงอยู่ของคนในสังคม จะให้ครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่งมาผูกขาดทรัพยากรเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ฐานทรัพยากรจะต้องกระจายสู่สังคม
  • ประชาชนจะต้องเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • จะต้องมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของภาคประชาชน
  • คัดค้านการแสโลกาภิวัฒน์ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิๆ ของประชาชน เช่น พืชตัดต่อพันธุกรรม การใช้ที่ดิน คนที่มีอาชีพเกษตรกรไม่มีที่ดิน แต่นักการเมืองที่ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกลับมีที่ดิน
  • เรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สำหรับที่ดินของเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น อุตสาหกรรมป่าไม้ ควรกระจายที่ดินเหล่านี้สู่เกษตรกร
  • เรียกร้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า
  • จัดให้มีระบบรัฐสวัสดิการ เพื่อให้เข้าสู่พี่น้องชนบทอย่างเท่าเทียมกัน เอาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นย้อนสู่พี่น้องเกษตรกร

ทั้งนี้ สุรพล ยังได้ให้ความเห็นว่า ประเทศนี้ควรต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องยกเลิกอำนาจของศาลที่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และขูดรีดประชาชน และต้องยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด อาทิเช่น ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับ

 

พีระพล พัฒนพีระเดช

พีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารประเทศ คือระบบราชการที่ล้มเหลวมานานแล้ว ตนไม่แปลกใจเลยที่แม้จะเกิดน้ำท่วม ข้าราชการทั้งหลายก็เห็นปัญหาว่ามีน้ำท่วมเกิดขึ้น และก็อยากช่วยเหลือผู้ที่ถูกน้ำท่วม แต่ระบบของราชการดังกล่าวทำให้การเข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็วนั้น ทำได้ยาก

ไม่ใช่ว่าข้าราชการไม่เก่ง หรือเป็นคนเลว แต่ระบบราชการจมดิ่งอยู่ที่เอกสาร พอร์ตเฟอริโอ การเลื่อนขั้นจนลืมไปว่าจะทำอะไรให้ประชาชน

“ระบบมันไม่เอื้อต่องานที่ยาก ประเทศเราถูกบริหารกับการไม่บริหาร เพราะไม่สามารถทำอะไรได้จริง ภาษาที่ผู้บริหารพูดว่าสั่งการไปแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้จริง สิ่งที่ทำได้ควรลดระบบราชการ แต่ต้องผ่านกระบวนการภาคประชาชน ที่มีแกนนำที่เข้มแข็งส่วนหนึ่ง และต้องจัดภาคส่วนประชาสังคมให้ดีจึงจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”พีระพล กล่าว

ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การเปิดให้รับฟังการเมืองภาคประชาชนจะสามารถเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆได้ เพียงรัฐควรให้อำนาจเขาในการตัดสินใจ และดูแลในท้องถิ่นของเขาเอง

 

ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ตนสังเกตเห็นประเด็นที่น่าสนใจในการเมืองภาคประชาชน คือเวลาเราฟังนักการเมืองเขาเถียงกัน เช่นรัฐธรรมนูญควรแก้หรือไม่ การเมืองนอกระบบเป็นอย่างไร เขาสามารถพูดออกมาได้ แต่พอถามนักการเมืองเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองที่มีปัญหา นักการเมืองมักจะเลี่ยงตอบเป็นอย่างอื่นโดยไม่กล้าเข้ามาตอบในประเด็นที่มีปัญหามาก สะท้อนว่า นักการเมืองไทยอยู่ในกรอบที่ว่าทำอย่างไรให้เขาได้รับการเลือกตั้งอย่างเดียว  โดยไม่หันมามองในประเด็นปัญหาโครงสร้างของสังคมในประเด็นอื่น

ศิโรตน์ มองว่า การเลือกตั้งจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเรามองว่าสังคมยังมีความสัมพันธ์ในระดับชนชั้นไม่เท่าเทียมกัน

ศิโรตน์ ยังกล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยในประเทศตตะวันตก กำลังทำให้เห็นว่า คนกลุ่มเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยในเรื่องเดียวกันทั้งหมด เช่น ผมเป็นคนเสื้อเหลือง แต่ชอบจตุพร ณัฐวุฒิมาก ผมก็จะถูกคนเสื้อเหลืองรังเกียจ เป็นต้น

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเนชั่น กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่ควรมองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงแค่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น แต่ควรมองว่าประชาชนมีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนต่างๆ คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยมองว่า คนที่มีการศึกษาน้อยจะมีสิทธิพลเมืองน้อยกว่าคนที่มีการศึกษามากกว่า รวมถึงหากใครมีเงินมากกว่า สิทธิของผู้นั้นก็จะมีมากกว่าตามไปด้วย 

ประวิตร ยังกล่าวด้วยว่า บทเรียนที่สำคัญหลังรัฐประหารคือการไม่เคารพกติกา การพึ่งทางลัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทหาร สุดท้ายการพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแต่อย่างไร

ประวิตร ได้กล่าวถึงการชุมนุมของเสื้อเหลือง และเสื้อแดงไว้ว่า ผู้ชุมนุมดังกล่าวมักมีการยึดเหนี่ยว เชื่อผู้นำมากเกินไป ทางเสื้อเหลืองมักพึ่งทหารเป็นครั้งคราว พึ่งเจ้า ส่วนเสื้อแดง พึ่งผู้นำมากเกินไป เช่น ทักษิณ หรือแกนนำเสื้อแดง

 

ทั้งนี้ ประวิตร ได้กล่าวถึง การกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นดูแลว่า มักจะเกิดปัญหาตรงที่ กระทรวงมหาดไทย และรัฐเองไม่อยากเสียอำนาจนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงหากกระจายอำนาจให้ท้องถื่น คือคนกรุงเทพฯ เห็นว่า ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี อ.บ.ต. มักจะเป็นแหล่งของการคอรัปชั่น แต่ตนเห็นว่า คนในท้องถิ่นเองควรจะริเริ่มให้เกิดขึ้น เทศบาลหรือ อ.บ.ต.บางที่ก็บริหารได้ดี บางที่มีคอรับชั่น คนชั้นกลางที่เป็นห่วงสังคม น่าจะเปิดโอกาสให้คนชนบทได้เลือกผู้แทนที่ทำงานจริงๆ คิดถึงหน้าที่ผลประโยชน์จริงๆ จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของท้องถิ่น ในที่สุดก็จะมีการเรียนรู้ได้ และต้องให้เวลา คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ลองขึ้นมาผิดถูกบ้าง