อัด ร่างพ.ร.บ.คอมฯใหม่ “ซักซี๊ด-ห่วยขั้นเทพ” มั่วเรื่องลิขสิทธิ์

หลังจากมีกระแสข่าวว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ที่ใช้บังคับกันอยู่เดิม และมีกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก

วันที่ 4 พฤษภาคม 2554 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงจัดงานเสวนาเรื่อง “เล่นเน็ตติดคุก: พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ คุ้มครองหรือคุกคาม” ขึ้น ณ ห้อง EX-MBA 3 อาคาร 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีนักนิติศาสตร์จากสาขาต่างๆ มาร่วมให้ความเห็น โดยเน้นที่ประเด็นการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 16 ของร่างกฎหมายใหม่

 

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ พ.ศ. 2550 กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม มีปัญหาคือเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจตัวกฎหมาย มีคำศัพท์จำนวนมากที่เป็นเรื่องเทคนิค ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจในเนื้อหากฎหมายล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผ่านมา 4 ปีมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 คนที่เข้าใจทั้งเทคนิคและกฎหมาย

กฎหมายเดิมมีปัญหา จากกรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ศาลยกฟ้องไป 2-3 คดี เพราะศาลบอกว่าลำพังหมายเลขไอพีแอดเดรส ไม่เพียงพอจะบอกได้ว่าเป็นผู้ทำความผิด ขณะที่มีข้อความหมิ่นเหม่ทั้งในเฟซบุคและทวิตเตอร์เต็มไปหมด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่ากฎหมายเข้มข้นไม่พอจึงต้องแก้ไข จึงเป็นฝ่ายความมั่นคงที่บอกว่าจะต้องมีกฎหมายใหม่ ถ้าไม่มีการคัดค้านกันก็น่าจะผ่านครม.ตั้งแต่วันที่ 28 เดือนที่แล้ว

ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่นี้ผู้ชี้แจงคือ อ.สุรางคณา วายุภาพ บอกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเกี่ยวกับความมั่นคงและต้องเอาเรื่องลิขสิทธิ์มา ใส่ในนี้ด้วย เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ให้อำนาจเรื่องการขอดูข้อมูลการจราจรย้อนหลัง จึงต้องเอามาใส่ไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ เดิมจะขึ้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แต่ด้วยร่างใหม่นี้จะต้องขึ้นศาลอาญา บทบัญญัติต่างๆ ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็เอามาใช้กับเรื่องลิขสิทธิ์ได้หมด ทุกฐานความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หมด

สิ่งที่เป็นปัญหามาก คือ มาตรา 16 เรื่องการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยปกติเมื่อคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องติดต่อกัน จะต้องทำสำเนาชั่วคราว ผมถามผู้ร่างว่าการทำสำเนาชั่วคราวผิดด้วยหรือเปล่า ก็บอกว่าผิด นอกจากนี้ ผู้ร่างไม่ได้คิดเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เป็น fair use เรื่องการทำเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นพยานหลักฐานในศาลเลย

 

"มาตรา 16 ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

ความพยายามล่าสุด ผู้ร่างบอกว่าไม่เปลี่ยน ถ้าแก้ก็มีมาตรา 16 มาตราเดียว และร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้เป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รัก 

แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตแล้ว แนวคิดลักษณะนี้ของกฎหมายมันไม่ใช่ ถ้ามาตรา 16 ผ่าน จะเป็น Amagedon Day (วันโลกาวินาศ) ของระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องใช้กันอีกเลย เพราะมันทำสำเนากันทุกวัน ผมไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนกับพ.ร.บ.นี้ ถ้าให้เสนอคือกฎหมายนี้ไม่ควรเอาเข้ามาเลย ถ้าจะเอาเรื่องลิขสิทธิ์ก็ต้องมาเข้ามาทั้งพ.ร.บ. แต่นี่เอามาสองบรรทัด เหมือนกับการที่เราเผาทุ่งนา เพื่อจะหาหนูตัวหนึ่ง เพียงเพราะมันทำสำเนา

นันทน อินทนนท์

นายนันทน อินทนนท์ นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอดีตผู้พิพากษา กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ว่า การแก้ไขครั้งนี้ความเห็นของผมมัน “ซักซี้ด” คือ ห่วยขั้นเทพ มันแย่ไปกว่าเดิมมาก

สภาพปัญหาของกม.ลิขสิทธิ์ที่มีผู้ละเมิดจำนวนมาก เพราะยากแก่การปราบปราม ยากแก่การไปสืบค้น พิสูจน์ความเสียหายยาก กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่มีบทลงโทษไปถึงผู้สนับสนุนอย่าง ISP แต่ร่างพ.ร.บ.คอมฉบับใหม่เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ตามมาตรา 16, 23, 28 มันแก้ไขปัญหานี้ได้หรือเปล่า

มาตรา 16 มีปัญหาที่เราวิเคราะห์คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นอาจมีลิขสิทธิ์ หรือเป็นสมบัติสาธารณะก็ได้ งานเพลงอาจมีลิขสิทธิ์ แต่ทันทีที่ผมซื้อ ผมก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงแผ่นนั้น และเมื่อลิขสิทธิ์หมดอายุก็เป็นสมบัติสาธารณะ คำถามคือในกรณีที่มีผู้ทำสำเนา การทำสำเนานั้นเป็นความผิดต่อใคร ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ต่อผู้ซื้อ หรือต่อรัฐ ข้อยกเว้นตามกฎหมายลิขสิทธิ์จะนำมาใช้กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ การทำสำเนางานที่เป็นสมบัติสาธารณะเป็นความผิดหรือไม่ การสำเนาข้อมูลคอมพิวตอร์ที่เกิดจากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นความผิดหรือไม่

มีเหตุผลใดที่จะห้ามการสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีมาตรการป้องกันการ ทำซ้ำ ทั้งที่กฎหมายคอมพิวเตอร์เดิมตามมาตรา 5 กำหนดความผิดกรณีเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงเอาไว้ แต่ร่างกฎหมายใหม่ตามมาตรา 15 กำหนดให้เป็นความผิดแม้การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีมาตราการป้องกัน การเข้าถึงหรือทำซ้ำเลย เป็นการเขียนกฎหมายที่คนร่างต้องตอบให้ได้ว่าทำไม

ตามมาตรา 23 ที่กล่าวถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำซ้ำ อะไรที่ใช้ทำซ้ำได้ เช่น บิททอเร้นต์ นีโร หรือวินโดวส์ธรรมดาก็ทำซ้ำได้ ฮาร์ดดิสก์ เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการทำสำเนา การครองครองฮาร์ดดิสก์จึงผิดกฎหมาย ที่จริงกฎหมายนี้ควรจะใช้ต่อเมื่อมีการทำความผิดเท่านั้น แต่กรณีนี้ ถ้าผมมีเจตนาในการครอบครองอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ไม่มีเจตนาใช้ในการกระทำความผิด ก็ยังเป็นความผิดได้

อ.พิศวาท สุคนธพันธุ์

อ.พิศวาท สุคนธพันธุ์ นักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีความห่วงใยในมาตรา 16 เป็นหลักว่า ถ้าร่างนี้เป็นกฎหมายแล้วจะถูกนำไปใช้แทนพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปกติกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องมีผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจ ถ้ามาใช้กับร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ จะเป็นความผิดยอมความไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการได้เลย คนที่มีความรู้ไม่น่าห่วง แต่คนที่รู้กฎหมายจำกัดน่าเป็นห่วง นิสัยคนไทยอะไรก็ ค่ะ/ครับ ก็อาจเป็นการรับสารภาพได้ จะยุ่ง

โทษจำคุกไม่เกินสามปี หลายคนบอกว่าศาลอาจจะใจดี เพราะใช้คำว่า “ไม่เกิน” สามปี ถ้าไปถึงศาลก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควรก่อนจะถึงศาล

คนที่สร้างสรรค์งานอ้างว่าลงทุน เพื่อปกป้องประโยชน์ของตัวเอง จึงพยายามทำทุกอย่างให้มีการคุ้มครอง จึงผลักดันมาตรการทางอาญาต่างๆ เข้าไปในกฎหมาย ฝ่ายปกครองน่าจะเต้นตามถ้ามีแรงกดดันมาจากต่างประเทศว่าประเทศไทยชอบละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะต้องไปเต้นตามเขาหรือเปล่า

 

ไฟล์แนบ