ยื่นรายชื่อหยุด พ.ร.บ.คอมหน้าสภา นายกแจงให้สบายใจยังไม่เข้าครม.

วันนี้ (19 เม.ย. 54) เวลา 8.30 น. เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) และพลเมืองผู้ร่วมลงนาม นำรายชื่อประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนกว่า 560 ชื่อ ที่ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันแสดงออกเพื่อ “หยุด”การนำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่เข้า สู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เสนอโดยกระทรวงไอซีที เพื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนกว่านี้และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง

ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ฉบับใหม่ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการ และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีแนวโน้มว่าคณะรัฐมนตรีอาจเร่งพิจารณาให้ทันก่อนยุบสภา ซึ่งร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหลายประการ แต่ยังไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการทำประชาพิจารณ์มาก่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับหนังสือจากสฤณี อาชวานันทกุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต และให้โอกาสตัวแทนเข้าไปพูดคุยภายในอาคารรัฐสภาเป็นเวลาประมาณ 40 นาที หลังจากรับฟังปัญหาข้อร้องเรียนแล้ว นายอภิสิทธิ์ แจ้งว่า ตนไม่เคยทราบเรื่องพระราชบัญญัติฉบับนี้มาก่อน ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีความพยายามจะเสนอก็อยากให้ถอนร่างไปก่อนเพราะไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังไ้ด้โทรศัพท์สอบถามเรื่องดังกล่าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วย ซึ่งนายจุติได้แจ้งกับนายกรัฐมนตรีว่าขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังจะเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต และเจ้าของบล็อก fringer.org กล่าวว่า ปัญหาหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือเขียนเนื้อหามาไม่เข้ากับหลักการและเหตุผลที่มุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมทาง คอมพิวเตอร์ดั้งเดิม แต่กลับมีปัญหาเรื่องการนิยามความผิดที่ไม่ชัดเจนและกว้างมาก ส่วนใหญ่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ “ร่างกฎหมายนี้กำหนดโทษที่ละเอียดมากขึ้น จำกัดสิทธิมากขึ้น ต่อไปนี้ใครที่จะแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจก็อาจกลัวมากขึ้น ในขณะที่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถจับคนที่ทำก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้”

บล็อกเกอร์ชื่อดังกล่าวถึง มาตรา16 ที่กำหนดให้ผู้คัดลอกสำเนาไฟล์โดยมิชอบ มีโทษจำคุก 3 ปีว่า “กฎหมายนี้ตั้งสมมุติฐานว่าผู้ใช้เน็ตทุกคนต้องรู้ที่มาที่ไปและเจ้าของ ลิขสิทธิ์ของเนื้อหาทุกชิ้นที่คอมพิวเตอร์ตัวเองดาวน์โหลด จึงมีคำถามเช่น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อเข้าเว็บไซต์หนึ่งๆ แล้วเนื้อหาอะไร หรือโปรแกรมอะไรที่ถูกกฎหมายบ้าง แค่เข้าไปดูเว็บไซต์เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็ทำ "สำเนา" เนื้อหาเว็บบางส่วน (cache) โดยอัตโนมัติแล้ว ในทางปฏิบัติมันยากมาก เป็นไปไม่ได้”

นายธนกฤต เปี่ยมมงคล นักกฎหมายจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “น่าแปลกใจว่ากรณีการหมิ่นประมาทธรรมดามีโทษจำคุก1ปี หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจำคุก 2ปี แต่การทำให้เสียชื่อเสียงตามร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ มีโทษจำคุก3ปี และกรณีที่กฎหมายมุ่งเอาโทษกับตัวกลาง ทั้งISPทั้งเว็บมาสเตอร์ทุกประเภท และมีโทษจำคุกสูงถึง5ปี ทำให้ตัวกลางต้องเซ็นเซอร์ตัวเองแน่ๆ ซึ่งถ้าหากตัวกลางเกิดความกลัวหนักๆ เข้าย่อมส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทุกๆ เรื่องในสังคม”

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ เว็บไซต์ iLaw.or.th กล่าวว่า “การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ ใช้เวลาไม่ถึงสองวัน คือตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ วันจันทร์ และนำมายื่นในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตตื่นตัวกับกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า มาจำกัดสิทธิของพวกเขาอย่างมาก การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าไม่ให้มีการปิดกั้นใดๆ เลย ไม่ได้ต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้หรือชุดไหน และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสี เรื่องการเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ประชาชนที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับการออกกฎหมาย เพื่อให้ผู้ร่างรับฟังเสียงของประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบก่อนการออกกฎหมาย เท่านั้น”