กม.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ : อย่ามองด้านเดียว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw รายงาน

สถิติจากการสำรวจโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยสูบบุหรี่ เกือบสิบล้านคนแม้จะถือเป็นคนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรหกสิบล้านเศษ แต่พิษภัยของบุหรี่เป็นแหล่งสำคัญที่สุดองสารก่อมะเร็งที่มนุษย์ได้รับ และคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 40,000 คนต่อปี

ผลร้ายของบุหรี่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่สูบเองเท่านั้น มีงานวิจัยที่พบว่า มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตเพราะควันบุหรี่มือสอง ถึงปีละหกแสนคน ที่น่าตกใจคือแหล่งที่มาของควันบุหรี่มือสองที่สำคัญที่สุดคือ ‘บ้าน’ทำให้คาดการณ์กันว่า ในประเทศไทยอาจมีผู้เสียชีวิตเพราะควันบุหรี่มือสองถึงปีละ 4,000 คนอีกทั้งยังมี “ควันบุหรี่มือสาม”คือสารพิษจากควันบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ตาม กำแพง เพดาน ฝุ่น พรม เครื่องปรับอากาศ ในบ้านและในที่ทำงาน รวมทั้งติดอยู่ตามเสื้อผ้าของผู้สูบบุหรี่ด้วย ดังนั้น แม้ผู้สูบบุหรี่จะไม่สูบในห้องให้รบกวนผู้อื่นโดยตรง แต่ก็ยังมีช่องทางอีกมาก คนอื่นๆ จะได้รับอันตรายจากสารพิษในบุหรี่ไม่น้อยไปกว่าตัวผู้สูบเอง

ดังนั้น จึงมี พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ออกมาบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้มีเพียง 15 มาตรา สาระหลักๆ คือให้มีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ ผู้ใดฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ มีโทษปรับ 2,000 บาท และกำหนดให้ผู้รับผิดชอบดูแลสถานที่ มีหน้าที่จัดสถานที่ให้ปลอดบุหรี่ด้วย หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 20,000 บาท

มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553  ที่ออกตามมากับ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ กำหนดประเภทของสถานที่สาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ แม้จะมีแค่ 5 ข้อ แต่ก็มีข้อย่อยมากมายระบุสถานที่ปลอดบุหรี่ไว้ถึง 57 ประเภทด้วยกัน

ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล ร้านสปา ร้านนวด โรงเรียน สถานกวดวิชา พิพิธภัณฑ์ สถานที่เล่นกีฬาทุกประเภท อัฒจันทร์ดูกีฬาทุกชนิด โรงภาพยนตร์ สถานที่จัดเลี้ยง สถานที่จำหน่ายอาหาร ศูนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม ห้องสมุด ห้องโถงโรงแรม สถานที่ทำงานทุกแห่ง ธนาคาร รถประจำทาง รถแท็กซี่ สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน ฯลฯ หรือพูดง่ายๆ ว่า สถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากต้องใช้ร่วมกันทุกแห่งจะต้องปลอดบุหรี่ทั้งหมด

รวมไปถึงสถานที่ที่เราอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่ อย่างเช่น สุขา สถานบันเทิง ตลาด สวนสาธารณะ ร้านตัดผม ตู้โทรศัพท์สาธารณะ และยานพาหนะอื่นๆ ทุกประเภทก็ถูกกำหนดไว้ด้วย

 

ที่มาภาพ Tashhid Abdullah

 

แต่ขณะเดียวกัน นิสัยการสูบบุหรี่ของคนในสังคมไทย ไม่ได้เป็นไปโดยสอดคล้องตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นเลย การสูบบุหรี่ในสุขา สวนสาธารณะ รถแท็กซี่ สถานที่ทำงาน เป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป นั่นก็หมายความว่า กฎหมายคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่นี้ ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง หรือ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ นั่นเอง

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข จัดงานเสวนาวิชาการ “ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535อย่างไร ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นสำหรับนำไปปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว

 

เพิ่มโทษปรับและจำคุกให้หนักขึ้น หรือ โทษหนักไปก็ไม่มีผล

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีผู้เสนอขึ้นมาและผู้เข้าร่วมงานถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน คือ เรื่องอัตราโทษของการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ว่า อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทนั้น เป็นอัตราที่กฎหมายกำหนดมาเกือบ 20 ปีแล้วยังไม่มีการแก้ไข อาจจะต่ำเกินไปในยุคปัจจุบันทำให้ไม่มีคนเกรงกลัว จึงมีผู้เสนอให้เพิ่มค่าปรับให้สูงขึ้น หรือเสนอโทษจำคุกเข้ามาพิจารณา อีกข้อเสนอหนึ่งคือ กำหนดให้ปรับในอัตราสูงสุด คือ 2,000 บาทเท่ากันทุกครั้ง มีนักกฎหมายบางท่านเสนอให้ปรับในอัตราสูงขึ้นทุกครั้งสำหรับผู้ที่กระทำความผิดซ้ำ ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งไม่เชื่อว่าโทษที่สูงขึ้นคนที่ทำผิดจะเกรงกลัว เพราะเป็นความผิดที่คนยังไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดในตัวเอง

 

เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ให้ จับ ปรับได้ทุกคน หรือ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การที่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ  ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการโรงเรียน ฯลฯ (ดูประกาศกระทรวง ตามไฟล์แนบ) ปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่เพราะกฎหมายให้อำนาจแค่ตักเตือนเท่านั้น หากจะจับ และปรับ ต้องให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ จึงมีผู้เสนอให้เพิ่มอำนาในการ จับ และปรับ ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ด้วย ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งเห็นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงอยู่แล้ว เพราะผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ และการเพิ่มอำนาจให้มากเกินไปอาจกระทบกระเทือนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

เพิ่มความควบคุมไปถึงในบ้าน หรือ เป็นสิทธิส่วนบุคคลในพื้นที่ส่วนตัว

ในงานยังมีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ยังควบคุมไม่ถึงสถานที่ส่วนบุคคล เช่น ภายในบ้าน ทั้งที่ในบ้าน อาจมีลูก หรือครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ ที่อาจได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสองหรือมือสามด้วย และบางกรณีควันบุหรี่ก็อาจลอยออกนอกที่พักไปรบกวนบ้านเรือน หรือ ห้องพักของผู้อื่นที่อยู่ติดกันได้ จึงควรขยายอำนาจของกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลเหล่านั้นด้วย ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งยังมองเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในสถานที่ส่วนตัวเป็นสำคัญ และเชื่อว่าหากอำนาจของกฎหมายก้าวล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวเหล่านั้น ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูบบุหรี่จนเกินไป

 

คุ้มครองสุขภาพผู้สูบบุหรี่ หรือ บีบจนไม่มีที่ยืนในสังคม

มีนักกฎหมายท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การที่กฎหมาย โดยเฉพาะประกาศกระทรวง ฉบับที่ 19  กำหนดห้ามสูบบุหรี่ในแทบจะทุกสถานที่ ทั้งที่คนสูบบุหรี่นั้นบางคนติด ไม่ว่าจะห้ามอย่างไรก็คงต้องสูบ การกำหนดห้ามจนไม่เหลือพื้นที่ให้คนสูบบุหรี่ “ยืน” อยู่ได้เลยในสังคม จึงไม่น่าจะเป็นผลดี เพราะสุดท้ายก็ต้องเกิดการละเมิดกฎเกณฑ์ ซ้ำร้ายจะเกิดแรงต่อต้านกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า แท้จริงแล้วเจตนาของผู้ร่างกฎหมายต้องการใช้กฎหมายนี้คุ้มครองสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ด้วย จึงกำหนดห้ามสูบบุหรี่ในแทบทุกสถานที่เพื่อกดดันหรือบีบ ให้ผู้สูบบุหรี่ตัดสินใจเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง 

 

ทางปฏิบัติใช้ไม่ได้ ผิดที่กฎหมายหรือผิดที่คน

ในการเสวนาแลกเปลี่ยน เสียงวิจารณ์ค่อนข้างเห็นพ้องกันว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 19 นั้น เรียงลำดับซับซ้อน อ่านยาก คนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจ ทำให้ไม่มีใครเอากฎหมายนี้มาใช้

มีความเห็นหนึ่งที่เห็นว่า ตัวกฎหมายมีปัญหา เพราะเขียนไว้เข้มงวดเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ใต้หลังคาอาคาร ซึ่งจริงๆ คนสูบบุหรี่คงไม่ออกไปยืนตากแดดเพื่อสูบ และผู้ถูกบังคับใช้ยังไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเอง เช่น ผู้ดูแลอาคารยังไม่รู้ว่ามีหน้าที่ต้องติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุให้กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้และเสื่อมค่าไปเอง ขณะที่บางท่านเห็นว่า เมื่อกฎหมายมีเจตนารมย์ที่ดี และมีเนื้อหาที่เคร่งครัด ผู้มีหน้าที่บังคับใช้ควรจะต้องหาวิธีนำไปปฏิบัติให้ได้จริง เช่น มีเงินรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ ไม่ควรแก้ไขกฎหมายให้อ่อนแอลงเพื่อให้นำไปปฏิบัติง่ายขึ้น

 

แน่นอนว่าในมุมมองของหมอหรือคนทำงานด้านสาธารณสุข ย่อมเห็นพิษภัยของบุหรี่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งนอกจากการรณรงค์ทางสังคมแล้ว ดูเหมือนว่า “กฎหมาย”จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดประชากรบุหรี่ได้ทางอ้อม ด้วยการเขียนกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งแทบจะหมายถึงทุกที่

ขณะที่สังคมทั่วไปรับรู้กันมานานแล้วว่าบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพและคนรอบข้าง แต่รสนิยมการใช้ชีวิตและการตัดสินใจเลือกทำหรือไม่ทำอะไร ท้ายที่สุดแล้วยังเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ผู้อื่นต้องเคารพ การพยายามออกกฎหมายที่สังคมไม่ได้รู้สึกเห็นดีเห็นงามในหลักการนั้นด้วย อาจยิ่งทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเรื่องตลกที่ไร้ความหมาย

ทางเลือกต่อจากนี้ของนักเคลื่อนไหวสายสาธารณสุขมีให้เลือกระหว่าง เดินหน้าสูตรเดิม เขียนกฎหมายแบบให้ยาแรง หากยังไม่ได้ผลก็หาวิธีเพิ่มขนานของยาให้แรงยิ่งขึ้นอีก หรือจะทบทวนยุทธศาสตร์ เปิดใจรับฟังให้มากขึ้น หันมาใช้ความเข้าใจ ให้เกียรติคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อจับมือกันต่อสู้กับปัญหาบุหรี่

กฎหมายคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่มีความสำคัญกับคนอีกกว่าห้าสิบล้านคน ยังต้องช่วยกันคิดหาวิธีนำมาใช้ที่เหมาะสมและได้ผลดีกว่าที่เป็นอยู่  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมองในแง่สุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ หรือ จะมองในแง่สิทธิส่วนบุคคล สิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทั้งผู้สูบ และไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญคือ

“อย่ามองด้านเดียว”