ต่างจุดยืน ต่างความเห็น : กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

สำหรับสังคมไทย เมื่อพูดคำว่า “หมิ่นฯ” อาจหมายความได้ถึง “หมิ่นประมาทบุคคล” หรือ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โทษคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี”

เนื้อความกฎหมายว่าด้วยโทษจากการหมิ่นเบื้องสูง หรือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นหลักการหนึ่งที่อยู่ในกฎหมายไทยมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเนื้อความที่จำเพาะเป็นพิเศษสำหรับคุ้มครองประมุขของประเทศ พระราชินี และรัชทายาท ในฐานะของสถาบันที่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ

โทษของการหมิ่นเบื้องสูง มีความพิเศษ ที่แตกต่างไปจากโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคล นั่นคือ การหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปมีข้อยกเว้น สำหรับกรณีที่เป็นความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม และพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริงที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่การหมิ่นเบื้องสูง ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่าไม่มีข้อยกเว้น

แม้วันนี้ ระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ว่ากันว่า ความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นฝังลึกในสังคมไทย เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และสิ่งที่เรียกกันว่า “จิตวิญญาณความเป็นไทย” อย่างยากจะแยกพ้น

และไม่เพียงเท่านั้น อาจยังต้องกล่าวว่า กฎหมายมาตรานี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “สิทธิ” ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง สิทธิในความเชื่อในมโนธรรม และอีกด้านหนึ่งคือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้หลายครั้ง มาตรา 112 ถูกตั้งคำถามว่า ตัวบทกฎหมายนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถสร้างความสมดุลในสิทธิทุกๆ ด้านหรือไม่

 

หมิ่นฯ หรือ วิพากษ์ : คำถามถึงกรอบเจตนารมณ์กฎหมาย

ในเนื้อความกฎหมาย คำว่า “ดูหมิ่น” ถูกเลือกใช้ในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับจากวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่สังคมไทยแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ตั้งป้อมเป็นศัตรูกันอย่างชัดแจ้ง โดยพยายามหาเหตุมาอธิบายความเลวร้ายของอีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่เว้นแต่ละวัน ข้อกล่าวหาที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดคงไม่พ้นการกล่าวหาว่าอีกฝ่าย “หมื่น” สถาบันเบื้องสูงของสังคมไทย

การกล่าวหากันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ทั้งบนเวทีไฮค์ปาร์ก สื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก และการดำเนินคดีมุ่งเอาผิดกันอย่างจริงจัง บุคคลที่มีสถานะทางการเมืองถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมาก เจตนารมณ์ของกฎหมาย และวิธีการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

 

               “ต้องเข้าใจครับว่าเรื่องคนด่าเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ถ้าเขาไม่ด่าต่อหน้าก็ต้องด่าลับหลัง แล้วสมัยนี้มีเว็บไซต์ บางทีก็จับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ครับ วิธีห้ามมีอย่างเดียวคือ ถ้าเขาพูดมามันจริงก็ต้องแก้ไขเสีย

               …เหมือนคุณเป็นครูสอนลูกศิษย์ในชั้นเรียน ถ้าเขาเถียงคุณไม่ได้ เขาก็ไปด่าคุณลับหลัง ถ้าคุณเป็นครูที่ดี ต้องให้เขาเถียงคุณได้ ด่าคุณต่อหน้าได้ สังคมจึงจะเจริญงอกงาม เพราะสังคมที่เจริญงอกงามคือสังคมที่มนุษย์สามารถสื่อกันได้ เถียงกันได้ ถกกันได้ ไม่เห็นด้วยกันแต่เคารพอีกฝ่ายหนึ่ง ผมว่าสังคมไทยมีโอกาสเป็นไปอย่างนี้ได้ และจะเติบโตมากขึ้น”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

          

               "คำว่า 'ดูหมิ่น' อาจมีปัญหาในการตีความ เพราะความหมายมันกว้าง และโดยเหตุที่ไม่มีข้อยกเว้น ต่อให้พูดเรื่องจริงก็ผิดเพราะเราไม่ได้มีการยกเว้นเอาไว้"

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “ภาพพจน์แห่งความดีงามของสิ่งๆ หนึ่งจะตัดขาดจากความเป็นจริงทุกประการที่เกี่ยวกับสิ่งๆ นั้นได้อย่างไร และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามที่สุดที่เป็นไปได้ ได้อย่างไร หากเขาไม่สามารถรู้ความจริงทุกประการที่อยู่ในอำนาจที่เขาจะรู้ได้”

เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “สถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนจากเทพมาจุติเป็นระบอบฉันทานุมัติ คือการพึงใจยินยอม ยอมรับด้วยความสมัครใจในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมาจากพระคุณไม่ใช่พระเดช ไม่มีอำนาจรัฐบังคับให้ยอม ดังนั้นผู้ที่เสนอให้ยอมรับในพระเดชจะทำให้สถาบันเดือดร้อน และผลักประเทศไปสู่ระบอบเผด็จการโดยไม่รู้ตัว”

เกษียร เตชะพีระ

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

 

                “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เป็นตัวแทนการเล่นงานสิทธิเสรีภาพในการพูด สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการอย่างโหดร้าย ผลกระทบคือ เราไม่มีประชาธิปไตยที่เต็มใบ และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยของเราจากนานาประเทศ”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ที่มา : เว็บไซต์ thaibalsta.org

 

การบังคับใช้กฎหมาย

ตามที่กล่าวมาแล้วว่า มาตรา 112 ถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายที่อิงกับวัฒนธรรมของสังคมแบบไทยๆ และผูกพันกับจิตวิญญาณความเป็นไทย ด้วยสถาบันที่เป็นที่รักและหวงแหน ความผิดตามมาตรานี้จึงถูกจัดอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเปิดช่องให้ใครก็ตามเป็นผู้กล่าวหา แจ้งความดำเนินคดีได้ ต่างจากกรณีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ที่ให้สิทธิการฟ้องร้องแก่ “ผู้เสียหาย” โดยตรงเท่านั้น

กฎหมายมาตรานี้จึงเป็นอาวุธที่ทุกคนสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้กันได้อย่างกว้างขวาง

 

               “ปัญหาที่น่าหนักใจก็คือ การฉ้อฉลใช้กฎหมายนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เพราะกฎหมายอนุญาตให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาท ที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ กฎหมายหมิ่นฯ จึงกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ฉวยใช้ง่ายเหลือเกิน”

ธงชัย วินิจจะกูล

ที่มา : นสพ. เดอะเนชั่น

 

                “คนที่ถูกดำเนินการจะอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายที่มีอำนาจ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง เช่น เฮ้ย อยากให้ลาออกให้มากระซิบที่ข้างหู สมมติว่ามีคนไปแจ้ง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อย่างนี้ล่ะที่เรียกว่า มันถูกใช้ในทางการเมือง คือผู้มีอำนาจใช้มันเป็นประโยชน์กับตนเองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อไรที่ผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อันนี้คือปัญหา

                …สุดท้ายบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็ถูกแทรกแซงจากแรงกดดันทางการเมืองและสังคมอยู่ดี โดยเฉพาะคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

               “ถามว่าตำรวจไทยเมื่อได้รับคดีร้องทุกข์อย่างนี้จะกล้าบอกไหมว่าการร้องทุกข์นั้นฟังไม่ขึ้น ประกอบกับการกระพือข่าวก่อนที่จะมีการกล่าวหาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะไม่ทำคดี ดังนั้น ในที่สุด ทุกคนก็ผ่านจากขั้นตำรวจไปถึงขั้นอัยการ ซึ่งสำหรับคดีนี้ อัยการส่วนใหญ่หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็คงต้องฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปว่ากันที่ศาล”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “การดำเนินคดีในข้อกล่าวหาคดีหมิ่นฯ คลุมเครือ ไม่แน่นอน ไร้หลักประกัน แค่ถูกกล่าวหาก็เหมือนถูกพิพากษาแล้ว รวมถึงถ้อยคำที่ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่ถูกใช้อยู่ตลอดเวลา เช่น คำว่าจาบจ้วง เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเห็นถูกนำไปใช้ตัดสินในกระบวนการยุติธรรม”

จีรนุช เปรมชัยพร

ที่มา : นสพ. ไทยโพสต์

 

ความคิดเห็นที่แทบจะไม่ได้ยินเสียงคัดค้าน คือการยอมรับว่า ปัจจุบันกฎหมายมาตรานี้ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม มากกว่าการใช้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น และสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เลย

 

                “ในหลวงในฐานะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฯ ก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกับเราทั้งหลาย ก็ต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ตอนนี้เราไปพยายามสร้างพระเจ้าอยู่หัวเป็นเทวราชไม่ใช่สมมุติเทพ อันนี้เป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “ยิ่งมีการฟ้องร้องข้อหานี้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศมากเท่านั้น เพราะถ้าเราตีความในมุมกลับ หากมีการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาก ก็หมายความว่า เดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มีข้อบกพร่อง จึงมีคนหมิ่นบ่อยๆ มิพักต้องกล่าวถึงกรณีหากเป็นคดีความขึ้นในศาลซึ่งคู่ความอาจต้องให้การบางอย่างบางประการอันอาจกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นไปอีก”

ปิยบุตร แสนกนกกุล

ที่มา : เว็บไซต์ เครือข่ายนักกฎหมายมหาชนไทย

 

หลากข้อเสนอถึงมาตรา 112

ไม่เพียงเฉพาะการตั้งคำถามต่อหลักการของกฎหมายและวิธีการนำมาใช้ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้เท่านั้น ผู้คนหลายกลุ่มในสังคมตระหนักถึงบรรยากาศแห่งความกลัวที่ปกคลุมอยู่ทั่วไปในสังคมการเมืองไทยอันอาจเรียกได้ว่า มันเป็นผลข้างเคียงจากการบังคับใช้ภายใต้ความวุ่นวายทางการเมือง และเพื่อปรับตัวให้ทันกับกับกระแสโลกาภิวัตน์และความวุ่นวายของเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้เสียเลย

 

               “ไม่มีอารยะประเทศไหนในโลกที่ยังมีกฎหมายตกยุคแบบนี้แล้ว ถ้ามีประชาธิปไตยก็ต้องมีสิทธิในการพูด วิจารณ์ แสดงออก ไม่เช่นนั้น คนที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์หรือเป็นสมาชิกราชวงศ์ก็สามารถทำอะไรก็ได้ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส มันเป็นกฎหมายที่แสดงถึงความกลัวของพวกอนุรักษ์นิยม เพราะกลัวว่าถ้าเปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็น จะเริ่มเห็นชัดว่าประชาชนไทยคิดต่างมากมาย”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ที่มา : เว็บไซต์ สยามปริทัศน์

 

                “สังคมใดก็ตามที่ความเห็นต่างไม่ได้รับการยอมรับ หรือไปถึงขั้นกลายเป็นอาชญากรรม เป็นสังคมที่ในที่สุดทำให้ประชาชนต้องคิดเหมือน หรือไม่ต้องคิดเลย สังคมแบบนี้น่าจะเป็นสังคมที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ”

ศรีประภา เพชรมีศรี

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

                “หากเรายอมรับ ยอมให้วัฒนธรรมความกลัวและความเงียบเป็นเรื่องปกติเมื่อใด และชาชินกับมัน ไม่ตั้งคำถามต่อสภาพที่เป็นอยู่ เราก็ไม่มีทางเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์และมีศักดิ์ศรีได้ ทางออกทางเดียวคือ ต้องสู้และสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับและเชิดชูเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เพราะมันคือเสาหลักอันสำคัญของสังคมประชาธิปไตย”

ประวิตร โรจนพฤกษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

แน่นอนว่าข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ขัดกับความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย ความคิดเห็นที่ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนการคงอยู่ จึงน่ารับฟังเช่นกัน

 

               “จริงอยู่ แม้ว่าหลักการประชาธิปไตยจะเชิดชูความเสมอภาคและเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการโฆษณาความคิดเห็นก็จริง แต่ความเสมอภาคก็ไม่ใช่ความเสมอภาคแบบเถรตรงซื่อๆ ซึ่งทำให้การเลือกปฏิบัติทุกประเภทกลายเป็นขัดหลักความเสมอภาคหมด ทั้งๆ ที่การเลือกปฏิบัติบางอย่างมีเหตุผลและความจำเป็น

               …ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกก็แตกต่างกันไป การให้ความหมายของคำว่า “ความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย” ก็มีปัญหาเรื่องขอบเขตและระดับที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ

               …ถ้าเราถือว่าทั้งโลก ความถูกผิดมีเพียงหนึ่งเดียว และความถูกผิดเพียงหนึ่งเดียวนั้นก็คือที่ 'เรา' เท่านั้นเชื่อว่าถูกหรือผิด เราก็คือผู้เผด็จการทางจริยธรรม ที่ต้องการเอาสิ่งที่เราเชื่อขึ้นเป็นมาตรฐานของคนทั้งโลก

               …คงไม่มีใครที่มีจิตใจประชาธิปไตยไปตัดสินว่าประเทศหรือสังคมเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงเพราะสังคมนั้นๆ มีวัฒนธรรมและจริยธรรมอันแสดงให้เห็นข้อจำกัดทางสังคมแตกต่างจากสังคมของตน”

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน

 

               “ความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของประเทศเรา จึงอยู่เหนือความเข้าใจของประเทศอื่น เพราะเขาไม่เหมือนเรา นี่เป็นเหตุผลภายในของเรา เราจัดชั้นเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นความผิดด้านความมั่นคงแห่งรัฐ

              …สมมติว่าผมไปวิพากษ์วิจารณ์คุณพ่อคุณแม่คุณ (หมายถึงผู้สื่อข่าว) ได้ไหม (นักข่าวตอบ 'ไม่ได้') ผมบอกว่า มันสิทธิเสรีภาพผม ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้? … นั่นคือ พ่อเรา เรายังบอกไม่ได้ แล้วนี่พ่อของแผ่นดิน ได้ไหม ก็แค่นี้ล่ะครับ”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ

 

               “ปัญหาอยู่ที่ความไม่เด่นชัดของข้อความในมาตรา 112 ว่า การดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเป็นอย่างไร ทำให้การตีความเป็นไปตามมุมมองของแต่ละคน

               …ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายตีความตรงไปตรงมาก็ไม่มีปัญหา เพราะหากแก้กฎหมายแล้ว ผู้บังคับใช้ไม่เปลี่ยนแปลงก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก”

ทองใบ ทองเปาว์

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดขั้ว การพิจารณาเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย กับวัฒนธรรมความเชื่อของคนในชาติ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง และมีความหมายที่ใหญ่เกินกว่าฝ่ายหนึ่งจะยอมหลีกทางให้อีกฝ่ายหนึ่ง

เพื่อที่จะให้หลักการทั้งสองเดินคู่กันไปได้อย่างสมดุล จึงมีข้อเสนออีกหลากหลาย เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์บทบาทของกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสังคมไทยครั้งนี้

 

                “สังคมไทยน่าจะถวายของขวัญแก่พระองค์หรือมอบแก่คณะองคมนตรีด้วยความสุขุมรอบคอบในการจัดการปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ แก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการเติมประโยคที่ว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชบัญชาหรือความเห็นชอบจากพระองค์ท่านเท่านั้น”

เดวิด สเตร็คฟัส

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมอยากเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่นักกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด แล้วนำเสนอต่อสำนักเลขาฯ ก่อนว่า มีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร ไม่ใช่ตีความอย่างกว้างขวาง จนเกิดความเสียหายอย่างที่ผมเล่ามาทั้งหมด”

วสันต์ พานิช

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

               “ควรมีบุคคลหรือองค์กรในระดับสูง ซึ่งไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยทางหนึ่งทางใด อาจเป็นองค์กรที่มีอยู่แล้วเช่น อัยการสูงสุด รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรี หรือตั้งองค์กรใหม่ขึ้นกลั่นกรองก่อนจะอนุมัติให้ดำเนินคดีได้ อย่าปล่อยให้ใครๆ ก็สามารถตั้งตัวเป็นโจทย์ฟ้องร้องได้ และปล่อยให้ตำรวจชั้นผู้น้อยและอัยการชั้นผู้น้อย ต้องใช้วินิจฉัยของตนเองว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งยากที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยนั้นอย่างเที่ยงธรรม”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา : นสพ.มติชน

 

               “ให้จัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ในการกลั่นกรองและฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม”

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

 

               “เราจำเป็นต้องจำกัดบุคคล หรือองค์กรผู้เริ่มต้นที่จะริเริ่มการฟ้องคดี เช่นที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอไว้ คือ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้อง เพื่อจะได้เห็นชัด ถ้าเอาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

               …การกระทำต่อสัญลักษณ์ เป็นการตีความที่เลยเถิด

               …ปัญหาคือศาลไม่ดูบริบทแวดล้อม หยิบมาเพียงบางส่วน แล้วศาลตัดสินว่าหมิ่นเดชานุภาพ การแก้ก็คือคดีหมิ่นฯ เราต้องแยกว่าเป็นแค่การพูดไม่เหมาะสมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราจะกวาดคนจำนวนมากเข้าไปในคดีนี้”

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล

ที่มา : เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

               “ถ้าเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไปมีเหตุยกเว้นโทษได้ แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีการยกเว้นโทษเพราะอ้างกันว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติว่าล่วงละเมิดไม่ได้

               …ผมไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปยกเลิก แต่เราย้ายหมวดมาเป็นเรื่องหมิ่นประมาทโดยทั่วไปได้ไหม และกำหนดให้มีองค์กรที่จะเป็นผู้เสียหายแจ้งความ”

ศราวุฒิ ประทุมราช

ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท

 

               “ควรมีการร่างกฎหมายให้มีบทลงโทษแก่กลุ่มบุคคลที่ใช้ ม.112 เพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยเยินยอสรรเสริญสถาบันเบื้องสูงจนเกินงาม และโยนให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ไม่จงรักภักดี ซึ่งถือว่าคนกลุ่มนี้มีเจตนาพิเศษ ที่จะนำกฎหมายความมั่นคง ไปใช้ฉกฉวยประโยชน์ด้วยการอ้างอิงสถาบัน”

ธาริต เพ็งดิษฐ์

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

                 “โทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่หนักกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราช

                ..ความไม่เป็นธรรมของบทลงโทษมาตรา 112 คือ ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่กษัตริย์ควรอยู่ภายใต้กฎหมาย และขัดกับหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ทางออกทางเดียวคือการลดโทษในปัจจุบันลงมา อย่างน้อยคือให้เหลือ 7 ปีเท่ากับในมาตรา 116 ไม่ใช่การเพิ่มโทษ

                …การตีความกฎหมายโดยศาล สามารถทำให้มีความก้าวหน้า กล้าตีความโดยไม่ยึดติดกับถ้อยคำ อย่างมีจุดประสงค์ที่จะขยายสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ยุติธรรมในสังคมมากขึ้น และตีความในลักษณะลบล้างคำพิพากษาเก่าๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคดีหมิ่น”

จรัญ โฆษณานันท์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

               “อยากให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงเจตนาในการล้มล้างสถาบัน หากผู้ต้องหาไม่มีเจตนาก็ไม่ควรถูกลงโทษ อย่านำอารมณ์มาเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย”

วรินทร์ เทียมจรัส

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

                “ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีบทบาท ต้องรู้จักเปลี่ยนให้เข้ากับกาลสมัย หลายอย่างแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ต้องทำสิ่งที่แก้ได้ คดีหมิ่นฯ แม้แก้กฎหมายไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่สามารถยุติคดีได้”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

                “เราต้องคุยกันว่าจะธำรงสถาบันกษัตริย์อย่างไร ต้องออมชอมกัน เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจคนทั้งชาติ อยากให้คุยกันในสาระ เพราะหากเพียงใส่เสื้อเหลืองก็มีผลทำให้เจ๊กได้เงินค่าเสื้อแต่สังคมไทยไม่มีการเผชิญปัญหาด้วยสัจจะ”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ที่มา : เว็บไซต์ ประชาไท

 

ข้อเสนอต่างๆ ทั้งการแก้ไขปรับปรุง ยกเลิก หรือคงไว้ ทำให้ดูเหมือนว่าคนไทยมีความคิดเห็นในประเด็นนี้แตกต่างกันคนละขั้วอย่างชัดเจน แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นไม่ใช่เหตุแห่งความแตกแยก ทุกฝ่ายยังสามารถเคารพความคิดของอีกฝ่าย รับฟังซึ่งกันและกัน เปิดใจและให้โอกาสผู้ที่เห็นต่างแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ได้ เพราะเบื้องหลังของทุกความเห็นก็คือความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ไม่อยากให้มีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง

และที่สำคัญ การเสนอยกเลิก แก้ไข หรือปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นคนละเรื่องกับความไม่จงรักภักดี

 

                “แต่ว่าความจริง ก็ต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน และก็ไม่กลัวว่าถ้าใครจะมาวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ตรงนั้น จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน

                … ฉะนั้นก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าวิจารณ์ผิด ไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ละเมิดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ลงท้ายพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงว่า ถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี…”
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่มา : พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548

 

 

 

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก AraGuim