การล็อบบี้ของประชาชน และบทบาทบนโลกไซเบอร์

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบคำว่า “ล็อบบี้” แต่จะโดยรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม หลายครั้งหลายหน ภาคประชาชน นักกิจกรรม หรือการรวมตัวของประชาชน ได้ใช้วิธีการนี้ไปสู่เป้าหมาย บางกลุ่มอาจจะเลี่ยงไปใช้คำว่า “การมีส่วนร่วม” แต่การจัดองคาพยพสำหรับการ ผลักดันนโยบาย หรือผลักดันวิธีการจัดการรูปแบบต่างๆ ไปสู่การแก้ปัญหานั้นล้วนแล้วแต่ต้องมีการจัดองค์กร การประชาสัมพันธ์ และการโน้มน้าวให้คนที่จะมาร่วมได้รู้สึกว่าตนเองเกี่ยวข้องอย่างไร? หรือตนเองมีประโยชน์มากแค่ไหน? ล้วนแล้วแต่ใช้การ “ล็อบบี้” ทั้งสิ้น
ปัจจุบัน ในขณะที่กระแสการโจมตีประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวและภาคประชาชนทั่วโลกพูดถึงมากมายและดูจะเป็นแฟชั่นไปเสียแล้ว แต่กระนั้นสิ่งที่มาแทนที่ อย่าง ประชาธิปไตยทางตรง การดื้อแพ่ง อารยะขัดขืน หรือการประท้วงกดดันต่อรองรัฐโดยไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการและเป็นรูปธรรม ก็อาจจะดูเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
&nbp;
ดังนั้นการผลักดันนโยบายสาธารณะหรือการผลักดันการแก้ปัญหา โดยใช้ช่องทางทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม อาทิเช่น การสร้างนโยบายสาธารณะด้วยตนเอง, การล่ารายชื่อสนับสนุน, การทำประชาพิจารณ์, การลงประชามติ, การส่งจดหมายกดดัน/เรียกร้องถึงผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ จึงเป็นอีกวิธีการที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในขณะนี้
วิธีการดังกล่าวนั้น มีหลักการรองรับที่มีชื่อเรียกสวยหรูว่า “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชน” ซึ่งชื่อเรียกสวยหรูนี้ถูกช่วงชิงความหมายทั้งภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ และประชาชนกลุ่มต่างๆ
 
 
ประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy)
 
ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่ประชาธิปไตยทางอ้อมหรือการเลือกตัวแทนเท่านั้น แต่มีประชาธิปไตยโดยตรงอีกด้วย ประชาธิปไตยโดยตรงคือการที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทในกิจการบ้านเมืองโดยตรงมากที่สุด
 
ประชาชนที่เป็นปัจเจกก็ไม่มีกำลังพอ แต่ต้องมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง การรวมตัวคือสังคม สังคมหมายถึงการร่วมกัน การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งก็คือสังคมเข้มแข็ง เข้มแข็งหมายถึงเข้มแข็งทั้งทางการรวมตัว เข้มแข็งทั้งทางความรู้และปัญญา เข้มแข็งทั้งทางศีลธรรม เข้มแข็งทั้งทางการจัดการ คือการมีองค์กร
 
สังคมเข้มแข็ง ควรทำเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อย 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้
(1) ชุมชนเข้มแข็งทำการพัฒนาอย่างบูรณาการเต็มพื้นที่ เป็นประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ชุมชนกำหนดอนาคตของตนเองได้ และแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัวสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพพร้อมกันไปอย่างบูรณาการ นี้จะเป็นรากฐานแห่งความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม
(2) สังคมเข้ามาทำการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเองมากที่สุด เช่น การศึกษา สุขภาพวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
(3) สังคมร่วมรัฐ สังคมนำรัฐ รัฐทำอะไรดีสังคมเข้าร่วม รัฐติดขัดอะไรสังคมนำ
(4) สังคมตรวจสอบรัฐ
(5) สังคมร่วมสร้างนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรทำโดยเผด็จการ โดยคนกลุ่มน้อยหรือคนคนเดียว แต่ควรเป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Participatory Public Policy Process = PPPP = P4)
 
ทางออกจากธนาธิปไตย ประชาธิปไตยโดยตรง สังคมเข้มแข็ง, ประเวศ วะสี
 
 
นวัตกรรมการผลักดันนโยบายสาธารณะผ่านช่องทางที่ได้กล่าวไปนั้น ต้องถือว่าผู้ที่มีคุณูปการสำคัญก็คือกลุ่มเอ็นจีโอผู้ที่เป็นหัวหอกสำคัญของ “ขบวนการภาคประชาชน” ที่ได้พลิกแพลงนำมาใช้สอดคล้องกับวาทกรรมการปฏิเสธ “การเมืองแบบเลือกตั้งผ่านระบบรัฐสภา” และบ่อยครั้งเราก็มักที่อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า เอ็นจีโอที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงและอาจารย์ที่แสนดีของชาวบ้านเหล่านี้ จะผูกขาดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำกิจกรรม “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ไปเสียแล้ว
 
ส่วนภาครัฐก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันได้นำเอานิยาม “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” บรรจุไว้ในหลักการนโยบายการบริหารอย่างมี “ธรรมภิบาล” ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสถาบันการเงินระดับโลก ที่รัฐไทยต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการกู้ยืมอยู่ทุกห้วงเวลา แต่กระนั้นก็ตามมันเหมือนกับว่าถูกบรรจุเอาไว้เฉยๆ เท่านั้น
 
รูปธรรมปรากฏการณ์ที่ชัดเจนของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในสังคมไทยครั้งใหญ่ๆ จึงถูกครอบงำโดยสองกลุ่มนี้ตลอดมา (เอ็นจีโอและรัฐ) ถึงแม้ประกายไฟเล็กๆ จะเกิดขึ้นจากความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ท้ายสุดมักจะเป็นการล็อบบี้กันระหว่าง ผู้ที่ชิงการนำประเด็นนั้นๆ (เอ็นจีโอ หรือชาวบ้านบางคนที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าของประเด็นเสียเอง) กับรัฐและผู้มีอำนาจเสมอมา
 
 
หลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะ
 
International Association for Public Participation ได้แบ่งระดับของการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็น 5 ระดับ ดังนี้
 
1. การให้ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับต่ำที่สุด แต่เป็นระดับที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นก้าวแรกของการที่ภาคราชการจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ วิธีการให้ข้อมูลสามารถใช้ช่องทางต่าง ๆ เช่น เอกสารสิ่งพิมพ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อต่างๆ การจัดนิทรรศการ จดหมายข่าว การจัดงานแถลงข่าว การติดประกาศ และการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
 
2. การรับฟังความคิดเห็น เป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีต่างๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็น การจัดเวทีสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น
 
3. การเกี่ยวข้อง เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน หรือร่วมเสนอแนะทางที่นำไปสู่การตัดสินใจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าข้อมูลความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนจะถูกนำไปพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริหารงานของภาครัฐ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาประเด็นนโยบายสาธารณะ ประชาพิจารณ์ การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอแนะประเด็นนโยบาย เป็นต้น
 
4. ความร่วมมือ เป็นการให้กลุ่มประชาชนผู้แทนภาคสาธารณะมีส่วนร่วม โดยเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจ และมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการที่มีฝ่ายประชาชนร่วมเป็นกรรมการ เป็นต้น
 
5. การเสริมอำนาจแก่ประชาชน เป็นขั้นที่ให้บทบาทประชาชนในระดับสูงที่สุด โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ เช่น การลงประชามติในประเด็นสาธารณะต่างๆ โครงการกองทุนหมู่บ้านที่มอบอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด เป็นต้น
 
 
กรณีศึกษาที่น่าสนใจของของไทย เช่นการผลักดันร่าง พ...ป่าชุมชน ที่เริ่มจากการคัดค้านการสัมปทานป่าของประชาชนในพื้นที่ป่า ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2510 จากนั้นชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันเริ่มร่าง พ...ป่าชุมชนฉบับประชาชน ในปี พ..2533 ต่อมาในปี พ..2542 ก็เริ่มล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อผลักดันกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญปี พ.. 2540 ได้เปิดทางเอาไว้ แต่เมื่อเข้าสภา ก็เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างสูงระหว่างสภาผู้แทนกับวุฒิสภา จากนั้นการเมืองก็เข้าขั้นขลุกขลัก สภาเปลี่ยน รับธรรมนูญเปลี่ยน สุดท้ายมาจบที่การผลักกฎหมายป่าชุมชนเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร และแน่นอนว่า เจตนารมณ์กฎหมายที่ร่างโดยภาคประชาชนนั้นกลับหายเกลี้ยง
 
แต่นั่นก็ถือว่าโชคดี ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า 50,000 รายชื่อได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ตัวอย่างอันน่าเศร้าของเสียงประชาชนที่ถูกทำให้ไม่มีค่าก็คือ กรณีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คปพร.) ซึ่งประชาชนจำนวน 71,543 คน เป็นผู้เสนอ ถูกนำไปดองเค็มไว้อย่างไม่รู้ว่าจะมีวันที่จะหยับมาพิจารณาหรือไม่ การปฏิเสธอย่างปราศจากเยื่อใยโดยผู้มีอำนาจนี้มีเหตุผลเดียวเท่านั้นก็คือ มันเป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองเสนอ
 
ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคประชานครั้งใหญ่ที่สุดที่รัฐได้ทำมา ก็น่าจะเป็นกรณีการลงประชามติรับ/ไม่รับ ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ผลการลงประชามติ เห็นชอบ 14,727,306 คน ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คน) และก็ดังเช่นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างซ้ำซาก กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับรัฐนั้น ประชาชนดูเหมือนมีหน้าที่เพียงเลือกว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งสำเร็จรูปที่พวกเขาได้เตรียมเอาให้ไว้แล้ว แต่โดยส่วนใหญ่ สิทธิในการเลือกจะปฏิเสธการกำหนดชะตาชีวิตจากรัฐและผู้มีอำนาจนั้นมันมักจะยากเสมอ หรืออาจเรียกได้ว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”
 
ปัจจุบันการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนโดยช่องทางที่รัฐและผู้มีอำนาจได้เปิดทางเอาไว้นั้น ยังมีอุปสรรคหยุมหยิมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย การผลักดันนโยบาย ฯลฯ (อ่าน: ลุ้นกฎหมายเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ ใช้ไม่ใช้ สำเนาทะเบียนบ้าน)
 
บทบาทของโลกไซเบอร์กับการล็อบบี้ของประชาชน
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเทอร์เน็ต คือช่องทางสื่อสารและแหล่งข้อมูลที่สำคัญอันหนึ่งของสังคม ซึ่งนักเคลื่อนไหวทางสังคมเองก็ได้ใช้เครื่องมือนี้ในการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือ จนกระทั่งการรวมกลุ่มล็อบบี้ปัญหา ผลักดันนโยบายต่างๆ แต่จะมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยนั้นยังคงเป็นข้อถกเถียงต่อไป
 
petitiononline.com เป็นเวบไซต์สำหรับการลงชื่อแสดงเจตน์จำนงสนับสนุนข้อเรียกร้องในเรื่องต่างๆ อันเป็นนวัตกรรมของบริษัทผลิตสื่อ Artifice, Inc ที่ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์หัวข้อประเด็นและการการล่ารายชื่อทางอินเทอร์เน็ตได้เอง ทั้งนี้ในปัจจุบัน petitiononline.com มีประเด็นหัวข้อให้ชาวไซเบอร์ได้ร่วมลงชื่อหลายพันหัวข้อ และมีผู้ร่วมลงชื่อในหัวข้อต่างๆ กันมากกว่าหลายล้านรายชื่อแล้ว
 
ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการล็อบบี้เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และนำเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างชัดเจน ก็เห็นจะเป็นกลุ่ม MoveOn.org ที่เริ่มจากรวมตัวกันเป็นเมลกรุ๊ปในปี ค.. 1998 หลังจากนั้นก่อได้ก็ตั้งเว็บไซต์โดยฝีมือของคู่ภรรยาสามี Joan Blades และ Wes Boyd เริ่มปฏิบัติการล่ารายชื่อ (petition) ถามต่อสภาคองเกรส ในประเด็นอื้อฉาวในขณะนั้นเกี่ยวกับการถอดถอนประธานาธิบดี Bill Clinton ซึ่งแคมเปญแรกนี้พวกเขาก็ล่ารายชื่อได้กว่าครึ่งล้านคน จากนั้นพวกเขาก็ปฏิบัติการณ์ต่อในประเด็นสำคัญๆ เช่น การเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีการบุกอิรัก, เรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายว่าด้วยปริมาณสารหนูและปรอท และโครงการรณรงค์การปฏิรูประบบการเงิน เป็นต้น
 
ทั้งนี้ว่ากันว่า moveon.org เป็นพื้นที่ที่ให้ประชาชนบนโลกไซเบอร์มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันเสนอกฎหมาย นโยบายสาธารณะ เรียกร้องผ่านนักการเมือง ด้วยวิธีการร่วมกันลงชื่อ รวมถึงการหาอาสาสมัครระดมพลโทรไปหว่านล้อม (ล็อบบี้) นักการเมืองให้ทำตามนโยบายที่ประชาชนเสนอไป
 
โดย moveon.org ได้สร้างคุณูปการ ให้กับนักล็อบบี้ภาคประชาชนมากมาย สามารถทำให้รัฐบาลสหรัฐแก้ไขและออกกฎหมายที่มีประโยชน์แก่ประชาชนได้หลายฉบับ
 
ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดี Barack Obama ในช่วงที่หาเสียง เขาก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับนโยบายต่างๆ ผ่าน www.change.gov เปิดให้ประชาชนส่งข้อเสนอแนะและนโยบาย โดยหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว Obama ได้ปรับปรุงเว็บไซต์ของทำเนียบขาว (www.whitehouse.gov) ให้มีลักษณะเดียวกับ www.change.gov สร้างความโปร่งใสและให้ข้อมูลในการทำงานของรัฐบาลแก่ประชาชน รวมถึงสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมอีกด้วย
 
ในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมาก็มีการใช้ช่องทางผ่านอินเตอร์เน็ตอยู่พอสมควร เช่นกรณี “การร่วมให้กำลังใจ “นายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อน” (ดู: http://petitiononline.com/Chotisak/petition.html) หรือกรณี ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นามของสยามประเทศ และแก้กฎหมายสำหรับ “จังหวัดธนบุรี” (ดู: http://petitiononline.com/SIAM2008/petition.html)
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า สำหรับไทยนั้น เพิ่งเป็นก้าวที่เริ่มต้นสำหรับการรวมตัวเรียกร้องประเด็นต่างๆ ผ่านโลกไซเบอร์ สังเกตได้จากระยะหลังที่ผ่านมานี้ แถลงการณ์และการล่ารายชื่อต่อประเด็นต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีการนำ ผลลัพธ์หรือรายชื่อที่ได้นั้นไปทำอะไรมากนัก
 
ส่วนนักการเมืองเองนอกจากจะมีเว็บไซต์ไว้หาเสียงแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น แต่กระนั้นความคิดเห็นของประชาชนบนโลกไซเบอร์บนกระดานสนทนาของเวบไซต์นักการเมืองเหล่านี้ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าพวกเขา (นักการเมือง) เอาไปทำอะไรกันบ้าง?
 
โดย วิทยากร บุญเรือง
 
อ้างอิง :
วารสาร/หนังสือพิมพ์
ชิตพงษ์ กิตตินราดร, การเมืองที่คุณมีส่วนร่วมบนโลกออนไลน์, BUSINESSWEEK THAILAND, เดือนพ.. 52
นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 .. 52
 
เว็บไซต์
http://en.wikipedia.org/wiki/Moveon
http://en.wikipedia.org/wiki/PetitionOnline
http://www.codi.or.th
http://www.moph.go.th
http://www.petitiononline.com
http://www.prawase.com
http://www.thaico.net