งานวิจัยชี้ คดีเช็คไม่ควรรับผิดอาญา

‘เช็ค’ หรือกระดาษใบเล็กๆ ที่สถาบันการเงินออกให้ เพียงกรอกรายละเอียดวันที่ ชื่อผู้รับเงิน จำนวนเงิน ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย  ก็ช่วยอำนวยความสะดวกใช้ทดแทนเงินสดได้ ประเทศไทยออกเช็คราวปีละ 130 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท

ที่มาภาพ : Naval History & Heritage Command

เพื่อทำให้กระดาษธรรมดาอย่างเช็คมีความศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถือขึ้นมาเหมือนกับธนบัตร กฎหมายไทย คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 [1] จึงกำหนดให้ความผิดต่อเช็คยังเป็นความผิดทาง ‘อาญา’ ด้วย แปลว่าหากใครออกเช็คเด้ง หรือเขียนเช็คไปแล้วแต่เป็นเช็คที่ขึ้นเงินไม่ได้ เพราะมีเงินไม่พอ มีสิทธิถูกฟ้องให้ติดคุกได้

ยิ่งกว่านั้น รัฐยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ต่อคดีเช็ค เพราะการฟ้องคดีอาญาแตกต่างจากคดีแพ่งตรงที่โจทก์ในคดีอาญาไม่ต้องฟ้องเอง มีอัยการดำเนินคดีให้ แถมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ขณะที่คดีแพ่งโจทก์ต้องจ่ายเองเพราะถือเป็นความผิดต่อเอกชน

ด้วยลักษณะนี้  เช็คจึงแตกต่างจากตราสารรูปแบบอื่นๆ ที่มีแต่ความรับผิดทางแพ่ง อย่างไรก็ดี แม้การใช้เช็คส่วนใหญ่มักใช้ในธุรกิจขนาดใหญ่ แต่จากการศึกษาเรื่อง “นิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็ค” ที่จัดทำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ อิสร์กุล อุณหเกตุ และทรงพล สงวนจิตร คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า เช็คที่ ‘เด้ง’ นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยใบละ 115,000 บาท ซึ่งในทางธุรกิจถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก หากเทียบกับสัดส่วนการใช้เช็คทั้งหมดนั้น เช็คเด้งมีเพียงจำนวนร้อยละ 1 ของการใช้เช็คทั้งหมด และคิดเป็นเงินมูลค่าเพียงร้อยละ 0.25 ของมูลค่าเช็คทั้งหมด

ในขณะที่มูลค่าเฉลี่ยของเช็คเด้งไม่มากนัก แต่ต้นทุนที่ต้องใช้ในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับเช็คที่เป็นต้นทุนของรัฐและคู่กรณี มีทั้งสิ้น 909 – 1,351 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นต้นทุนของรัฐ ที่ต้องใช้สำหรับอัยการและศาล ในการพิพากษาคดีถึง 396 – 720 ล้านบาท และต้นทุนของคู่กรณี ไม่ว่าจะฟ้องคดีเอง หรือ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ที่ประมาณ 250 ล้านบาท

ด้วยวิธีคิดแบบนิติเศรษฐศาสตร์จึงจำต้องทบทวนว่า คุ้มค่าหรือไม่ กับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการทวงหนี้ และการจับลูกหนี้ไปอยู่ในคุกนั้นจะช่วยแก้ป้องกันและแก้ปัญหาได้จริงหรือ ข้อมูลเหล่านี้จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ในการกำหนดโทษอาญาในคดีเช็ค

งาน  สัมมนาเรื่อง “นิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็ค”

สรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวถึงหลักการในการลงโทษในทางอาญาว่ามีวัตถุประสงค์สามข้อ คือ หนึ่ง เพื่อแก้แค้นทดแทน สอง เพื่อกันผู้กระทำความผิดออกจากสังคม และสาม ฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

สรวิศตั้งข้อสังเกตว่าที่ความผิดต่อเช็คถูกกำหนดโทษทางอาญาเอาไว้ก็เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า เมื่อถึงเวลาจำเลยต้องขวนขวายเอาเงินมาจ่ายเพราะกลัวติดคุก แต่หลายครั้ง คนที่ออกเช็คต้องรับผิดและถูกดำเนินคดี ไม่ได้มีเจตนาทุจริต ไม่ได้ฉ้อโกง ไม่ได้มีเจตนาหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพียงแต่เขาอาจเกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจ โชคร้ายที่ทำให้ไม่อาจมีเงินในบัญชีพอที่จะชำระได้ตามเช็ค อย่างเช่นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เงินที่คิดว่าจะชำระหนี้ได้ แต่เมื่อค่าเงินเปลี่ยนก็พบว่าเงินไม่พอ สุดท้ายก็ต้องรับผลทางอาญา

“การเอาคนที่ประกอบธุรกิจการค้ามาลงโทษทางอาญามันไม่สนองวัตถุประสงค์การลงโทษทางอาญา เพราะบุคคลพวกนี้ เขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน การเอาเขาเข้าคุกก็ไม่เป็นการฟื้นฟูเขาเพราะเขาไม่ได้เลวร้ายมาแต่แรก และหากจะกันเขาออกจากสังคมแต่เขาก็ไม่ได้ทำอันตรายคนอื่น สิ่งที่เขาทำก็เป็นการทำธุรกิจการค้า การที่เช็คเด้งก็ไม่จำเป็นต้องแก้แค้นกัน” สรวิศ กล่าว

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า แม้ว่ารัฐจะออกนโยบายให้ความผิดต่อเช็คเป็นคดีอาญาซึ่งอาจช่วยลดต้นทุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคู่ความก็ต้องไปจ้างทนายฟ้องคดีแพ่งอีกเพราะคดีอาญาพิจารณาช้ามาก ใช้เวลาเฉลี่ย 21.2 เดือนต่อหนึ่งคดี คู่ความจึงต้องรีบฟ้องคดีแพ่งก่อนที่คดีจะหมดอายุความ (1 ปี) และพบว่าหลายกรณี การฟ้องคดีอาญาไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะให้หลักประกันการได้เงิน

ยังมีข้อมูลด้วยว่า คดีอาญาเรื่องเช็คจำนวนมากมีการจำหน่ายคดีรอให้คู่ความไกล่เกลี่ยตกลงกันให้ได้เสียก่อน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า คดีอาญาเป็นเพียงฉากหลังของการต่อรอง เพราะกรณีเช็ค สิ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาได้จริงคือการเจรจาของคู่ความมากกว่า โดยกฎหมายเอื้อให้เอาเสรีภาพของลูกหนี้เป็นตัวค้ำประกัน

นอกจากต้นทุนที่สังคมเสียไปราวพันล้านบาทในคดีเช็ค ที่ใช้ระยะเวลาพิจารณานานถึงเกือบสองปี ยังพบว่าด้วย ผู้เสียหายได้รับเงินคืนเพียงประมาณร้อยละ 65-80 ของมูลค่าหน้าเช็ค ผลสรุปหนึ่งของงานวิจัยเรื่องนิติเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกฎหมายเช็คจึงสรุปได้ว่า การใช้โทษทางอาญาเพื่อให้เช็คมีความน่าเชื่อถือเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ

ดร.สมเกียรติเห็นว่า การลงโทษทางอาญานั้นควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะกฎหมายอาญาเป็นมาตรการทางกฎหมายที่รัฐล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีผลรุนแรงที่สุด

ในงานวิจัยของดร.สมเกียรติและคณะยังชี้ให้เห็นความลักลั่นของการใช้ความผิดทางอาญาต่อคดีเช็ค ข้อสังเกตแรกเป็นเรื่องการเปรียบเทียบการชำระหนี้ด้วยเช็คกับการชำระหนี้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น หากลูกหนี้มีหนี้ที่ต้องชำระ สมมติซื้อขายลูกวัวกัน เมื่อชำระหนี้ด้วยเช็คแล้วผู้รับเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ ผู้ออกเช็คผิดอาญาทันที แต่ถ้ากลับกัน ไม่ได้ชำระด้วยเช็คแต่ชำระด้วยสิ่งอื่น เช่น สัญญาใช้เงิน ธรรมดา หากเรียกเก็บเงินไม่ได้ก็ไปฟ้องเรียกร้องทางแพ่งธรรมดา

นิยายทางกฎหมายเรื่องที่ 1 เช็คกับการชำระเงินวิธีอื่น

                           เช็ค

                                                                                                  คดีอาญา

                            วิธีชำระเงินอื่น

                                                    คดีแพ่ง

ทั้งที่ผลคือ ชำระหนี้แล้วแต่ไม่ได้เงินมาเหมือนกัน แต่วิธีหนึ่งการผิดทางอาญามีโทษจำคุก อีกวิธีหนึ่งกลับไม่ เมื่อหาบรรทัดฐานทางกฎหมายมาอธิบายไม่ได้ ดร.สมเกียรติจึงเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ‘นิยายทางกฎหมาย’

แต่นิยายทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเช็คยังไม่จบ คือในกรณีที่ผู้กู้ได้รับเงินจากผู้ให้กู้ก่อน เมื่อถึงวันชำระเงินกู้ ผู้กู้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้แต่นำไปขึ้นเงินไม่ได้ ผู้กู้ผิดอาญาทันที แต่กลับกัน หากผู้กู้เขียนเช็คเอาลงวันที่ล่วงหน้าก่อนจะกู้เงิน แล้วค่อยไปขอกู้เงินแล้วจ่ายด้วยเช็คล่วงหน้า เมื่อถึงวันครบกำหนดปรากฏว่าขึ้นเงินไม่ได้ ศาลฎีกาเคยตัดสินว่า ผู้ออกเช็ค (ผู้กู้) ไม่ผิดอาญา เพราะขณะออกเช็คยังไม่มีหนี้ที่มีอยู่จริง ผู้ให้กู้ฟ้องได้เพียงคดีแพ่ง

นิยายทางกฎหมายเรื่องที่ 2 หนี้ที่มีอยู่

                              เช็คชำระหนี้

                                                                                                   คดีอาญา

                                เช็คกู้เงิน

                                                                                                     คดีแพ่ง

ดร.สมเกียรติ จึงเห็นว่า ด้วยลักษณะนี้เท่ากับรัฐประดิษฐ์ให้เช็คกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์วิเศษ

ดร.สมเกียรติ เห็นว่าควรกำหนดหลักเกณฐ์เสียใหม่ เช่นให้เป็นคดีที่ผู้เสียหายเท่านั้นที่ฟ้องได้ มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการฟ้องอาญาคดีเช็ค และลดหลักทรัพย์ในการประกันตัวไม่ให้สูงเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดร.สมเกียรติเห็นว่าควรยกเลิกโทษอาญาในคดีเกี่ยวกับเช็คเสียเลย

คณะวิจัยเสนอทางเลือกในระดับนโยบายว่า น่าจะขยายนิยามของข้อมูลเครดิต โดยให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตออกประกาศให้เช็คเป็น ‘สินเชื่อ’ ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต หรือแก้ไขนิยามใน พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ โดยรวม ‘ประวัติการใช้เช็คหรือเช็คที่ถูกปฏิเสธ อันเนื่องมาจากไม่มีเงินเพียงพอในบัญชี’ โดยให้ บริษัท ข้อมูลเครดิต จำกัด (หรือเครดิตบูโร) เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สำหรับการบันทึกข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของบุคคลนั้น เป็นช่วยในการตัดสินใจสำหรับผู้รับเช็คว่า เขาควรจะรับจากบุคคลนี้หรือไม่

ด้าน ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกความผิดเรื่องเช็คเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อันเนื่องมาจากว่าเราเป็นสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  ที่ว่า ห้ามรัฐใดจำคุกเพียงไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ และในเรื่องความผิดเกี่ยวกับเช็คก็ไม่เข้าลักษณะของทฤษฎีความผิดทางอาญาเลย

ดร.ปกป้อง ยังเสนอถึง รูปแบบความรับผิดเกี่ยวกับเช็คในประเทศฝรั่งเศส ที่ใช้มาตรการทางธนาคารเข้ามาช่วย โดยจะมีศูนย์ข้อมูลทางด้านเช็ค เมื่อเกิดเช็คเด้ง ธนาคารก็จะแจ้งข้อมูลไปยังศูนย์นี้ และข้อมูลจากศูนย์นี้ก็จะถูกแจ้งไปยังทุกธนาคารว่า บุคคลนั้นออกเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการชำระเงิน ผลก็คือ เขาจะถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเวลา 5 ปี

ต่อเมื่อบุคคลที่ออกเช็คเด้ง ไปชำระเงินผู้ส่งเช็ค ก็จะทำให้สิทธิเขากลับคืนมา แต่ไม่ใช่ทันทีเลย อาจมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อเป็นการลงโทษ ซึ่งจะทำให้เช็คมีความน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที

ดร.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า หากบุคคลนั้นอยู่ในระยะเวลาห้ามทำธุรกรรมอันเนื่องมาจากออกเช็คเด้ง แล้วยังขืนออกอีก กรณีนี้ถือว่ามีเจตนาฉ้อโกงแล้ว ก็มีความผิดทางอาญาได้

 

 

 

 

………………………….

 

[1] การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับเช็คนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2497 และออกฉบับใหม่ในปี 2534 ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

      พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า

     “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

       เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ”