พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ : ต้องเผาตำราหลักวิชาชีพทิ้ง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ได้จัดวงอภิปราย ในหัวข้อ “14:15:20:112 พ.ร.บ.คอม/ป.อาญา : ถอดรหัสฟ้าตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์”ขึ้น ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่

อ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์

ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมี อ.สาวตรี สุขศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ

.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ  : ผมขอกล่าวเรื่องกฎหมายอาญานะครับว่ามันมีหลักการในกรณีมาตรา 112 (ของประมวลกฎหมายอาญา) คือในกรณีนี้ก็เป็นอย่างที่ อ.เดวิด และท่าน อ.จอนได้กล่าวไว้นะครับว่า ทุกคนจะใช้เป็นเครื่องมือ และดูเหมือนว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นเป็นกฎหมายที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีการตรวจสอบต่อว่ากฎหมายตัวนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

ประเทศไทยมักตีความมาตรา 112 เกินเลยตัวบท

ในกรณีที่ต่างชาติถูกดำเนินคดี รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมากๆ ถึงขนาดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นมาและก็ได้ให้ความเห็นมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าในกรณีพิจารณาว่าจะผิดมาตรา 112 หรือถ้าเป็นกรณีที่ชาวต่างชาติถูกดำเนินคดีให้พิจารณาจากเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ความเข้าใจในชีวิตอะไรอย่างนี้นะครับ คือไม่ได้แนะมาว่าให้สั่งไม่ฟ้องนะครับเพียงแต่ชี้มาว่าให้มีการพิจารณา ซึ่งจริงๆก็คือสั่งไม่ฟ้องโดยนัยแต่ว่าก็ไม่ได้พูดกันตรงๆ เพราะว่าถ้ากระแสเปลี่ยนขึ้นมาก็จะซวยกันไป เหมือนกับวันนี้ที่มีสันติบาลเข้ามาฟังด้วยก็ไม่แน่ใจว่าหลังจากวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าจริงๆมันเป็นเรื่องของวงวิชาการ

ผมเชื่อนะครับว่าถ้าท่านเป็นนักกฎหมาย ตำรวจ อัยการ ศาล หรือนักวิชาการถ้าซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพท่านจะต้องตอบคำถามตัวเองว่ามาตรา 112 มันควรจะเป็นอย่างไร หลักกฎหมายอาญาที่ชัดเจนมีการตีความที่เคร่งครัด จะตีความโดยใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีมาตีความไม่ได้ คุณจะนำแนวคิดการสรรเสริญเยินยออะไรมาตีความขยายกว่าตัวบทไม่ได้นั่นคือนั่นคือหลัก ซีวิลลอว์ ของประเทศไทย ถ้าทุกคนยึดมั่นในหลักวิชาชีพคือโปรเฟสชัลนอลเมื่อไร เชื่อว่าจะมีคดี 112 น้อยมากเพราะที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายหมิ่นมากจริงๆ

มาตรา 112 ไม่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ถ้าลองย้อนกลับไปดู ขอยกตัวอย่างประเทศจีน ถ้าเป็นสมัยยุคสามก๊กล่มสลายก็คือ ขันทีทั้งสิบแอบอ้างฮ่องเต้ ซึ่ง รอยัลลิสต์ (ผู้สนับสนุนการมีกษัตริย์) คือตัวทำลายสถาบันโดยแท้ นี่ก็คือสิ่งที่ อ.จอนพูดไปแล้วว่าคนที่เป็นรอยัลลิสต์จริงๆนั่นแหละที่เป็นคนทำให้เกิดปัญหาถ้าท่านซื่อสัตย์ในหลักวิชาชีพ จะต้องดูองค์ประกอบ ซึ่งกฎหมายมาตรา 112 กำหนดองค์ประกอบไว้ 3 ประการคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย นั่นแปลว่ามันไม่รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ การวิพากษ์วิจารณ์ในกรอบรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ ถ้าคุณเชื่อมั่นว่าคุณยังอยู่ในรัฐธรรมนูญและคุณยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นี่คือหลักจริงๆของการตีความตามหลักโปรเฟสชัลนอลหลักของการเป็นวิชาชีพนักกฎหมาย

องค์กรของรัฐใช้กฎหมายผิดหลักการ

มีคำถามจากสาธารณชนมากว่ายังมีเหลืออยู่หรือนักกฎหมายตามวิชาชีพ ผมก็คิดว่าไม่เหลือแล้ว ต้องเผาตำราหลักวิชาชีพทิ้งเพราะว่ามันไม่เหลือแล้ว คือศาลทุกศาลก็ตีความกันไปเรื่อย เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจอัยการหรืออะไรก็แล้วแต่ก็พยายามตีความให้กว้างที่สุด ตัวนี้ผมหวั่นใจในแง่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่รัฐสร้างมาตรฐานที่ผิด ทำให้ต่อไปข้างหน้าอาจมีการตั้งคำถามว่าสมควรจะมีองค์กรเหล่านี้อยู่ต่อไปหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตำรวจ อัยการ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างคณะกรรมการสิทธิ

ยกตัวอย่างให้เห็นว่าไม่มีองค์กรไหนเลยที่พยายามรักษาโปรเฟสชัลนอลโดยหลักวิชาชีพของตัวเองในการตีความ กรณีมาตรา 112 เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่ามันจะต้องมีการกระทำผิดที่เรียกว่าการหมิ่นประมาทซึ่งเอามาตรา 326 มาใช้ มาตรา 326 หมิ่นประมาท คือกล่าวต่อบุคคลที่สามให้ร้ายว่าเขาชั่วร้าย หรือกรณีที่สองคือการดูหมิ่นคือการด่าว่าร้ายซึ่งไม่รวมคำหยาบ คือต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต้องเอามาตรา 326 กับมาตรา 136 มาใช้ ซึ่งจริงๆ แล้วการนำมาตรา 326 กับมาตรา 136 มาใช้ไม่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์และไม่เกี่ยวกับการด่าทอ การกล่าวคำหยาบ หรือการแสดงกริยาใดๆ ซึ่งไม่ใช่การดูหมิ่นการทำให้เสื่อมเสีย การทำให้ตกต่ำ ถูกด้อยค่า วิธีการแบบนั้นถือว่าไม่เข้าเลย

แต่ในทางข้อเท็จจริงไม่ว่าจะหน่วยงานไหนในประเทศไทยที่บังคับใช้กฎหมายก็จะตีความตั้งแต่พฤติการณ์อันแรกย้อนไปดูพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วว่าหมอนี่ทำอะไรยังไง ดูในภาพรวมเสร็จก็สรุปว่าหมิ่น ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊คของท่าน สมมุติว่าท่านมีรูปตู้กดเอทีเอ็มอันหนึ่ง ถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนั้นก็จะตีความไปเรื่อยๆ ทำไมต้องเอามาโพสต์? มีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่? โพสต์เพื่อให้เกิดการด่าทอหรือไม่? ก็จะว่ากันไปเรื่อยแล้วก็สรุปว่าหมิ่นทันที หรือกรณีไม่ยืนในโรงภาพยนตร์มันจะเข้าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอย่างไร ผู้ทำหน้าที่จะดูพฤติการณ์ผู้กระทำ ตีความไปจนกลายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่มีใครกล้าตีความตามหลักวิชาชีพ ผลักภาระโดยการฟ้องไปก่อน แม้ตำรวจจะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ผลักภาระไปยังผู้ถูกกล่าวหาหมด เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างเอาตัวรอดยิ่งทำยิ่งก่อให้เกิดปัญหา

สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่เหนือการเมือง

อีกตัวอย่างคือ เคยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงเรียกผมไปถาม คงเห็นว่าผมอ่านภาษาอังกฤษออกบ้างเพราะมีคอลัมนิสต์ชาวต่างชาติพูดถึงเหตุการณ์ตอนพันธมิตรยึดสนามบิน นักคอลัมนิสต์คนนี้เขียนว่าการเดินทางกลับประเทศลำบากมากจะเดินทางกลับประเทศก็ต้องเดินทางลงใต้ขึ้นสนามบินโน้น สนามบินนี้โดยไม่มีใครออกมาแก้ไขสถานการณ์ให้ และเขียนว่าแม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องเป็นกลางอย่างยิ่ง ไม่สามารถออกมาจัดการปัญหาได้ ปรากฏว่ามีการพยายามที่จะดำเนินคดีกับคอลัมนิสต์ ผมบอกว่ากรณีนี้ไม่ผิด เพราะคอลัมนิสต์เค้าเพียงแต่บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกลางทางการเมือง จริงๆตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถ้าเราพูดถึงประเทศไทย พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็น เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ มาตั้งแต่รัชการที่ 1 นั่นแปลว่าต้องทรงฟังเสียงประชาชน กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ทรงยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจะทรงกระทำการใดๆ ได้ต้องผ่านองค์กรหลักนั่นแปลว่าพระมหากษัตริย์ทรงไม่ทำอะไรเอง ในฐานะนี้แหละครับที่จะทรงอยู่เหนือการติชม เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ต้องทำผ่านองค์กร เราจึงเห็นว่ากษัตริย์ทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะว่าพระองค์จะทำอะไรต่อเมื่อมีคนลงนามสนองพระบรมราชโองการ

เรียกร้องตำรวจยึดมั่นวิชาชีพ

นี่คือตัวอย่างนะครับว่าสังคมไทยตีความจนเลอะเทอะไปหมดแล้ว แล้วก็ไม่มีใครกล้าตีความให้มันถูกต้องเพราะว่าถ้าตีความแบบนั้นภาระบนบ่าที่มันอยู่บนตัวของผู้ต้องหามันมาอยู่บนบ่าของตัวเราเอง ซึ่งผมว่าคิดสั้นเกินไปเพราะจริงๆหากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นหรือเจ้าพนักงานคนนั้นฉลาดและคิดว่าจะต้องผดุงความยุติธรรมในสังคมให้ปรากฏ หลักวิชาชีพที่เค้ายึดมั่นนี่แหละที่จะเป็นเกราะป้องกัน จริงๆ เป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องพิจารณาให้หนักในอนาคต ต้องแสดงจุดยืนว่าเราเป็นผู้มีวิชาชีพนะ  เรากินเงินเดือนประชาชน เราจะต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน 

ผมจึงยกตัวอย่างสามก๊กขึ้นมาให้ดูที่ท้ายที่สุดคนที่ใกล้ชิดสถาบันที่สุดก็ฆ่าสถาบันทิ้งและช่วงชิงราชบัลลังค์ ในสังคมไทยเราก็เห็นอยู่ตัวอย่างคนที่อ้างสถาบัน จงรักภักดีต่อสถาบันก็ทำอย่างเดียวกันอ้างสถาบันในการหาผลประโยชน์ตลอด ที่อ้างได้เช่นนี้เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีหลักโปรเฟสชัลนอล ไม่มีหลักความกล้าหาญ ไม่ได้ยึดหลักวิชาชีพที่จะตัดสินปัญหาตีความกฎหมายให้ถูกต้องเที่ยงตรงเป็นธรรม

เสนอ…กฎหมายหมิ่นยังคงต้องมีแต่ควรปรับปรุงบางจุด

นอกจากตัวบทไม่ชัดเจนแล้วว่าดูหมิ่นคืออะไรหมิ่นประมาทคืออะไรไม่ให้แก้ตัว ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ในทางสุจริตที่ถูกต้องที่ทำได้ กับเรื่องของอัตราโทษในสมัยรัชการที่ 5 ที่ได้มีการตรากฎหมายนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีนะครับนั่นคือยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พอมายุคประชาธิปไตยกลายเป็นไม่เกิน 15 ปีนี่คือตัวอย่างว่ามันเป็นปัญหาไปหมดถ้าเราจะพูดถึงปัญหา แต่ถามว่าต้องยกเลิกไหมผมบอกว่าไม่ต้องยกเลิกเพราะว่าทั่วโลกเค้ามีกฎหมายที่จะคุ้มครองผู้นำในฐานะที่เป็นประมุขของแผ่นดิน เพราะเราอยากให้มีสถาบันนี้แล้วก็เป็นที่รักเป็นศูนย์รวมของจิตใจ สถาบันนี้ก็สร้างคุณงานความดีให้กับแผ่นดินนี้มาเยอะแล้วก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการพิจารณาถึงจุดที่ควรจะปรับปรุงที่ผมคิดว่าบางทีก็อาจจะต้องตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วมันจะต้องทำยังไงต่อไป ก็มีแค่นี้ครับ ขอบคุณครับ