จอน อึ๊งภากรณ์ : คนที่ปกป้องสถาบันมากที่สุดคือคนทำลายสถาบันมากที่สุด

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ได้จัดวงอภิปราย ในหัวข้อ “14:15:20:112 พ.ร.บ.คอม/ป.อาญา : ถอดรหัสฟ้าตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์”ขึ้น ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่

อ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์

ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมี อ.สาวตรี สุขศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

อ.จอน อึ๊งภากรณ์

อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ : สวัสดีครับที่ผมฟังงานวิจัย (การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมายและแนวนโยบายแห่งรัฐไทย) วันนี้ก็เกิดคำถามหลายๆคำถาม คำถามแรกก็คือประเทศไทยปิดกั้นเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นไหม ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ตอบยากนะ ที่พยายามเสนอว่ามีเส้นแบ่งคือทางยุโรปมีเสรีภาพทางเอเชียไม่มีเสรีภาพ ผมไม่แน่ใจ

เอาแค่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางการสามารถเข้าไปดูได้ว่าแต่ละคนเข้าเว็บอะไรบ้าง นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล หรือในกรณีของประเทศเยอรมัน คุณจะแสดงความคิดเห็นซ้ายเกินไปก็ไม่ได้ ขวาเกินไปก็ไม่ได้ ผมอาจจะยอมรับได้ในกรณีเรื่องการปิดกั้นการละเมิดหรืออนาจารเด็ก อันนี้ผมว่าเป็นมาตรการสากล ผมยอมรับได้ว่าแบบนี้เป็นเสรีภาพ แต่ผมว่าสิ่งที่เราจะสรุปได้คืออำนาจรัฐทั่วโลกเหมือนกันหมด คืออำนาจรัฐต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอาศัยการใช้คำพูด จะมีการใช้คำพูดเรื่องความมั่นคง หรือคำพูดเกี่ยวกับเรื่องของศีลธรรมอันดีงาม หรือการต่อสู้กับสงครามก่อการร้าย

เมื่อดูพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550) ผมก็นึกถึง พ.ร.บ. ทางหลวงในสมัยที่ผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นการผลักดันโดยรัฐบาลทักษิณ ซึ่ง พ.ร.บ.ทางหลวงเป็นกฎหมายธรรมดาๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่ทางหลวง แต่ก็มีการสอดไส้เข้าไปมาตราเดียวว่าห้ามชุมนุมบนทางหลวงก็คือทุกถนนในพื้นที่ประเทศไทย กรณีนี้ก็คือต้องการจำกัดสิทธิในการชุมนุม ผมก็สู้เรื่องนี้ในสภา เขาก็บอกให้ไปชุมนุมในสวนสาธารณะ อันนี้ก็เป็นรัฐบาลไทยรักไทยที่ผลักดันในเรื่องนี้ ผมก็ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญตีความชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญกฎหมายนี้จึงถูกยกเลิกไป เช่นเดียวกัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ถูกสอดไส้เช่นกัน ถูกสอดไส้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

กฏหมายหมิ่นประมาทก็เป็นเครื่องมือใช้จำกัดเสรีภาพ

การจำกัดเสรีภาพมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องมาตรา 112ไม่ใช่เฉพาะพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป คดีหมิ่นประมาททั่วไปถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนักการเมืองก็ใช้กฎหมายนี้บ่อยครั้ง พยายามฟ้องคนที่กล่าวหานักการเมืองหรือพยายามที่จะตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งจริงๆนักการเมืองต้องถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ

ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตราบเท่าที่ยังไม่กระทบต่อสถาบัน

อาจจะมีอีกคำถามหนึ่งว่าประเทศไทยค่อนข้างมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตราบใดที่ไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ ใครค่อนข้างเห็นด้วยกรุณายกมือ (มีคนบางส่วนในห้องประชุมยกมือ ส่วนใหญ่ไม่ยกมือ) น้อยมากแต่ผมจะยกมือนะ

ใครค่อนข้างไม่เห็นด้วยกรุณายกมือ (มีคนบางส่วนในห้องประชุมยกมือ จำนวนมากกว่าครั้งแรกนิดหน่อย แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งห้องประชุม) ที่เหลือไม่มีความเห็น

ผมคิดว่าจริงในทางปฏิบัติ แต่ไม่จริงในทางทฤษฎีคือจริงในทางปฏิบัติหมายความว่า คือความน่ากลัวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันเปิดโอกาสให้จำกัดสิทธิเสรีภาพในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้เกือบทุกเรื่อง แต่ในทางปฎิบัติก็เป็นอย่างที่งานวิจัยนี้แสดงนะครับ ก็คือเว็บไซต์ถูกปิดก็จะปิดเรื่องหมิ่นประมาทสถาบันและถูกปิดในเรื่องลามกอนาจาร เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงคือประเทศไทยในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันค่อนข้างปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเสรีตราบใดที่ไม่ได้มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เลย แต่กฎหมายบางฉบับโดยเฉพาะพ.ร.บ.คอม พ.ร.ก.ฉุกเฉินรวมถึงกฎอัยการศึกและพ.ร.บ. ความมั่นคง กฎหมายเหล่านี้เปิดโอกาสการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเรื่องที่กว้างกว่าเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่เคยมีใครกล้าใช้ คือรัฐบาลไหนก็ไม่ค่อยกล้าใช้เพราะใช้แล้วมันแสดงชัดเจนว่าเป็นการปิดกั้นการแสดงความเห็นของคนที่เห็นต่างกัน เพราะฉะนั้นเค้าก็จะใช้มาตรา 112 เอาเรื่องสถาบันกษัตริย์มาปิดปากมากกว่าที่จะเอาเรื่องการโจมตีในเรื่องต่างๆ ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปคือ เรามีเสรีภาพที่จะพูดได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องสถาบันกษัตริย์นั้นเราเดือดร้อนไหมอันนี้ถามความเห็น

ใครค่อนข้างเห็นด้วยว่าเดือดร้อนกรุณายกมือครับ (มีคนบางส่วนในห้องประชุมยกมือ ส่วนใหญ่ไม่ยกมือ)

ใครค่อนข้างไม่เห็นด้วยว่าเดือดร้อนกรุณายกมือครับ (มีคนยกมือ แต่น้อยมาก)

ระบบวัฒนธรรมของไทยเป็นตัวปิดกั้นความคิด

ผู้เข้าร่วมการเสวนายกมือขอพูดแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า ในประเด็นนี้ที่พยายามตั้งคำถามมานี้มันขัดแย้งกับความรู้สึกจริงๆในชีวิตประจำวัน คือเราถูกเซ็นเซอร์กระบวนการทางความคิด ลูกก็ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นต่อพ่อแม่ นักเรียนก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อครู อาจารย์ และประชาชนก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อผู้นำหรือสถาบันที่พูดถึง คือมันครอบงำกระบวนการความคิดของคนไทยอยู่เวลานี้ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง ก็อยากจะชี้ให้เห็นมุมมองในส่วนนี้ คือต้องการจะบอกว่ามันมีกระบวนการปิดปากทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แต่กระบวนการทางกฏหมายเพียงอย่างเดียว

คนที่ปกป้องสถาบันมากที่สุดคือคนทำลายสถาบันมากที่สุด

ประเด็นที่ผมตั้งคำถามคือผมเห็นว่าเราเดือดร้อนเหมือนกันที่เราไม่สามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ก็จะมีคำถามว่าทำไมเดือดร้อน ผมคิดว่าคนข้างผมจะเห็นด้วยกับผมนะคือผมคิดว่าคนที่ทำลายสถาบันกษัตริย์มากที่สุดก็คือคนที่แสดงตัวว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์อยู่ในปัจจุบันนี้และกระบวนการที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้นคือกระบวนการทำลาย การไม่ให้คนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ยกเว้นจะต้องสรรเสริญอย่างเดียวนั้นคือการปิดปากประชาชน เมื่อปิดปากประชาชนประชาชนเขาก็จะไปคุยกันที่บ้านกระซิบกันไปกระซิบกันมาข่าวลืออะไรที่ปิด ปิดกันไปปิดกันมาก็รู้กันทั้งประเทศเพียงแต่ว่าห้ามออกมาในที่สาธารณะแล้วข่าวลือนั้นมันจริงไม่จริงมันไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลย ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพราะอะไร ก็เพราะว่าคุณไม่สามารถจะถามใครได้ คุณจะไปถามหนังสือพิมพ์ว่าเรื่องนี้จริงไหม คุณจะไปออกโทรทัศน์เพื่อถามใครว่าข่าวลือที่ผมได้มานี้จริงหรือไม่จริง แบบนี้มันไม่มีทางเลย จริงๆคนที่ทำลายสถาบันกษัตริย์คือคนที่แสดงตัวว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ในลักษณะการไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ กฎหมายที่ทำลายสถาบันกษัตริย์คือกฎหมายที่ห้ามไม่ให้พูดถึงสถาบันกษัตริย์

หลังรัฐประหาร 2549 ทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเราไม่ปกติ

ประเด็นที่หลังปี 2549 ทำไมคนถึงอยากจะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เพราะว่าคนมีคำถามที่อยากจะได้คำตอบ อยากจะได้ความกระจ่างแต่ถามไม่ได้ เมื่อถามไม่ได้ก็เดาเอาเองสมมุติเอาเองหรือระบายออกทางเว็บไซต์ต่างๆอยากรู้อันนี้จริงไหม คนอยากรู้และมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อันนี้คือปัญหา ซึ่งมันทำให้เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยแบบปกติได้ แต่เรามีสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่างจากระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไปก็คือระบอบประชาธิปไตยที่ครอบคลุมสถาบันกษัตริย์ด้วย และระบอบประชาธิปไตยที่ครอบคลุมสถาบันกษัตริย์คือมันทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในสภาพที่ปกติ ไม่ผิดปกติ สถาบันกษัตริย์ที่เป็นปกตินั้นสังคมจะให้ความเคารพโดยธรรมชาติ ไม่ได้ต้องมีใครบอกให้มาเคารพ สังคม คนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ 

อังกฤษสามารถวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้

ในประเทศอังกฤษมี ส.ส.หลายคนที่ชอบวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ก็มักตั้งคำถามเรื่องงบประมาณของสำนักพระราชวังว่าทำไมได้งบประมาณเยอะไปน่าจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยดีไหม ส.ส.พวกนี้จะพูด แต่ไม่มีใครสนใจ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอยากจะเลิกเพราะเค้ารู้สึกว่าสถาบันไม่เคยทำให้เค้าเดือดร้อน ก็ดีซะอีกมีสถาบันกษัตริย์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นสถาบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นในระบบประชาธิปไตยที่เป็นปกติที่การเมืองเป็นปกติ ไม่ได้ปิดกั้นรุนแรงแบบประเทศไทย การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ใครอยากจะพูดก็พูดไป อยากจะตั้งคำถามก็ตั้งไป จะล้อเลียนก็ได้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้

ควรยกเลิกพ.ร.บ.คอมบางมาตราที่เป็นปัญหาโดยเสียงประชาชน

โดยปกติ ผมเองเห็นว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตราที่เป็นปัญหาทั้งหลายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต้องยกเลิกให้ได้ และต้องยกเลิกโดยพลังของประชาชนคือผมยังเชื่อว่าต้องใช้เสียงประชาชนลงชื่อกันยกเลิกแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งหมด แต่ต้องยกเลิกมาตราที่มีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ผมคิดว่ายังต้องใช้พลังของประชาชนยกเลิก กฏอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคงก็ควรจะต้องยกเลิก

กฎหมายหมิ่นสถาบันต้องไม่นำมาใช้เป็นเกมการเมือง

กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรจะต้องมีดีเบตว่าจะจัดการอย่างไรดี ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรา 112 โดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์และคนที่อยู่ในสถาบันกษัตริย์ต้องมีโอกาสที่จะปกป้องตัวเองจากการดูหมิ่นเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป คืออาจจะต้องมี แต่แน่นอนมันจะต้องรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีโทษตั้งแต่ 3 ปีถึง15 ปีซึ่งมันเป็นเรื่องผิดปกติของทั่วโลก ต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปัจจุบันเราจะเห็นสภาพแปลกคือทุกฝ่ายสามารถถูกคดีหมิ่นได้หมดตั้งแต่คุณสนธิก็เป็นคนที่ถูก คนที่อยู่ฝ่ายเหลืองก็โดนคนที่อยู่ฝ่ายแดงก็โดน และการกล่าวหานั้นใครก็ได้สามารถไปกล่าวหาที่สถานีตำรวจที่ไหนในประเทศไทยก็ได้ อันนี้น่ากลัวเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ติง! บังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ถูกจุด

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมแปลกใจมากในวันนี้ก็คือ เรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดเว็บไซต์ผมมีข้อสงสัยมากคือเว็บไซต์นี้มันไม่มีภูมิศาสตร์ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีภูมิศาสตร์ เช่น สมมุติว่าอยุธยาไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่กรุงเทพมีแล้วคุณบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากกรุงเทพไปปิดเว็บไซด์อันหนึ่ง คุณจะปิดอย่างไร คุณปิดไม่ให้คนกรุงเทพดูแต่คนอยุธยาดูได้หรืออย่างไร คือโลจิกของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะใช้ในบางจังหวัดและไม่ใช้ในบางจังหวัดล้วนนำมาใช้ในการปิดเว็บไซต์มันเป็นเรื่องที่แปลก

แนะ…งานวิจัยให้เพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้น

สุดท้าย งานวิจัยวันนี้ผมมีข้อสังเกตนิดเดียวคือเรื่องของ ยูอาร์แอล (URL) ซึ่งอาจจะมีหลายคนที่ใช้คำว่า ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ด้วยกันผมคิดว่าคำว่า 74,000 หรือ 300,000 ยูอาร์แอล ถ้าเป็นผม ผมจะอยากรู้คำถามว่าทำไมปิดโดเมนเนม ถูกปิดทั้งชุดหรือถูกปิดบางส่วน คืออยากจะได้ละเอียดกว่านี้ว่าจริงๆมันเป็นอย่างไร เช่น ประชาไทที่ถูกบล็อคมันมีกี่ ยูอาร์แอล กันแน่ทั้งที่มันเป็นหนึ่งเว็บไซต์ อาจเป็นหนึ่งเว็บไซต์แต่ปิดเป็นหมื่น URL หรือไม่ ผมคิดว่างานวิจัยน่าจะต้องชัดเจนมากขึ้น และอาจจะยังจะมีคำถามอีกหลายคำถามต่อไป ขอบคุณครับ