ธีระ สุธีวรางกูล : ทำไม? การหมิ่นสถาบันจึงเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ได้จัดวงอภิปราย ในหัวข้อ “14:15:20:112 ...คอม/.อาญา : ถอดรหัสฟ้าตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์ขึ้น ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่

อ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์

ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการส่วนตรวจสอบสำนวนคดีอุทธรณ์และฎีกา  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมี อ.สาวตรี สุขศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

อ.ธีระ สุธีวรางกูร

อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร : สวัสดีครับทุกท่าน ผมดูหัวข้อที่ท่านอาจารย์สาวตรี ได้ตั้งไว้แล้วให้ผมช่วยมาอธิบายและแสดงความเห็น 14, 15, 20 พ.ร.บ.คอมฯ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ถอดรหัสฟ้าตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์ หัวข้อการเสวนานี้เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างจะไม่น่าพูด โดยเฉพาะในประเทศที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างถูกจับตามอง แต่ด้วยที่อาจารย์สาวตรีเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์นิติราษฎร์ ผมจึงไม่อาจปฏิเสธคำเชิญของท่านได้ ถ้าฉีกก็ต้องฉีกด้วยกัน ถ้าผิดก็ต้องผิดด้วยกัน เราต้องหยิบหัวข้อแบบนี้ และยังต้องรับเชิญมาพูดโดยเหตุผลที่ว่ามิตรแท้ก็จะดูกันในยามยาก โดยหัวข้อพูดถึงเรื่อง เสรีภาพของโลกออนไลน์

เสรีภาพของโลกออนไลน์คืออะไร? ตอนนี้ผมว่าคงไม่มีใครสงสัยว่ามันคืออะไร เพราะว่าสิ่งเราต้องการจะพูดกันในวันนี้คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็อย่างที่ทุกท่านทราบว่ามันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และไม่เฉพาะแต่รัฐธรรมนูญในปี 50 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันเท่านั้น รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ได้มีบทบัญญัติที่รับรองในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเสรีภาพทุกชนิดที่รัฐธรรมนูญรับรองยกเว้นเสรีภาพในเรื่องมโนธรรมสำนึกที่เป็นเรื่องของความคิด ตัวรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้รัฐมีอำนาจไปจำกัดได้เสมอ โดยกำหนดเงื่อนไขหลักๆ อยู่สองสามข้อด้วยกัน คือ หนึ่งอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ก็คือกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่มีศักดิ์เทียบเท่าตามพระราชบัญญัติ และสองถึงแม้จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่ก็เป็นไปเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น

นอกเหนือจากนั้นก็คือ ไม่ว่าคุณจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายอะไรเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแบบไหน การใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะต้องเป็นไปบนพื้นฐานของหลักการได้สัดส่วนหรือหลักพอสมควรแก่เหตุ นี่เป็นกรอบกว้างๆที่ทุกท่านทราบว่าเรามีการรับรองเสรีภาพเอาไว้ตามนี้ เสรีภาพในโลกออนไลน์ก็เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45  แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่าแม้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์จะได้รับการรับรองก็ตามแต่เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางนี้ได้มันก็มีการออกกฎหมายขึ้นมาจำกัดการใช้เสรีภาพในส่วนนี้

จุดกำเนิดของ พ...คอมฯ อยู่ที่การจำกัดความคิดของฝ่ายตรงกันข้าม

กฎหมายสำคัญที่เป็นเรื่องที่นำมาอภิปรายกันในวันนี้ก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาถึงตรงนี้ผมอยากให้ท่านตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นก่อนว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ออกมาในช่วงที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติแต่เป็น พ.ร.บ.ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราขึ้นเมื่อปี 2550 นั่นหมายความว่าเป็นการตรากฎหมายขึ้นมาในช่วงหลังจากที่ประเทศกำลังเจอกับวิกฤติทางการเมืองอย่างรุนแรง เป็นการตรากฎหมายในขณะที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 2549 แล้วก็เป็นการตรากฎหมายในขณะที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจผ่านสภานิติบัญญัติและผ่านฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นข้อสังเกตที่ท่านควรจะตั้งเป็นเบื้องต้นก็คือว่าถึงแม้เรื่องการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้จะสมควรที่จะมีกฎหมายนี้ แต่บริบทของการกำเนิดไม่ใช่บริบทเฉพาะในทางกฎหมายอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นมาในบริบทที่รัฐต้องการที่จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของฝ่ายการเมืองฝ่ายตรงข้าม จุดกำเนิดที่มาแบบนี้ในที่สุดมันก็นำมาสู่การใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550 ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นข่าวปรากฏอยู่เรื่อยๆว่ามีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้

ความผิดตาม พ...คอมฯ ถูกเชื่อมโยงกับความผิดหมิ่นสถาบัน

ผมจะเข้าสู่ใจความสำคัญของเรื่องเลยก็คือ แม้รัฐธรรมนูญมีการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สามปีที่ผ่านมารัฐพยายามจะบอกว่ามีการละเมิด พ.ร.บ.ฉบับนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่สิ่งที่ท่านจะต้องให้ความสนใจนั่นก็คือว่าการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มันเกี่ยวข้องอย่างไร? ก็เกี่ยวข้องตรงที่ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดไว้ในมาตรา 14 (3) ว่าการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีผลเกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้ถือว่าเป็นความผิดแล้วก็การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ มันอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐเพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจึงถูกนำมาใช้โดยปริยายนอกจากผ่านทางประมวลกฏหมายอาญามาตรา112 แล้วมันก็ถูกนำมาใช้ผ่านทางพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในมาตรา14 (3) คำถามก็คือว่าทำไม? การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทสถาบันจึงปรากฏขึ้นอย่างมีนัยยะที่สำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านต้องการจะนำไปวิเคราะห์กับบริบททางการเมืองหลังการรัฐประหาร มาถึงทุกวันนี้ทำไมเรื่องนี้จึงมีอยู่และไม่ลดจำนวนลง

คำถามในทางกฎหมายคือ สิ่งที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน ผิดถูกอย่างไรนั่นเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย แต่คำถามสำคัญทางการเมืองที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรต้องหาคำตอบให้ดี เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องหาคำตอบที่เหมาะสมให้ได้ หากตั้งโจทย์ผิดก็ได้คำตอบที่ไม่ถูก เจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามการเสวนานี้ต้องคิดให้หนัก แน่นอนว่าโดยสภาพของหัวข้อ โดยสภาพของเรื่องผมเองคงจะไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดได้ว่าเหตุผลของการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันมันมาจากอะไรกันแน่ แต่ว่าถ้าทุกท่านเป็นคนที่สนใจใคร่รู้จริงๆ ต้องหาคำตอบจากแท็กซี่ จากประชาชนในซอยบางซอย บางจังหวัด หรือบางภูมิภาค นั่นคือสาเหตุจริงๆซึ่งจะให้คำตอบได้ว่าทำไมวันนี้การแสดงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ที่ถูกตั้งข้อหาว่าอาจจะมีการละเมิดสถาบันยังมีการปรากฏอยู่ไม่หาย

ปัจจุบันสื่อออนไลน์เป็นตัวจักรสำคัญในการแสดงความคิดเห็น

วันนี้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือของแสดงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่ง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์นี่นะครับ เมื่อท่านนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์การเมืองซึ่งตอนนี้ประเทศเรากำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติและอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสภาวะอย่างหนึ่งไปสู่สภาวะอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ว่าภาวะอย่างหนึ่งที่เรากำลังจะเดินไปข้างหน้านั้นเป็นอย่างไร การใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นจะถูกนำมาใช้อย่างไม่หยุดหย่อน คนที่แสดงความคิดเห็นก็แสดงไป คนที่ทำหน้าที่จับกุมก็จับกุมไป แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่หยุด เพราะฉะนั้นตรงนี้เนี่ยถ้าท่านถามผมว่าสุดท้ายความผิดเรื่องการหมิ่นสถาบันจะหยุดลงเมื่อไหร่ ผมคงให้คำตอบไม่ได้แต่ถ้าจะให้ผมตอบก็คงต้องตอบแบบผู้นับถือศาสนาคริสต์เค้าพูดกันว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบกับท่านในอนาคต