สำรวจงาน กกต. สากล จัดเลือกตั้งแบบใดให้ผลไม่ออกช้า?

world election commission

“ให้ประกาศผลการเลือกตั้ง… ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่เลือกตั้ง”

ถ้อยคำดังกล่าวมาจาก ‘ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566’ หรือ ระเบียบ กกตฯ ส่วนที่ 2 การประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ข้อ 251 ที่ระบุให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สามารถใช้เวลาถึงสองเดือนกว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากว่า กกต. ทำงานล่าช้าเกินไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร

เพื่อจะสำรวจว่า กกต. ทำงานได้ล่าช้าจริงตามที่ถูกครหาหรือไม่ การทำงานของ กกต. ไทยจึงต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับการทำงานของ กกต. ประเทศอื่นทั้งประเทศใหญ่และประเทศเล็ก ไม่ว่าจะไกลบ้านหรือใกล้ตัว โดยใช้ฐานข้อมูลจากองค์การ ACE: Electoral Knowledge Network ที่รวบรวมข้อมูลการเลือกตั้งทั่วโลก

ข้อค้นพบสำคัญ คือ หลายประเทศระบุกรอบเวลาการทำงานของ กกต. ตนเองไว้รัดกุมและฉับไว แต่อีกหลายประเทศก็ไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนนัก ประหนึ่งว่าการ “ทำงานสำคัญให้ไวที่สุด” เป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ต้องระบุไว้ในกฎหมายให้เปลืองน้ำหมึก การเปรียบเทียบการทำงานระหว่างเรากับเขาจึงต้องยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งสำคัญของประเทศนั้นๆ มาประกอบด้วยเพื่อความชัดเจน

ไอลอว์จึงขอพาขึ้นเครื่องบินข้ามขอบฟ้าไปสำรวจการเลือกตั้งของ 4 ประเทศที่น่าสนใจ รวมทั้งความไวในการประกาศผลคะแนนที่น่าเหลือเชื่อ เพื่อตอกย้ำว่าหลักการจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต โปร่งใส แบบเที่ยงธรรม ฉบับที่ความเที่ยงธรรมไม่ได้ถูกทำอย่างล่าช้าเป็นอย่างไร

เพราะการประวิงเวลาการประกาศผลผู้ชนะอย่างเป็นทางการออกไปนานมากแค่ไหน ก็จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งถูกตั้งข้อครหาถึงความผิดปกติได้มากขึ้นเท่านั้น

ออสเตรเลีย: ระบบนับยากกว่าไทย แต่ใส่ใจจนเสร็จใน 38 วัน

ประเทศออสเตรเลียมีประชากรประมาณ 26 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 96.8 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้ กกต. ออสเตรเลียต้องใช้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. ในการเลือกตั้งปี 2565 ถึง 130,000 คน เพื่อให้เพียงพอในการดูแลหน่วยเลือกตั้งถึง 7,500 หน่วย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายนี้ไม่ได้หยุดยั้งการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของ กกต. ออสเตรเลีย

รัฐธรรมนูญออสเตรเลีย หมวด 3 มาตรา 32 ระบุให้ผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์อังกฤษเผยแพร่และมอบ ‘หมายสำหรับการเลือกตั้ง’(writs for election) ให้แก่ กกต. หลังอายุสภาครบวาระหรือเกิดการยุบสภา โดยต้องกระทำภายใน 10 วันหลังการสิ้นสุดของสภาเท่านั้น ทำให้เอกสารดังกล่าวเปรียบเสมือนสัญญาณบอกชาวออสเตรเลียว่า ฤดูเลือกตั้งได้มาถึงแล้ว และเป็นการเริ่มนับวันทำงานของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งทันที

ต่อมา กฎหมายเครือจักรภพว่าด้วยการเลือกตั้ง (COMMONWEALTH ELECTORAL ACT 1918) หรือ CEA มาตรา 157 ระบุว่า วันลงคะแนนจะต้องเกิดขึ้นหลังวันเสนอชื่อผู้สมัครไม่น้อยกว่า 23 วัน แต่ห้ามเกิน 31 วัน จุดนี้จึงถือว่าเป็นวันที่ กปน. และ กกต. จะต้องทำงานอย่างหนักในการนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะการเลือกตั้ง

ตารางเวลาการทำงานของ กกต. ออสเตรเลียถูกบีบด้วยกฎหมาย CEA มาตรา 159 ที่ระบุว่าหมายสำหรับการเลือกตั้งจะต้องถูกส่งมอบคืนให้แก่ผู้สำเร็จราชการฯ ภายใน 100 วันเท่านั้น ประกอบด้วยข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย หมวด 1 มาตรา 5 ที่ระบุว่า ผู้สำเร็จราชการฯ จะต้องได้รัฐสภาใหม่ภายใน 30 วันหลังจากได้รับหมายสำหรับการเลือกตั้งคืน จึงนับว่า กกต. ออสเตรเลียทำงานแข่งกับเวลาเพื่อจัดการเลือกตั้งที่มีมาตรฐานเป็นอย่างมาก

นั่นหมายความว่า หมายสำหรับการเลือกตั้งมีระยะเวลาให้การเลือกตั้งเสร็จสิ้นและรู้ผลภายใน 100 วัน เมื่อลบช่วงเวลาที่สามารถเสนอชื่อผู้สมัครฯ ที่ต้องกระทำภายในหลังการออกหมาย 10 วัน แต่ไม่เกิน 27 วัน และลบช่วงเวลาที่ต้องจัดให้เกิดการเลือกตั้งออกไปอีก 31 วัน เท่ากับ กกต. เหลือเวลาในการนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งเพื่อให้ผู้สำเร็จราชการฯ ได้พบรัฐสภาใหม่เพียง 42 – 72 วันเท่านั้น

ตัวอย่างสำคัญ คือ การยุบสภาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ซึ่งตามมาด้วยการเผยแพร่และมอบหมายสำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 จัดการเลือกตั้งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 และรับหมายคืนในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เพื่อให้ได้รัฐสภาที่ 47 ของออสเตรเลีย ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565

เท่ากับว่า กกต. ออสเตรเลียทำหน้าที่ในการเลือกตั้งทั่วไป 2565 ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 38 วัน จนทำให้ประชาชนออสเตรเลียได้รัฐสภาใหม่หลังการเลือกตั้ง 66 วัน ซึ่งนับว่าทำได้เร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้จากกรอบตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียใช้ระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนกว่าระบบเลือกตั้งของประเทศไทย โดยบัตรเลือกตั้งจะมีลักษณะหลายช่องให้ประชาชนใส่ลำดับที่ของผู้สมัครที่อยากลงคะแนนให้มากที่สุดสู่น้อยที่สุด ดังนั้นขั้นตอนการนับและรวมคะแนนจะยุ่งยากกว่าบัตรลงคะแนนที่ให้กากบาทเพียงหนึ่งช่องต่อหนึ่งใบ

ภูฏาน: พลังของการลงทุนซื้อเครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง

ประเทศภูฏานมีประชากร 771,608 คน และเพิ่งจัดการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 โดยมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 485,811 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 54.64 จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดย กกต. ภูฏานถูกฝึกมาให้ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machines) หรือ เครื่อง EVM ขนาดเล็กในการจัดการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนและการนับผลรวมคะแนนมีความสะดวกกว่าประเทศอื่นที่ใช้ระบบบัตรลงคะแนนกระดาษทั่วไป

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งแห่งอาณาจักรภูฏาน พ.ศ. 2551 หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ภูฏานฯ บทที่ 11 ว่าด้วยวันเลือกตั้ง มาตรา 187 ระบุว่า กกต. ภูฎานจะต้องประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งไม่ช้ากว่า 90 วันก่อนสภา (National Assembly) หมดอายุครบวาระ หรือหากมีการยุบสภาก่อนครบวาระตามปกติ กกต. ก็ต้องประกาศพระราชกฤษฎีกาในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการเลือกตั้งและได้รัฐสภาใหม่ภายใน 90 วัน

หลังจากนั้น ระบบเลือกตั้งภูฎานบังคับให้มีการเลือกตั้งสองครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมเพียงสองพรรคเท่านั้น ก่อนที่ทั้งสองพรรคจะถูกนำมาแข่งขันกันอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบที่สองเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่งในสภา

พ.ร.บ.เลือกตั้ง ภูฏานฯ มาตรา 198 จึงระบุต่อมาว่า กกต. จะเปิดรับสมัครผู้ลงชิงตำแหน่งที่นั่งในสภาภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้งรอบแรก ยกเว้นว่าการเลือกตั้งรอบแรกมีเพียงสองพรรคเท่านั้นที่ลงแข่งขันกัน กรณีนี้ กกต. จะเปิดรับสมัครผู้ลงชิงตำแหน่งที่นั่งในสภาภายในเจ็ดวันหลังมีการยื่นความจำนงจากทั้งสองพรรค โดยทั้งสองกรณี กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเพียงหนึ่งวัน

หลังจากนั้นวันเลือกตั้งจะถูกกำหนดไว้ว่าต้องไม่ช้ากว่า 30 หลังมีพระราชกฤฎีกาการเลือกตั้ง หรือ 30 หลังการมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ที่อาจจะเป็นคนละฉบับกับฉบับแรกก็ได้

พ.ร.บ.เลือกตั้ง ภูฏานฯ บทที่ 19 การประกาศผลการเลือกตั้ง มาตรา 445 ระบุว่า กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วยวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่ตายตัวไว้ แต่กำหนดให้ต้องกระทำโดยไวที่สุด ซึ่งฐานข้อมูลของ ACE ระบุว่า การเลือกตั้งจะปิดคูหาลงคะแนนในเวลา 17.00 น. และผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจะรู้ผลประมาณเวลา 22.00 น. แต่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะถูก กกต. ประกาศในเช้าวันต่อไป

เท่ากับว่า กกต. ภูฏานมีเวลานับผลคะแนนไม่ใช่หลักวันเหมือนประเทศอื่น แต่เป็นหลักชั่วโมงเท่านั้นในการรวมคะแนนเพื่อหาผู้ชนะการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณการลงทุนในเครื่อง EVM ของ กกต. ภูฏาน

เอกวาดอร์: ครั้งแรกพบปัญหา เลยยืดหยุ่นวิธีทำงานด้วยเทคโนโลยี

เอกวาดอร์มีประชากรประมาณ 18 ล้านคน ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลายเชื้อชาติและศาสนา อย่างไรก็ตามการทำงานของ กกต. เอกวาดอร์ร์เคยถูกชื่นชมในระดับโลกเพราะการจัดการเลือกตั้งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาแล้ว

รัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ บทที่ 6 กระบวนการเลือกตั้ง มาตรา 217 ระบุว่า การจัดการเลือกตั้งเป็นความรับผิดชอบของ กกต. เอกวาดอร์ ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้มีอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เสมอภาค คำนึงถึงประเด็นด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเพศ รวมไปถึงต้องมีความรวดเร็วอย่างเหมาะสม

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเอกวาดอร์ก็มีลักษณะเฉพาะ คือ จะจัดขึ้นถึงสองรอบ โดยรอบแรกเพื่อหาผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดหรือมากพอตามเกณฑ์ของกฎหมาย เพื่อนำผู้สมัครเพียงสองคนเท่านั้นมาแข่งขันกันวนการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยกฎหมายการเลือกตั้งระบุให้การนับคะแนนต้องเกิดขึ้นหลังเวลา 21.00 น. ของวันเลือกตั้ง และการนับคะแนนจนเสร็จสิ้นห้ามเกิน 10 วันหลังวันลงคะแนน

หากเกิดการลงประชามติเปลี่ยนรัฐธรรมนูญขึ้น บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ มาตรา 3 ระบุว่า ให้ กกต. จัดการเลือกตั้งภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง ต่อมามาตรา 9 (1) ระบุว่า รัฐสภาใหม่ต้องพร้อมเริ่มทำงานไม่เกิน 30 วันหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ขณะที่มาตรา 9 (2) ระบุว่า ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะเริ่มนับวาระการทำงานเมื่อครบ 10 วันหลังการตั้งรัฐสภาชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเอกวาดอร์ได้วางแผนล่วงหน้าไว้อย่างดีหากระบบการเมืองไม่ได้วิ่งไปในเส้นทางปกติอย่างราบรื่น ทว่าก็ส่งผลให้กรอบการทำงานของ กกต. สั้นลง และมีความท้าทายขึ้นอย่างมาก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2555 และรอบที่สองในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 เป็นตัวอย่างสำคัญ โดยผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากองค์การ The Organization of American States หรือ OAS พบว่า กกต. สามารถรวบรวมคะแนนในการเลือกตั้งรอบแรกได้ทันเวลาแม้การส่งข้อมูลจากบางหน่วยเลือกตั้งประสบปัญหา ขณะที่ในการเลือกตั้งรอบที่สองนั้น กกต. สามารถรวบรวมคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดผ่านทางโทรศัพท์ และสามารถรวมคะแนนกว่าร้อยละ 94 จากคะแนนทั้งหมดได้ผ่านทางโทรศัพท์ ก่อนจะนำขึ้นระบบคอมพิวเตอร์และถูกชื่นชมว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งหนึ่งที่ทำงานรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

สาเหตุของความรวดเร็วดังกล่าวถูกระบุว่า เป็นเพราะ กกต. เห็นข้อผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งรอบแรก ที่มีหน่วยเลือกตั้งจากสองจังหวัดเท่านั้นที่ส่งผลคะแนนมายัง กกต. กลางด้วยโทรศัพท์ จึงแก้ไขระบบการทำงานด้วยการเพิ่มคู่สายโทรศัพท์ถึงร้อยละ 20 จากจำนวนคู่สายทั้งหมดในการเลือกตั้งรอบที่สอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ชาวเอกวาดอร์ร์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่วันที่ 15 มกราคม 2556 ซึ่งหมายความว่า กกต. เอกวาดอร์ใช้เวลาเพียง 52 ในการทำงาน ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ให้ประเทศมีประธานาธิบดีได้โดยไม่เกิดสุญญากาศทางอำนาจ

มาเลเซีย: ใช้เวลาเพียง 5 วันพานายกฯ ถวายสัตย์ฯ หลังวันลงคะแนน

ประเทศมาเลเซียมีประชากรประมาณ 33 ล้านคน โดนทีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงสุดอยู่ที่ 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 74.04 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในปี 2565 แต่ด้วยภัยพิบัติใหญ่อย่างอุทกภัยและการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ กกต. มาเลเซียทำงานอย่างยากลำบากท่ามกลางกระแสเรียกร้องเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องยุติด้วยการเลือกตั้งโดยเร็ว

ระบบการเลือกตั้งของมาเลเซียมีสองระดับ คือ ระดับสภา ส.ส. หรือ Dewan Rakyat และระดับมลรัฐ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมากในรัฐสภาตามรูปแบบของรัฐสภาสหราชอาณาจักร โดยรัฐธรรมนูญมาเลเซีย บทที่ 4 ฝ่ายนิติบัญญัติแห่งสหพันธรัฐ มาตรา 55 (4) ระบุว่า ให้เกิดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังสภา ส.ส. หมดอายุครบวาระ หรือเกิดการยุบสภา โดยการนับคะแนนจะเกิดขึ้นในวันลงคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งก่อนหนึ่งรอบ ซี่งอนุญาตให้ตัวแทนของพรรคต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์ได้ จากนั้นจึงขนส่งไปยังศูนย์นับคะแนนรวม

ผลรวมคะแนนจะถูกเผยแพร่ภายในคืนดังกล่าวหรือข้ามไปจนถึงเช้าวันถัดไป ซึ่งต้องได้สภา ส.ส. ชุดใหม่ภายใน 120 วันหลังการยุติสภาชุดก่อน จึงหมายความ กกต. มาเลเซียมีเวลาตามกรอบกฎหมายในการนัยคะแนนเลือกตั้ง ประกาศผลผู้ชนะ และทำให้เกิดรัฐสภาใหม่ภายใน 60 วันเท่านั้น

ตัวอย่างสำคัญ คือ การยุบสภา ส.ส. ชุดที่ 14 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้ กกต. ประกาศกำหนดการการเลือกตั้งตามมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และวันลงคะแนนจริงในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 (ยกเว้นใน Padang Serai และบางหน่วยเลือกตั้งใน Baram เพราะสถานการณ์พิเศษ) จนสามารถประกาศผลนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณได้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565

หากนับจากวันเลือกตั้งจนถึงวันที่ประชาชนได้เห็นหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว กกต. มาเลเซียใช้เวลาทำงานเพียง 5 วันเท่านั้น

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

ลาออกสมาชิกพรรค ไปสมัคร สว. 67 ต้องทำยังไง?

สำหรับการสมัคร สว. ชุดใหม่ ที่จะเริ่มสมัครได้เร็วสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 มีการกำหนดไว;jkผู้สมัคร สว. ทุกคนจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือ สำหรับผู้ที่อยากสมัคร สว. ที่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ หากต้องการลาออกจากพรรคการเมืองต้องทำอย่างไร ชวนดูวิธีการลาออกสมาชิกพรรคการเมือง