เลือกตั้ง66: ผู้พิการ-ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ไปใช้สิทธิ 14 พ.ค. ได้

ผ่านมาแล้วสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 ไม่ใช่แค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สะดวกไปวันจริงตามสถานที่ในเขตเลือกตั้งที่มีสิทธิเท่านั้น แต่ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ สถานที่เลือกตั้งพิเศษที่จัดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งผลปรากฏว่าวันเลือกตั้งล่วงหน้ามีจำนวนผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุมาใช้สิทธิแล้ว 2,124 คน

อย่างไรก็ตาม หากผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว ก็ยังสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันจริง 14 พฤษภาคม 2566 ณ สถานที่ที่เลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้งที่มีสิทธิได้ เจ้าหน้าที่ก็ยังพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการออกมา สำหรับผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

กปน. มีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุ

ตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 92 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ต้องจัดให้มีการอํานวยความสะดวกสําหรับการออกเสียงลงคะแนนของผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนโดยการกํากับดูแลของกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ภายใต้ความยินยอมและต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้ใน ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 (ระเบียบ กกต.เลือกตั้ง ส.ส.) ข้อ 51 วรรคสอง กำหนดให้การจัดวางคูหาเลือกตั้ง ต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุด้วย

ในการเลือกตั้งทั่วไป ผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้รับการอำนวยความสะดวก โดยเริ่มตั้งแต่การจัดวางคูหาสำหรับรถเข็นวีลแชร์ อีกทั้ง คูหาสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุจะต้องอยู่ห่างจากคูหาอื่นอย่างน้อย 1.50 เมตร โต๊ะวางคูหาออกเสียงลงคะแนนต้องสูงไม่เกิน 0.75 เมตร และต้องมีการจัดเก้าอี้ไว้ในคูหาด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้ลงคะแนนด้วยตนเอง รวมถึงกปน. ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อื่นอยู่ในขณะนั้นจะต้องคอยสับเปลี่ยนช่วยเหลือและอํานวยความสะดวก ให้กับผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุด้วย

นอกเหนือจากนี้ การประชาสัมพันธ์ของ กกต. เองก็ได้มีการจัดทำ “คู่มืออักษรเบรลล์” รณรงค์การเลือกตั้งแก่ผู้พิการทางสายตากระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทำไฟล์เสียงคำบรรยาย อีกทั้งประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ​ ในการจัดทำวีดิทัศน์สาธิตการเลือกตั้งพร้อมล่ามภาษามือเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์

กกต. จัดให้มีบัตรทาบสำหรับผู้พิการทางสายตา ผู้ใช้รถวีลแชร์ สามารถให้ผู้ติดตามเข้าไปได้

วันเลือกตั้งทั่วไปตามหน่วยเลือกตั้งปกติ จะจัดให้มีบัตรทาบสำหรับผู้พิการทางสายตา และอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น จัดที่จอดรถสำหรับผู้พิการ จัดป้ายแสดงวิธีการและขั้นตอนลงคะแนน โดยมี กปน. รวมถึงรด.จิตอาสา (นักศึกษาวิชาทหาร) และลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เป็นผู้ช่วยเหลือในการใช้สิทธิลงคะแนน

นอกจากนี้ ผู้พิการที่มีผู้เข็นรถวีลแชร์ สามารถให้ผู้ติดตามเข้าไปได้แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งแล้วเจ้าหน้าที่จะจดบันทึกไว้

ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ไม่สามารถกากบาทเอง ญาติ-บุคคลที่ไว้วางใจ-กปน. ช่วยกาได้

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 (ระเบียบ กกต.เลือกตั้ง ส.ส.) ข้อ 158 วางข้อกำหนดเรื่องการลงคะแนนเสียงกรณีของผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุ กำหนดลำดับความสำคัญด้วยว่าตามแต่ละกรณีจะต้องดำเนินการอย่างไร โดยอยู่ในความดูแลของ กปน.

กระบวนการขั้นตอนวิธีการเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามลำดับเหมือนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป เว้นแต่ในบางขั้นตอนซึ่งจะมีข้อยกเว้นพิเศษให้ตามแต่ละกรณี

ขั้นตอนในการรับบัตรเลือกตั้งแล้วต้องเซ็นชื่อที่ต้นขั้วบัตร

  • หากบุคคลนั้นเซ็นชื่อไม่ได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วโป้งขวาแทน
  • แต่ถ้าหากไม่มีนิ้วโป้งขวาให้ใช้ด้านซ้ายแทน
  • ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้ใช้นิ้วมืออะไรก็ได้แทนแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องหมายเหตุว่าพิมพ์ลายนิ้วมือใดไว้ด้วย
  • ไม่มีนิ้วมือเลย ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่เจ้าหน้าที่หมายเหตุว่าไม่มีนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

ขั้นตอนเข้าคูหา การบัตรเลือกตั้ง

  • ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ออกเสียงลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาทในบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองตามเจตนาของตนเอง
  • ถ้าลักษณะทางกายภาพของบุคคลนั้นไม่สามารถทำเครื่องหมายลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งได้ กปน.ต้องพิจารณาให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจ ของผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ เข้ามาช่วยเหลือทำเครื่องหมายกากบาทในบัตรเลือกตั้งแทน โดยความยินยอมและต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ
  • ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ ไม่มีญาติหรือผู้ไว้วางใจมาด้วย กปน.ที่มีหน้าที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยเหลือในการทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทนผู้นั้น โดยการช่วยทำเครื่องหมายลงคะแนนจะต้องได้รับความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของผู้นั้นด้วย 

ตามระเบียบได้ให้ถือว่าการลงคะแนนกรณีพิเศษ ไม่ว่าจะโดยญาติ โดยผู้ไว้วางใจ โดย กปน. ถือเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว กปน. ต้องบันทึกลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้งด้วย

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนต้องได้ออกเสียงเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย” นี่คือคติของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งได้ดำเนินการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้ แม้ในความเป็นจริงอุปสรรคของกลุ่มคนเหล่านี้จะยังคงปรากฏอยู่ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา เนื่องด้วยเพราะขาดความเข้าใจที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะต้องทำให้ราบรื่นในวันเลือกตั้งจริงและการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคต

ไปเลือกตั้งไม่ได้ อย่าลืมแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

กรณีผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นกรณีที่เข้าเหตุอันสมควรในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ต้องแจ้งเหตุให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา โดยสามารถยื่นได้ด้วยตนเองหรือทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน อีกทั้งยังสามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งออนไลน์ได้ทาง https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/abscausess/ ตั้งแต่วันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566 หรือวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2566 วันไหนก็ได้ (7 วันก่อนวันเลือกตั้งจริง หรือ 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจริง)

สำหรับกรณีผู้พิการหรือทุพพลภาพที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ หรือกรณีผู้สูงอายุที่อยู่ในความควบคุมดูแลและอยู่ในสถานที่นั้น หัวหน้าสถานสงเคราะห์จะสามารถเป็นผู้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิแทนได้