เลือกตั้ง’66: ระบบรายงานผลเลือกตั้ง’66 ของ กกต. VS ระบบประชาชนรายงานกันเอง

การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เต็มไปด้วยความกังวลของประชาชนว่า การนับคะแนน และการรายงานผลคะแนนจะเป็นไปโดยถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากประชาชนมีบทเรียนจากการรายงานคะแนนที่ผิดพลาดและล่าช้าระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และยังไม่เห็นว่าในปี 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้มีความพร้อมมากขึ้น ตรงกันข้ามกลับพบเห็นจุดอ่อนและข้อผิดพลาด ทำให้ประชาชนต้องร่วมใจสร้างระบบการรายงานผลคะแนนกันเอง โดยไม่อาจรอ กกต.ได้

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่น่าเชื่อถือ เพราะ กกต. ไม่เคยเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วย เปิดเผยแต่คะแนนที่รวมเสร็จแล้วเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ปฏิบัติงานไม่เหมือนกัน บางคนถึงขั้นห้ามประชาชนถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ เพื่อเก็บหลักฐานผลคะแนน ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนกับ กกต.

ระเบียบ กกต. ปี 66 พร้อมเปิดคะแนนรายหน่วย เล็งรายงานผลก่อน 23.00 น.

2 มกราคม 2566 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. อธิบายต่อสาธารณะว่า ในปีนี้ทางสำนักงาน กกต. ไม่มีเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะสำหรับการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ หลังจากนั้นนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังก็เปิดเผยว่า มีความพยายามพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นใหม่สำหรับการรับสมัครผู้สมัคร ส.. และการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง พร้อมนำเสนอต่อ กกต. ไปแล้วในปี 2565 แต่คณะกรรมการ กกต. ไม่มั่นใจว่าการใช้เทคโนโลยีจะช่วยป้องกันการรายงานคะแนนผิดพลาดได้ จึงไม่อนุมัติโครงการนี้

กกต. ปล่อยให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชนอยู่พักใหญ่จนเกิดความเข้าใจว่า จะไม่มีการรายงานผลสดในรอบนี้ กระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จึงออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.. 2566 มาบังคับใช้ และกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยกำหนดขั้นตอนและวิธีการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ดังนี้

1) เมื่อแต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จัดทำรายงานผลการนับคะแนน (.ส.5/18) สามชุด ติดไว้ที่หน่วยเลือกตั้งหนึ่งชุด ใส่ไว้ในถุงใสรวมกับบัตรเลือกตั้งหนึ่งชุด และนำส่งให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) หนึ่งชุด (ตามระเบียบข้อ 178)

2) ให้ กกต.เขต เป็นผู้รับผิดชอบในการรวมผลคะแนนตามที่ได้รับมาจากแต่ละหน่วย (ตามระเบียบข้อ 182 (2) และข้อ 214)

3) ให้ กกต.เขต ติดประกาศไว้ที่สถานที่รวมคะแนน และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด) หนึ่งชุด ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.กลาง) อีกหนึ่งชุด (ตามระเบียบข้อ 214 วรรคสอง)

4) ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการนับคะแนน (.ส.5/18) รวมทั้งรายงานผลการนับคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรบนเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ภายในห้าวันนับตั้งแต่เลือกตั้ง (ตามระเบียบข้อ 214 วรรคสาม)

หลังจากออกระเบียบฉบับดังกล่าว ก็ยังเกิดความไม่เข้าใจและมีช่องว่างที่ขาดคำอธิบายอีกมาก ว่าการรายงานผลคะแนนสดของ กกต. จะทำอย่างไร และประชาชนจะมีโอกาสรู้ผลคะแนนการเลือกตั้งจากช่องทางใด ภายในเวลาใด ซึ่ง กกต. ก็ไม่ได้พยายามอธิบายสิ่งนี้ให้เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะวิธีการและระบบที่กกต.เขต จะส่งข้อมูลผลการเลือกตั้งให้สื่อมวลชนนำไปรายงานสู่สายตาประชาชน

วันที่ 27 เมษายน 2566 กกต. จัดงานแถลงรายละเอียดและชี้แจงต่อสื่อมวลชน ในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานกกต. อธิบายว่า ระบบในการรายงานผลถูกตั้งชื่อว่า ECT Report มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ และผู้แทนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด เข้าร่วมสนับสนุน ซึ่งจะส่งผลคะแนนให้แก่สื่อมวลชนได้ตั้งแต่ 18.30 น. เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์รายงานผล ectreport.com เว็บไซต์สำนักงานกกต. และสื่อมวลชนจะได้รับผลคะแนนผ่านทาง Google Share Drive โดยคาดว่าจะรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการครบถ้วนภายใน 23.00 น.

ความรับผิดชอบหลักอยู่ในมือ กกต.เขต

ตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 กำหนดให้มีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตขึ้น มี 400 คน รับผิดชอบ 400 เขตเลือกตั้ง โดยแต่งตั้งคนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จากคนในจังหวัดนั้นๆ หรือคนที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีความเป็นกลางทางการเมือง โดยการเปิดรับสมัครหรือการทาบทาม และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นๆ ส่งรายชื่อไปให้ กกต. คัดเลือกจากเขต เขตละสองคนเหลือคนเดียว และยังให้กกต.กลาง แต่งตั้ง กกต.เขต อีกเขตละสามคน ให้มีประธานหนึ่งคน โดยตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้มีค่าตอบแทนเดือนละ 13,000-15,000 บาท

ในการจัดการเลือกตั้งวันจริงจะต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากที่หน่วยเลือกตั้ง คนเหล่านี้เรียกว่า คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. มีประจำหน่วยหน่วยละเก้าคน ให้ กกต.เขต แต่งตั้งจากรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเสนอ โดยคนเหล่านี้มักมาจากอาสาสมัครที่เป็นประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ข้าราชการครู ข้าราชการพยาบาล ลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายชื่อของ กปน. จะติดไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งตามระเบียบข้อ 25 ในการทำงานในวันเลือกตั้งจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 450 บาทต่อวัน สำหรับประธาน กปน. ได้รับค่าตอบแทน 700 บาทต่อวัน

ระบบการเลือกตั้งในปี 2566 ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ และมีหีบเลือกตั้งหน่วยละสองหีบ จึงต้องอาศัย กปน. หน่วยละเก้าคน คือ มีความรับผิดชอบสี่คนต่อหนึ่งหีบ และมีประธานกรรมการประจำหน่วยอีกหนึ่งคน แต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกหนึ่งคน เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 96,000 หน่วยจาก 400 เขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งปี 2566 จึงต้องอาศัยบุคลากรที่มาทำหน้าที่เป็น กปน. เกือบหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะเกิดการทุจริตในระดับของกปน. ที่มาจากคนจำนวนมากขนาดนี้ และทำงานอยู่ท่ามกลางการมองเห็นของประชาชน

อย่างไรก็ดี แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เคยอธิบายว่า ตามระบบการรายงานผลแบบ ECT Report นั้น กปน. จะไม่มีหน้าที่ต้องกรอกคะแนนและรายงานคะแนนเอง มีหน้าที่เพียงสรุปผลคะแนนจากแต่ละหน่วย และนำใบรายงานผลคะแนน ส.ส. 5/18 ไปส่งให้กับ กกต.เขต โดยจะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งทำหน้าที่กรอกผลคะแนนเข้าไปในระบบดิจิทัล หรือ Google Share Drive เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลให้สื่อมวลชน ดังนั้น แม้ความรับผิดชอบในการนับคะแนนจะยังอยู่กับกปน. จำนวนเกือบล้านคนที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง แต่ความรับผิดชอบหลักในการรายงานผลคะแนนสดให้ประชาชนได้รับรู้ จะอยู่ในมือของคนไม่กี่คนที่สำนักงาน กกต.เขต ทำให้โอกาสผิดพลาดน้อยลง แต่อาจจะทำให้การรายงานผลให้สื่อมวลชนช้ากว่า กปน. รายงานโดยตรง

ไม่มีความชัดเจนว่า คนที่รับผิดชอบในการกรอกคะแนนจากใบ ส.ส. 5/18 เข้าสู่ระบบจะเป็นใคร จะเป็น กกต.เขต ทำด้วยตัวเองหรือไม่ แต่ในระเบียบอัตราค่าตอบแทน มีการตั้งค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล เจ้าหน้าที่บันทึกคะแนน และเจ้าหน้าที่รวมคะแนน ไว้คนละ 350 บาทต่อวัน จึงคาดหมายได้ว่ากปน. อาจจัดหาเจ้าหน้าที่หลายตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่กรอกคะแนนหรือบันทึกผลคะแนนจากใบ ส.ส. 5/18 ที่ได้รับมาจากกปน. แต่ละหน่วยเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ระบบใหม่อาจลดความผิดพลาดได้ แต่ผลคะแนนอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยลง

ระบบการรายงานผลคะแนนของ กกต. ในปี 2566 ต่างจากระบบที่ใช้ในปี 2562 ซึ่งให้เป็นหน้าที่ของ กปน. ทุกหน่วยกรอกคะแนนลงในแอปพลิเคชั่นชื่อว่า Rapid Report และผลที่ได้ คือ พบข้อผิดพลาดมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ กปน. จำนวนมากช่วยกันกรอกคะแนนจากหน่วยของตัวเอง และไม่คุ้นเคยกับแอปพลิเคชั่น ดังนั้น เมื่อออกแบบระบบใหม่โดยมอบหมายให้คนกลุ่มเดียวมีหน้าที่ในการบันทึกคะแนนเข้าสู่ระบบการรายงานผลผ่าน Google Drive ก็อาจลดข้อผิดพลาดเล็กน้อยในระดับบุคคล (Human Error) ลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ระบบใหม่ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องของการรายงานผลเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะขั้นตอนการบันทึกคะแนนเข้าสู่ระบบ Google Drive โดยผู้รับผิดชอบไม่กี่คนจะเกิดขึ้นในพื้นที่สำนักงานของกกต.เขต ซึ่งไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูการทำงาน และ กกต. ก็ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะว่า เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบขั้นตอนการบันทึกคะแนนเป็นใครบ้าง มีที่มาอย่างไร มีคุณสมบัติหรือผ่านการคัดเลือกมาอย่างไร และจากข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 กกต. แจ้งว่า การรายงานผลใน Google Drive จะไม่รายงานจำนวนบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน ก็ยิ่งเปิดช่องให้เกิดความไม่โปร่งใสเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กกต. ออกแบบระบบให้ตรวจสอบการทำงานของคนกลุ่มนี้ ว่าให้เปิดเผยภาพถ่ายของใบ ส.ส.5/18 บนเว็บไซต์ของสำนักงานกกต.จังหวัด ภายใน 5 วันหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของกกต.จังหวัดทั้ง 77 แห่ง มีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้อง และเป็นผู้รับผิดชอบหากการรายงานคะแนนเกิดความผิดพลาด (ระเบียบข้อ 214 วรรคสาม)

จุดอ่อนของระบบการรายงานคะแนน ECT Report นี้ คือ การเก็บเอกสารใบ ส.ส.5/18 ไว้เป็นเวลา 5 วันก่อนเผยแพร่บนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่น่ากังวล เพราะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต. ส่วนกลางอีกต่อไป ถ้าหากเจ้าหน้าที่ระดับเขตบันทึกคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ยังอาจไปแก้ไขข้อมูลในใบ ส.ส.5/18 ให้เปลี่ยนแปลงตามคะแนนที่กรอกใหม่ได้

งานนี้จึงต้องอาศัยประชาชนจำนวนมากไปช่วยกันถ่ายภาพใบขีดคะแนนที่มีผลคะแนนสดๆ จากหน้าหน่วยเลือกตั้งเก็บไว้เพื่อตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่บันทึกคะแนนทำงานได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ และใบ ส.ส.5/18 ที่นำขึ้นเว็บไซต์ภายใน 5 วันถูกต้องตรงกับผลคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งทุกแห่งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่

เปิดรับอาสา 3 ระดับ ประชาชนต้องจับตาให้เข้มข้น

จากบทเรียนความวุ่นวายในการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ และการแสดงถึงความไม่พร้อมของ กกต. ในการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องจัดตั้งระบบอาสาสมัครเพื่อจับตาการเลือกตั้ง การนับคะแนนและการรายงานผลคะแนน คู่ขนานไปกับการทำงานของ กกต. เพื่อปกป้องทุกคะแนนเสียงให้ถูกนับอย่างถูกต้อง และตรวจสอบผลคะแนนสุดท้ายจาก กกต. อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้ง สามารถเลือกสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อจับตาการเลือกตั้งในปี 2566 ได้สามระดับ แต่ละคนสามารถเลือกทำได้ทุกระดับ โดยสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ดังนี้

อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งแบบ “เต็มวัน”

กิจกรรมนี้ริเริ่มโดยองค์กรสังเกตการณ์ภาคประชาชนหรือ We Watch โดยต้องการรับสมัครอาสาสมัครเพื่อสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แบบเต็มวันตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วย ระหว่างการลงคะแนนของประชาชน จนกระทั่งปิดหน่วยและนับคะแนน

ระหว่างการเปิดหน่วยก็ต้องสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ กปน. เปิดหน่วยตรงเวลาหรือไม่ ติดเอกสารแจ้งข้อมูลแก่ประชาชนครบหรือไม่ จัดสถานที่ให้การลงคะแนนเป็นความลับหรือไม่ ฯลฯ ระหว่างการลงคะแนนของประชาชนก็ต้องสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ กปน. ตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกต้องหรือไม่ มีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ กปน. หรือไม่ มีความผิดปกติหรือความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ และเมื่อปิดการลงคะแนนแล้ว ก็ต้องสังเกตว่า กระบวนการนับคะแนนถูกต้องหรือไม่ หีบเลือกตั้งที่เปิดมานับคะแนนถูกแทรกแซงหรือไม่ การนับคะแนนเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ และถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนสุดท้ายไว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง

สำหรับผู้ที่สนใจและพร้อมปฏิบัติงานเต็มวัน สมัครเป็นอาสาสมัครได้ทาง electionwatchth.org ระบบนี้ต้องสมัครล่วงหน้าด่วนๆ เพราะต้องอบรมเตรียมความพร้อมกันก่อนลงสนาม

อาสารายงานคะแนนต่อคะแนนแบบ ‘Quick Count’

กิจกรรมนี้ริเริ่มโดยสมาคมวิชาชีพด้านสื่อมวลชนหลายแห่ง ใช้ชื่อว่า The Watcher ซึ่งเล็งเห็นปัญหาว่า คะแนนที่ กกต. ส่งให้สื่อมวลชนอาจมีความล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง และกว่าที่ กกต. จะเริ่มส่งคะแนนให้ก็เป็นเวลา 18.30 น. เป็นต้นไป จึงต้องการคะแนนแบบเรียลไทม์ที่เชื่อถือได้ มารายงานผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ เพื่อส่งผลไปสู่สายตาประชาชนโดยเร็วที่สุดหลังปิดหีบเลือกตั้ง

กิจกรรมนี้ต้องการรับอาสาสมัครไปเฝ้าดูการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่เริ่มนับคะแนน และต้องการให้อาสาสมัครรายงานคะแนนแบบ Quick Count หรือรายงานสดคะแนนต่อคะแนน เมื่อ กปน. ขานหมายเลขที่ได้รับคะแนนแต่ละหมายเลข ก็รายงานเข้าระบบแอปพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะทันที คะแนนที่รายงานก็จะถูกนำไปเผยแพร่บนสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทางบ้านทราบผลกันแบบสดๆ ลุ้นไปพร้อมการขานคะแนนแต่ละหน่วย และเมื่อแต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จ อาสาสมัครก็มีหน้าที่ถ่ายภาพกระดาษขีดคะแนนสรุปผลสุดท้าย แล้วส่งเข้ามายังระบบส่วนกลาง

สำหรับอาสาสมัครที่ช่วยนับคะแนนแบบ Quick Count จะได้รับของที่ระลึกจากแอปพลิเคชั่น D-Vote เป็น NFT หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Digital Coupon สำหรับใช้จ่ายซื้อสินค้าได้มูลค่า 300-500 บาท ซึ่งคนที่สมัครเป็นอาสาระบบนี้จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้าเข้าระบบ เพื่อทำการยืนยันตัวตน และเรียนรู้วิธีการใช้งานแอปพลิเคชั่นสำหรับการรายงานคะแนนแบบ Quick Count โดยสามารถสมัครได้ทางเว็บไซต์ที่จัดทำโดยสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน

อาสาจับตาคะแนน

กิจกรรมนี้เรียกว่า Vote62 ริเริ่มโดย Opendream, Rocket Media Lab และ iLaw โดยเริ่มชวนอาสาสมัครจับตาการนับคะแนนมาตั้งแต่ปี 2562 และทำต่อเนื่องมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งซ่อม จนถึงการเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งเชิญชวนให้ทุกคนออกจากบ้านไปดูการนับคะแนนของ กปน. ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ตรวจสอบว่าการขานคะแนน การขีดคะแนน และการรวมผลคะแนนถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าถูกต้องแล้วก็ถ่ายภาพกระดานขีดคะแนนทุกแผ่น ส่งเข้ามายังเว็บไซต์ Vote62.com และกรอกคะแนนจากภาพที่เห็นให้เป็นตัวเลขดิจิทัลเพื่อนำไปรวมผลคะแนน

ในระบบของ Vote62 จะมีระบบการประมวลผลตัวอักษรจากภาพถ่าย หรือ OCR ที่จะช่วยอ่านผลคะแนนจากภาพที่อาสาสมัครส่งมา เปรียบเทียบกับตัวเลขที่กรอกเข้ามาในระบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดอีกชั้นหนึ่ง หากตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง ก็จะนำผลลัพธ์ดังกล่าวรายงานต่อสาธารณะ และเก็บรูปภาพทั้งหมดไว้บนเว็บไซต์ เพื่อการตรวจสอบกับผลคะแนนที่ กกต. ประกาศออกมาว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่

สำหรับผู้ที่พร้อมไปจับตาการนับคะแนนหลังปิดหีบ จะสมัครล่วงหน้าก็ได้ทาง vote62.com หรือถ้าไม่สมัครก็สามารถไปปฏิบัติงานได้เองเลย สะดวกที่ไหน ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่นได้เลย

ระบบการรายงานผลคะแนนของ กกต. แม้จะมีข้ออ่อนอยู่บ้าง และมีประวัติที่ผิดพลาดเยอะ แต่ก็ยังเป็นระบบที่มั่นใจได้ว่าจะได้คะแนนมาจากทุกหน่วยเลือกตั้งจนครบถ้วน และจะนำมาซึ่งผลคะแนนสุดท้ายอย่างเป็นทางการ ส่วนระบบของประชาชนจัดตั้งกันเอง มีความไม่แน่นอนอยู่บ้างว่าจะมีคนช่วยกันเป็นอาสาสมัครและส่งผลคะแนนมามากน้อยเพียงใด แต่ผลคะแนนที่ได้มาจากมือของประชาชนทุกคน ไม่มีใครสามารถมีอำนาจเหนือกว่าที่จะควบคุมผลคะแนนได้ และข้อมูลทั้งหมดจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแบบเรียลไทม์ ให้ทุกคนร่วมกันรับรู้และตรวจสอบได้ตลอดเวลาของการรายงานผลคะแนน และเปิดเผยให้ตรวจสอบได้อีกหลายปีหลังจากนั้นด้วย

 

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 ยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสำคัญมาก ทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิสมัครหรือไม่ก็ลงมือทำได้