เลือกตั้ง66: แคนดิเดตนายกฯ ใครเป็น ส.ส. บ้าง?

“แคนดิเดตนายกฯ ใครเป็น ส.ส. บ้าง”

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ในอดีตนายกรัฐมนตรีจึงต้องมีที่มาจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก่อน เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนและเกิดการรับผิดรับชอบต่อรัฐสภา

ทว่าในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติดีนักเช่นปัจจุบัน การเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมีที่มาจากการเป็น ส.ส. อีกครั้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรื้อฟื้นประชาธิปไตย แม้จะมีกลไกใหม่จากรัฐธรรมนูญ 2560 จะสามารถให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ก็ตาม

จากการเปิดรับสมัครรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของบรรดาพรรคการเมืองในช่วงการรับสมัครระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2566 มีทั้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ลงสมัคร ส.ส. และไม่ลงสมัคร ส.ส. ลองมาสำรวจกันว่าพรรคไหนส่งใครบ้างและมีคนไหนลงสมัคร ส.ส. บ้าง

แคนดิเดตนายกฯ ที่ลงสมัคร ส.ส.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์

อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย

ชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย

สุพันธุ์ มงคลสุธี พรรคไทยสร้างไทย

น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย

วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา

เทวัญ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า

น.พ.เรวัต วิศรุตเวช พรรคเพื่อชาติ

ร.อ.ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ พรรคเพื่อชาติ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ

วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคไทยภักดี

แคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่ลงสมัคร ส.ส.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ

แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า

กรณ์ จาติกวณิช พรรคชาติพัฒนากล้า

ขั้นตอนการเลือกนายกฯ หลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกรายชื่อข้างต้นจะมีสิทธิถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้ทุกคนหลังการเลือกตั้ง 

ข้อความข้างต้นสืบเนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุชัดเจนว่า นายกฯ จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือกล่าวอย่างง่าย คือ เฉพาะพรรคที่มี ส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไปในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะมีสิทธิเสนอชื่อได้

ขั้นตอนต่อมา คือ ต้องมี ส.ส. รับรองชื่อดังกล่าวไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หมายความว่าต้องมี ส.ส. ทั้งสิ้น 50 คนขึ้นไปที่ให้การรับรอง

จากนั้นจึงทำการลงคะแนนอย่างเปิดเผยในการประชุมรัฐสภาเพื่อหามติ โดยต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ปัจจุบัน การเรียกร้องให้แคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีที่มาจาก ส.ส. เพื่อสร้างความยึดโยงกับประชาชน และการที่แคนดิเดตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องลงสมัคร ส.ส. นั้นยังเป็นที่ถกเถียงเป็นอย่างมากในสังคม การนำข้อมูลของผู้สมัครและการตัดสินใจของแต่ละพรรคมาทบทวนอีกครั้งก่อนการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น จึงอาจจะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจก่อนเข้าคูหาได้ง่ายขึ้น