เริ่มแล้ว! ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกราชอาณาจักร หมดเขต 9 เม.ย. 66

ชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งใกล้กับช่วงสอบปลายภาคของหลายมหาวิทยาลัย และอยู่หลังสัปดาห์วันหยุดยาว 4-7 พฤษภาคม 2566 ที่เป็นวันฉัตรมงคล และคณะรัฐมนตรีเพิ่มวันหยุดอีกหนึ่งวัน หลายคนอาจเดินทางกลับไปเลือกที่ภูมิลำเนาที่อาจไม่สะดวก หรือกลับไปไม่ทันวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียสิทธิ จึงต้องวางแผนเรื่องการออกไปใช้สิทธิล่วงหน้าให้ดี และหากใครสะดวกไปเลือกตั้งในวันจริง ก็อยากเชิญชวนให้ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงกันเยอะๆ และมาร่วมกันเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การนับคะแนนเลือกตั้ง กับทาง https://vote62.com/

แต่หากใครไม่สะดวกไปใช้สิทธิวันจริง ก็สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง โดยวันที่ 25 มีนาคม – 9 เมษายน 2566 เป็นวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเว็บไซต์ Thaivote.info และแอปพลิเคชัน SmartVote ในการให้ข้อมูลข่าวสาร และอธิบายขั้นตอนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง รวมถึงนอกราชอาณาจักร ไว้ดังนี้

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า มีสองกรณี คือ เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ซึ่งทั้งสองกรณี มีรายละเอียด “แตกต่าง” กัน ดังนี้


 ใครลงทะเบียนได้บ้าง?ช่องทางลงทะเบียนสำนักงานเขต/อำเภอไปรษณีย์ออนไลน์เลือกตั้งล่วงหน้า “ในเขต”
1) ผู้ได้รับคําสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง

2) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ใช่ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตที่ตนมีสิทธิ

//xเลือกตั้งล่วงหน้า “นอกเขต”
1) ผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

2) ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง 

//

คลิกเพื่อลงทะเบียน



กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า “ในเขต” เลือกตั้ง

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต คือ

  1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง
  2. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) แสดงหลักฐานว่าในวันเลือกตั้งตนต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่ 

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote 
  • คําสั่งของทางราชการ หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ 
  • เอกสารชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้พร้อมรับรองสำเนา (กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป)

โดยสามารถยื่นคำขอเป็นรายบุคคล หรือยื่นเป็นคณะบุคคล ผ่านสองวิธี ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ไปที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น) 
  • วิธีที่ 2 ส่งคำขอทางไปรษณีย์ โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการเขต

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า “นอกเขต” เลือกตั้ง

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ

  1. ผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  2. ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง 

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote 

โดยการยื่นคำขอลงทะเบียนทำได้สามวิธี ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ยื่นคำขอลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ตนมีถิ่นที่อยู่ โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทนก็ได้
  • วิธีที่ 2 ส่งคำขอทางไปรษณีย์ โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการเขต
  • วิธีที่ 3 ช่องทางออนไลน์
    • ผ่านเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/regoutvote
    • ทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote
    • แอปพลิเคชั่น ThaID ในเมนูหน้าหลัก ช่อง 25 มีนาคม 2566 Bora Portal update เมื่อเข้าไปจะเจอลิงก์ ให้คลิกที่ลิงก์ จะนำไปสู่หน้าเมนู Bora Portal ให้เลือกเมนู “ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)”  จากนั้นเลือก “ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง” จะลิงก์ไปยังระบบลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต ให้กรอกข้อมูลได้เลย

      สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเตรียมส่งเอกสารเหมือนสองวิธีแรก

      หลังลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้ว สามารถเช็คสิทธิเลือกตั้งอีกรอบ เพื่อตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง ได้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelection/#/

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือ คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง และมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร เช่น ผู้ที่ไปทำงาน ผู้ที่ไปเรียนต่อ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง
  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ และมีเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote

โดยการยื่นคำขอลงทะเบียนทำได้สามวิธี ดังนี้

  • วิธีที่ 1 ยื่นคำขอลงทะเบียนที่ สถานเอกอัครราชทูตที่ตนมีถิ่นอยู่
  • วิธีที่ 2 ส่งคำขอทางไปรษณีย์ ถึงสถานเอกอัครราชทูต
  • วิธีที่ 3 ขอใช้สิทธิล่วงหน้า
    • ผ่านเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/popout/
    • ทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote (ดาวน์โหลดทาง Google Play หรือ App Store)
    • แอปพลิเคชั่น ThaID ในเมนูหน้าหลัก ช่อง 25 มีนาคม 2566 Bora Portal update เมื่อเข้าไปจะเจอลิงก์ ให้คลิกที่ลิงก์  จะนำไปสู่หน้าเมนู Bora Protal ให้เลือกเมนู “ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)”  จากนั้นเลือก “ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้านอกราชอาณาจักร” จะลิงก์ไปยังระบบลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต ให้กรอกข้อมูลได้เลย

      สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเตรียมส่งเอกสารเหมือนสองวิธีแรก

      สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยแต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้งสามารถลงทะเบียนได้สามวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้น เว้นแต่วิธีที่ 1 ให้ยื่นที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ตนมีถิ่นที่อยู่แทน

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรสำเร็จแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนกลับมาใช้สิทธิในประเทศ สามารถดำเนินการโดยแจ้งความประสงค์ขอถอนชื่อเพื่อกลับมาใช้สิทธิในราชอาณาจักร โดยต้องไปแจ้งความประสงค์และให้เอกอัคราชทูตคัดชื่อออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (ดูระเบียบข้อ 28 ประกอบ 29 (2)) หากไม่ไปดำเนินการกับสถานทูตสามารถกลับมาแจ้งขอถอนชื่อจากฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีที่ดำเนินการไม่ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด ผู้มีสิทธิจะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในราชอาณาจักรได้

เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-นอกราชอาณาจักรเท่านั้นที่ลงทะเบียนออนไลน์ได้

ตามประกาศกกต. กำหนดให้เฉพาะกรณีการลงคะแนนเสียงล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักรเท่านั้นที่สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติตอนเที่ยงคืนของวันที่ 9 เมษายน 2566

โดยเบื้องต้นมีข้อมูลที่จะต้องกรอก ดังนี้

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • ชื่อ-สกุล
  • วันเดือนปีเกิด
  • หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน
  • เลขรหัสประจำบ้าน (11 หลัก) สามารถดูได้จากทะเบียนบ้าน หากไม่มีทะเบียนบ้าน หรือสำเนาทะเบียนบ้านอยู่กับตัว สามารถโหลดแอปพลิเคชั่น ThaID (ไทยดี) ยืนยันตัวตนในแอปด้วยตนเอง ตามขั้นตอนที่แอประบุ (ถ่ายบัตรประชาชน หน้า-หลัง และถ่ายภาพใบหน้า) เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อย และตั้งรหัสผ่านแล้ว สามารถเข้าใช้แอป ThaID และดูทะเบียนบ้าน จากในแอปได้
  • สถานที่ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง 
  • สถานที่ที่ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (กรณีอยู่ต่างประเทศ)

อย่างไรก็ดี เมื่อลงทะเบียนขอเลือกตั้งล่วงหน้าเสร็จสิ้น และเจ้าหน้าที่ (นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น) ตอบรับการลงทะเบียนแล้ว จะส่งผลทำให้ผู้ขอลงคะแนนเสียงล่วงหน้าหมดสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งเดิมของตนเอง หากจะทำการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง แก้ไขเขตที่จะไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า สามารถทำได้เพียงครั้งเดียว และต้องยื่นคำขอภายใน 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง (ภายใน 12 เมษายน 2566 เนื่องจาก 13-14 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ วันหยุด) โดยไปที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือ สำนักท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)

ลงทะเบียนเสร็จแล้ว 7 พ.ค. 66 08.00-17.00 น. อย่าลืมไปใช้สิทธิ 

หลังจากลงทะเบียนเสร็จสิ้น สามารถตรวจสอบรายชื่อล่วงหน้าได้ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการอบต. สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือเขตชุมชน หรือจะตรวจสอบผ่านหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน Smart Vote ก็ได้เช่นกัน

ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต  สามารถไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง พร้อมหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต

ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต สามารถไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หากลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ต้องนำหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต

ขั้นตอนลงคะแนนอาจแตกต่างกับเลือกตั้งทั่วไปที่ให้นำบัตรหย่อนลงหีบบัตรโดยตรง แต่การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะต้องนำบัตรที่กากบาทแล้วใส่ซองที่รับมาพร้อมกับบัตร (บัตรสองใบใส่ซองเดียวกัน)
ปิดผนึกด้วยตนเองแล้วจึงมอบซองให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกลางลงลายมือชื่อกำกับซอง แล้วเราค่อยนำซองใส่บัตรไปใส่ลงในหีบเลือกตั้งด้วยตนเอง

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  การลงคะแนนจะใช้วิธีการและขั้นตอนตามที่สถานทูตในแต่ละประเทศกำหนด หรือจัดให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์