เลือกตั้ง 66: กฎหมายเลือกตั้งคลุมเครือ “คนนอกครอบงำ” เสี่ยงพรรคถูกยุบ

เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะเรื่อง “คนนอกครอบงำพรรค” เป็นอีกหนึ่งข้อหาที่หลายพรรคการเมืองต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง และมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อโจมตีทางการเมืองที่ปรากฎตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง เพราะประเด็นนี้ยังคงมีช่องโหว่ในการตีความอยู่มาก แต่มีโทษหนักถึงขั้นยุบพรรค

คนนอกครอบงำ กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เอง 

กฎหมายพรรคการเมือง วางข้อห้ามไว้สำหรับทั้งพรรคการเมือง และบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่สมาชิก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองมี “นายทุน” หรือมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคแต่เพียงผู้เดียว และให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ตรวจสอบและนำเรื่องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

โดยมาตรา 28 กำหนดไว้ว่า ห้ามพรรคการเมือง “ยินยอม” ให้บุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ พรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกของพรรคไม่เป็นอิสระ ทั้งทางตรง และทางอ้อม หากพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าว ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้ร้องเรียน แต่กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง สามารถดำเนินการตรวจสอบ ถ้ามีมูลจริงแล้วถึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนต่อ และถ้าศาลพบหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําผิดจริง ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นได้ถึง 10 ปี ตามมาตรา 92 (3) 

ส่วนมาตรา 29 กำหนดเรื่องคนนอก หรือ “ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง” ห้ามเข้ามาควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา ก้าวก่ายจนทำให้กิจกรรมของพรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ  ซึ่งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองนั้นให้หมายความรวมถึง คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค เพราะถูกเว้นวรรคทางการเมือง ถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ รวมถึงบุคคลที่เคยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดสั่งยึดทรัพย์ เพราะทุจริต และทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. อันเป็นคุณลักษณะบุคคลต้องห้ามที่จะเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งคนนอกที่เข้ามาทำการครอบงำพรรค มีโทษถึงจำคุกเป็นเวลาห้าปีถึงสิบปี ปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นด้วยตามมาตรา 108

ข้อห้ามลักษณะนี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกไปใช้ดับอนาคตการเมืองของแต่ละพรรคอย่างง่ายดาย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าการวางเหตุผลยิบย่อยให้ตุลาการเข้ามาใช้ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองนั้นมีความชอบธรรมมากแค่ไหนในระบอบประชาธิปไตย

รัฐสภาเคยตีตกการแก้ไขปมห้ามคนนอกครอบงำพรรค

เมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาการแก้ไขร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเรื่องห้ามคนนอกครอบงำพรรคในมาตรา 28 และมาตรา 29 เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ขณะนั้นพรรคฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ ร่วมกันเสนอร่างฉบับของตนเอง โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่จะแก้ไขมาตราดังกล่าว ด้วยเหตุผลเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า ประเด็นนี้มีปัญหาด้านความไม่ชัดเจนของตัวบทและมักถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง อีกทั้งพรรคการเมืองต้องมีอิสระ เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ควรมีกฎเกณฑ์มาบีบพรรคการเมืองจนต้องปฏิเสธกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค 

แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไขเรื่องนี้เพื่อเปิดช่องให้มีบุคคลคนนอกเข้ามาควบคุมพรรคอย่างชัดเจนก็ตาม แต่ด้านชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาชี้แจง เพื่อคลายข้อสงสัยแล้วว่าเจตนาเพียงต้องการเพิ่มความชัดเจนเรื่องการให้คำปรึกษาจากบุคคลอื่นในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดงานภายในพรรคนั้นควรที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง

การแก้ไขประเด็นดังกล่าวโดยฉบับพรรคเพื่อไทย สาระสำคัญ คือ การขยายความในมาตรา 28 และมาตรา 29 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ “ให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกพรรคการเมือง แต่มีความรู้ ความสามารถ ให้คำปรึกษาและแนะนำประกอบการตัดสินใจของพรรคการเมืองในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจการของพรรคการเมือง” ส่วนฉบับพรรคประชาชาติ นั้นเสนอให้มีการยกเลิกข้อห้ามคนนอกครอบงำพรรคทั้งสองมาตรา อย่างไรก็ตามผลสุดท้ายร่างแก้ไข ฯ ของทั้งสองพรรคก็ถูกตีตกด้วย ส.ว. ไปตั้งแต่วาระแรก

คนนอกก้าวก่ายจนพรรคขาดอิสระถึงเรียกว่า “ครอบงำ”

เรื่องคนนอกครอบงำพรรคเป็นประเด็นที่นิยมนำมาเป็นเหตุร้องให้มีการยุบพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่มีกรณีใดที่ไปสุดทางจนถึงขั้นยุบพรรคอย่างแท้จริง โดยหากเราพิจารณาสาระสำคัญของการกระทำที่เรียกว่าเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ ต้องมีลักษณะอย่างไร และการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองจะทำได้แค่ไหนไม่ให้ผิดกฎหมาย เคยมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้องเคยออกมาอธิบาย ดังนี้

โดยเลขาธิการ กกต. เคยชี้แจงว่าการที่จะเข้าข่ายครอบงำพรรค กกต. จะพิจารณาว่า พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมหรือไม่ และอธิบายเพิ่มเติมถึงการพิจารณาองค์ประกอบความผิดว่า “ถ้าพรรคการเมือง ไม่ยินยอม และไม่ทำตามข้อเสนอ หรือ คำสั่งของคนนอก ก็ไม่อาจเอาผิดได้ แต่ในทางกลับกัน หากพรรคการเมืองยินยอมและทำตาม อาจถือเป็นความผิดได้”

ส่วนวิษณุ รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ก็เคยออกมาให้ความเห็น ว่าจะเข้าข่ายเป็นบุคคลคลภายนอกครอบงำหรือไม่ คือ 1.ต้องเป็นคนนอก 2.ต้องบงการ และ 3.บงการเรื่องของกิจกรรมของพรรค ส่วนเรื่องอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมของพรรคไม่เป็นไร และคำว่ากิจกรรมของพรรคต้องเป็นกิจกรรมที่กรรมการบริหารหรือสมาชิกพรรคต้องตัดสินใจกัน แต่คนนอกเข้ามาเป็นมือที่สามนั้นทำไม่ได้ 

คนนอกครอบงำ ทำหลายพรรคเสี่ยงโดนยุบ

เรื่องคนนอกครอบงำพรรค พรรคเพื่อไทยเป็นเป้าหมายยอดนิยมของบรรดานักร้อง (เรียน) และถูกร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อ หรือแม้กระทั่งกรณีที่แพทองธาร ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ เดินทางไปเยี่ยมทักษิณผู้เป็นบิดาก็ยังถูกร้องเรียน ทางเพื่อไทยได้ออกมาตอบโต้หลายครั้งถึงประเด็นดังกล่าว ไปจนถึงขั้นดำเนินการร้องต่อกกต.กลับแก่ผู้ที่ร้องเรียนในประเด็นนี้ แม้หลาย ๆ กรณียังไม่มีบทสรุปออกมาแน่ชัดว่าชะตาของพรรคเพื่อไทยต่อกรณีทั้งหลายก่อนหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังคงมีการร้องเรียนอยู่เรื่อย ๆ  

ล่าสุดคือ กรณีณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของเพื่อไทย ถูกกล่าวหาว่า ไม่มีสิทธิเป็นผู้ช่วยหาเสียงตามกฎหมาย เนื่องจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้นการปราศัยของณัฐวุฒิจึงอาจเข้าข่ายครอบงำพรรค  ซึ่งชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่าณัฐวุฒิเป็นผู้ช่วยหาเสียงตามกฎหมาย และไม่มีการกระทำใดของณัฐวุฒิ ที่จะถือเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรค จนทำให้พรรคและสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งกรณีล่าสุดนี้มีความคล้ายคลึงกับกรณีของจตุพร พรหมพันธุ์กับพรรคเพื่อชาติในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งได้มี คำวินิจฉัยของ กกต. ออกมายกคำร้อง ว่าการปราศรัยของจตุพร ผู้ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกนั้น ไม่ได้เป็นการกระทำอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองให้ขาดความเป็นอิสระ

ส่วนพลังประชารัฐ อดีตก็เคยโดนร้อง ในประเด็นครอบงำพรรค คือ กรณีการหารือระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กับประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเป็นอดีตแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรค ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีบทบาทในการเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะภายหลังจากการเรียกหารือครั้งนั้นก็เกิดการเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐจนกระทั่งมีการลาออกของกรรมการบริหารของพรรคถึงเก้าคน และมีการประชุมพรรคกันเพื่อปรับโครงสร้างพรรค ถึงแม้ภายหลังจะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตามว่าการหารือครั้งนั้นเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

ด้านพรรคก้าวไกลแม้จะยังไม่เคยถูกร้องถึง กกต. แต่ก็เคยถูกตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับคณะก้าวหน้า ที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อมาได้มีการออกมาชี้แจงว่าเป็นปกติที่ความเห็นของสมาชิกคณะก้าวหน้า และของพรรคก้าวไกลเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพราะเคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการครอบงำพรรค

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน