เลือกตั้ง 66: เช็คลิสต์ข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ส. หาเสียงเลือกตั้ง อะไรทำได้-ไม่ได้

เข้าสู่ “ฤดูกาลหาเสียง” สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 ที่บรรดาผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมืองพากันออกเดินสายทั่วประเทศ สร้างความนิยมผ่านวิธีการต่างๆ ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ออกแบบมาเพื่อจำกัดอำนาจของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือนายทุนการเมือง ไม่ให้ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งจนเกินไป จึงมาพร้อมกับอำนาจเต็มในมือเป็น “กฎเหล็ก” ข้อจำกัดการหาเสียง 

กฎเหล็กจากกกต.ในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (กฎหมายเลือกตั้งฯ) และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (ระเบียบ กกต. วิธีการหาเสียงฯ) โดยกำหนดทั้งกรอบระยะเวลาการให้ปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ และข้อห้ามในการหาเสียงให้แก่ว่าที่ผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมืองไปจนถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ จำต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษปรับ หรือจำคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และร้ายแรงไปถึงการยุบพรรคการเมือง

หากมี “การยุบสภา” กรอบเวลาหาเสียง 180 วัน สิ้นผล

มาตรา 68 และมาตรา 64 ของกฎหมายเลือกตั้งฯ วางกรอบระยะเวลาคร่าวๆ ว่า ช่วงเวลาใดบ้างที่ถือเป็นฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งแล้วให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ โดยจะต้องนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อแจ้งต่อกกต.ด้วย ซึ่งกรอบระยะเวลาการหาเสียงรวมถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายจะเริ่มนับและมีผลทางกฎหมายแตกต่างกันตามแต่ละกรณี ดังนี้

1. กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ

เริ่มนับตั้งแต่ 180 วันก่อนครบวาระสภา จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง กรอบระยะเวลานี้คือช่วงเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้กฎการหาเสียง และการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้ทั้งหมดให้คำนวณตั้งแต่กรอบ180วันเช่นกัน แต่ให้คำนวณจนถึงวันเลือกตั้ง สำหรับสภาผู้แทนราษฎรชุดที่จะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กกต.ประกาศให้เริ่มนับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่ 24 กันยายน 2565

2. กรณียุบสภา

เริ่มนับวันแรกคือ ตั้งแต่ “วันที่ยุบสภา” จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง กรอบระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงได้ ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายให้คำนวณตั้งแต่วันที่ยุบสภาจนถึงวันเลือกตั้ง ยุบสภาจึงเป็นกรณียกเว้นที่ทำให้กรอบ 180 วันของการหาเสียงล่วงหน้านั้นไม่มีผล ดังนั้น สำหรับนักการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากมีการยุบสภาแม้จะใกล้ครบวาระเต็มทีก็จะได้รับประโยชน์มากกว่าเพราะกรอบเวลาที่อยู่ภายใต้กำกับการหาเสียงนั้นสั้นลง และมีภาระในการแจ้งค่าใช้จ่ายต่อ กกต. ลดลง

แนวปฏิบัติที่ทำได้-ทำไม่ได้ ไปงานบวช งานศพ ห้ามให้เงิน

วิธีการหาเสียงของผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมือง นอกจากระเบียบกกต.  วิธีการหาเสียงฯ แล้ว ทาง กกต. ยังได้ออก แนวทางปฏิบัติ ลงรายละเอียดและยกตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำได้และทำไม่ได้เพิ่มขึ้นอีก มีดังนี้

  • แจกเอกสาร หรือทำวิดีโอ เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ หรือ งานพิธีการต่าง ๆ โดยเอกสารที่ใช้สามารถมีรูปถ่าย ข้อความ ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัด รวมถึงนโยบาย
  • จัดสถานที่ จัดเวทีปราศรัย และสามารถใช้เครื่องขยายเสียงได้
  • ใช้ยานพาหนะต่าง ๆ ในการช่วยหาเสียง
  • หาเสียงผ่านทางออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป
  • เข้าไปหาเสียงในสถานที่ต่าง ๆ โดยต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน
  • ส่งจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • มีผู้ช่วยหาเสียงได้ โดยต้องแจ้งรายละเอียดตามระเบียบฯ ต่อ กกต. ประจำจังหวัด
  • ติดแผ่นป้ายโดยมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร โดยต้องเป็นไปตามจุดและขนาดที่กำหนดล่าสุด
  • ร่วมงานตามประเพณี เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้นเจ้าภาพเตรียมของไว้ให้มอบตามพิธีการ
  • จัดพิธีงานต่าง ๆ ได้เท่าที่จำเป็น โดยหลีกเลี่ยงการจัดงานขนาดใหญ่

ส่วนข้อควรระวังที่ห้ามทำระหว่างการหาเสียงนั้น หมายความรวมถึงการดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่เปิดเผย และมีวัตถุประสงค์แอบแฝงอันเป็นลักษณะต้องห้าม โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ในมาตรา 73 ของกฎหมายเลือกตั้ง  คือ ห้ามบรรดาผู้สมัคร หรือผู้ใดก็ตาม กระทำการในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือไม่ให้ลงคะแนนเสียง หรือชักชวนให้ไม่เลือกผู้ใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • จัดทำหรือเตรียม /เสนอ /สัญญาจะให้ เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ แก่ผู้ใด
  • เสนอ/สัญญาจะให้ แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา ฯลฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อม
  • หาเสียงด้วยการจัดมหรสพ หรืองานรื่นเริง เช่น จ้างนักร้อง หรือหมอลำชื่อดังมาแสดง
  • เลี้ยง หรือรับจะจัดเลี้ยง
  • หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพล จูงใจหรือใส่ร้ายให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เช่น การปราศรัยด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เป็นต้น

นอกจากนี้ลักษณะต้องห้าม ฯ กกต.ยังกำหนดเพิ่มเติมตามข้อ 17 และข้อ18 ของระเบียบกกต. วิธีการหาเสียงฯ ซึ่งจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่

  • ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง
  • ห้ามให้ผู้ประกอบชีพที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เช่น นักแสดง นักร้อง พิธีกร ฯลฯ เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ตนเอง
  • ห้ามแจกจ่ายเอกสาร ด้วยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
  • ห้ามใช้คำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
  • ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน ตามประเพณีต่าง ๆ เช่น ใส่ซองงานบุญ งานบวช งานศพ
  • ห้ามมอบของช่วยเหลือประชาชน เช่น บริจาคของช่วยวิกฤติน้ำท่วม
  • ห้ามโฆษณาหาเสียงผ่านช่องวิทยุและโทรทัศน์
  • จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบกกต. (เพิ่มเติมตามระเบียบ กกต. วิธีการหาเสียงฯ (ฉบับที่ 3))

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า (ตามกรอบ 180 วัน) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยระหว่างนั้นต้องไม่ใช้ตำแหน่งหาเสียงให้ใครทั้งสิ้น รวมถึงร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ได้เช่นกัน แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินใด อีกทั้งหาเสียงให้แก่ตนเองและพรรคที่ตนสังกัดได้นอกเวลาราชการเท่านั้น และต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการที่เป็นคุณหรือโทษแก่พรรคฯ ใด

ส่วนหน่วยงานของรัฐดำเนินงานตามปกติ และต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการจัดทำเอกสารเผยแพร่ของรัฐมนตรี หรือการทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรีไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงให้แก่บุคคลนั้น

หาเสียงผิดกฎ กกต. มีโทษถึงยุบพรรค

กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดโทษแก่การหาเสียงที่มีลักษณะเป็นการต้องห้ามไว้ โดยในมาตรา 158 และมาตรา 159

  • การกระทำที่เป็นการทุจริตซื้อเสียง (มาตรา 73 (1) (2)), หาเสียงโดยจัดงานเลี้ยงหรืองานมหรสพ  (มาตรา 73 (3) (4)), หาเสียงโดยใช้อิทธิพล ให้ร้ายผู้อื่น (มาตรา 73 (5))
  • จ้างให้ลง หรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 75)
  • จัดรถรับ-ส่งคนไปเลือกตั้ง (มาตรา 76)

มีโทษตั้งแต่ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ไปจนถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นหากปรากฎพฤติการณ์ว่าหัวหน้าพรรค ฯ และกรรมการบริหารพรรคฯ รู้เห็นเป็นใจ ก็จะนำไปสู่หนทางแห่งการยุบพรรคได้ ตามกฎหมายพรรคการเมือง

ผู้ช่วยหาเสียง แต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

กฎเกณฑ์ต่างๆ ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามฯ เหล่านี้ ถูกใช้มาแล้วกับการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อความสุจริตเที่ยงธรรมในการสนามแข่งขัน แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็น “ขวากหนาม” ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของปีกที่อยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐตกอยู่ในภาวะที่ “ขยับตัวยาก” เพราะเกรงว่ากฎกติกาเหล่านี้จะเป็นเหตุในการหยิบยกมาตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังเช่น ในกรณีของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กับประเด็น “ผู้ช่วยหาเสียง”

กรณีของศรีสุวรรณกับพรรคก้าวไกล เหตุเริ่มมาจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ เข้าร่วมเวทีงานปราศรัย “อนาคตใหม่ก้าวไกล เพื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” ที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งสามคนมาช่วยเหลือพรรคในฐานะ “ผู้ช่วยหาเสียง” ซึ่งไม่มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าผู้ช่วยหาเสียงจะต้องไม่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ทางศรีสุวรรณเห็นว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเนื่องจากสถานะทางการเมืองของทั้งสามคนอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยปิยบุตร ชี้แจงว่า “พรรคก้าวไกลตั้งตนเป็นผู้ช่วยหาเสียง และยืนยันว่าทำตามระเบียบ การตัดสิทธิตนเองไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคฯ และไม่ให้ร่วมก่อตั้งพรรค เป็นเวลา 10 ปี ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิตามระเบียบ กกต.วิธีการหาเสียงฯ ให้นิยามคำว่า ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พรรคแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหาเสียง ซึ่งตนเองยังมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ จึงเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้”

ฝั่งเพื่อไทย ก็ถูกสนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้อง ต่อกกต. ในทำนองเดียวกัน จากกรณีการแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียง ว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) เนื่องจากณัฐวุฒิ  ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว จึงขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม ด้านชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายจากเพื่อไทยจึงออกมาตอบโต้ว่า “แม้นายณัฐวุฒิ จะมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคก็ตาม แต่นายณัฐวุฒิ  ยังคงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคและผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้ ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงไว้ว่า เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น”