เลือกตั้ง 66: 3 ข้อเสนอ ก้าวแรกพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ยังไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด เนื่องจากระบบการเมืองไทยยังตกอยู่ภายใต้กลไกรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจถูกกระทำผ่านสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่ คสช. และเครือข่ายวางอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ผ่านองค์กรอิสระ วุฒิสภาแต่งตั้ง ทหาร ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง องค์กรยุติธรรม และพรรคการเมือง โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 ค้ำจุนให้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรเครือข่าย คสช.ก็ยังคงรักษาอำนาจไว้ได้

แม้เวลาสี่ปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล บรรยากาศทางการเมืองภายใต้ระบบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยได้บ่มเพาะสำนึกทางการเมืองในหมู่นักศึกษาและประชาชนจนระเบิดออกมาเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่หนทางข้างหน้าก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกลไกของ คสช. ยังอยู่ครบ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ทั้ง 250 คน ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ปัจจุบันกติกาทางการเมืองจะยังไม่ปกติ แต่เราก็สามารถสร้างการเมืองที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ โดยเริ่มจากการมีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาและคุณสมบัติตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อก้าวแรกในการพาประเทศไทยกลับสู่ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ผ่านสามข้อเสนอต่อไปนี้

1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.

ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประชาชนไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแต่เลือกผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ดังนั้นวิถีปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จึงกำหนดว่า นายกฯ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่กล่าวกันโดยทั่วไปว่า “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ทั้งนี้แนวคิดนายกฯ ต้องมาจากเลือกตั้งเป็นมรดกทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาปี 2535 ที่ประชาชนรวมกันขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะทหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (รสช.) ที่ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส. หรือ “นายกฯ คนนอก

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำลายหลักการนายกต้องมาจากการเลือกตั้งลง โดยการตัดคุณสมบัติเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ออกไป และเปลี่ยนให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีสามรายชื่อแทน แม้ทางหลักการอาจพออธิบายได้ว่า “บัญชีรายชื่อว่าที่นายกฯ” ที่เสนอก่อนเลือกตั้งจะปัจจัยในการเลือก ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงจากการเลือกตั้งปี 2562 ก็เห็นชัดว่า พลเอกประยุทธ์ ว่าที่นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เพียงแต่ใช้อำนาจการเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเอาชื่อมาฝากไว้กับพรรคการเมืองเท่านั้น

ดั้งนั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.  แต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566เพื่อตัดอำนาจนอกระบบในการเลือกนายกฯ สร้างนายกฯ ที่ยึดโยงกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้ง และสร้างหลักประกันว่านายกฯ ในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการตรวจสอบของสภาที่มาจากประชาชน ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองควรจะรักษาวิถีปฏิบัติแบบประชาธิปไตย สืบทอดมรดกทางเมืองของวีรชน ด้วยการให้สามรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเองลงสมัครเป็น ส.ส. ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ในระบบเขตหรือบัญชีรายชื่อ

2. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน

หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 พรรคการเมืองที่ได้รับที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร ควรได้รับสิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ถือว่าเป็นธรรมเนียมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองได้ซึ่งได้ที่นั่งเป็นลำดับที่หนึ่งถือว่าได้รับความชอบธรรมจากประชาชนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งรองลงมาจึงต้องให้ความเคารพเสียงของประชาชนส่วนใหญ่

แม้หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ธรรมเนียมการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคลำดับที่หนึ่งจะถูกทำลายลง เนื่องจากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสภาคือพรรคเพื่อไทยถูกพรรคพลังประชารัฐที่เป็นอันดับสองแข่งจัดตั้งรัฐบาลทันทีหลังเลือกตั้ง โดยพรรคพลังประชารัฐอาจความชอบธรรมจากคะแนนนิยมทั้งประเทศรวมกันที่มากกว่าพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ยังมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ที่เป็นหมากสำคัญในการเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้ร่วมรัฐบาล จนรวมได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแบบปริ่มน้ำ คือ 253 เสียง แต่ก็เพียงพอที่จะอ้างความชอบธรรมในการส่งให้พลเอกประยุทธ์กลับไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

ดังนั้น เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความชอบธรรมเป็นไปตามผลการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคจึงต้องเคารพเสียงของประชาชนให้พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดได้สิทธิเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ทั้งนี้หากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเสียงข้างมากประสบความล้มเหลวจึงจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอันดับรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อ และพรรคการเมืองก็ไม่ควรใช้ ส.ว.แต่งตั้งมาเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจนบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่

3. ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก

การให้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ร่วมกัน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คือความพิสดารทางการเมืองที่ส่งให้พลเอกประยุทธ์และเครือข่ายสืบทอดอำนาจต่อไปได้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจนี้ห้าปี หมายความว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คน ยังมีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ส.ว.จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าผู้ให้กำเนิด ส.ว.แต่งตั้งชุดนี้ คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าการลงคะแนนเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2566 จะอยู่ภายใต้การควบคุมของสองนายพลนี้ ในกรณีหากหลังการเลือกตั้งทั้งสองพรรคดังกล่าวไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยภายใต้การสนับสนุนของ ส.ว.แต่งตั้งสำเร็จ อาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตันจากรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพได้

นอกจากนี้ ส.ว.แต่งตั้งต้อง “ไม่งดออกเสียง” ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา หากมี ส.ว. จำนวนมากงดออกเสียงจนไม่มีพรรคใดสามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 376 เสียง ก็อาจจะเกิดทางตันทางการเมือง และเปิดทางให้ใช้เงื่อนไขเลือก “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองได้

ดังนั้นหนทางที่ถูกต้องชอบธรรมในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว.แต่งตั้ง คือการไม่ขัดกับเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการยกมือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปต่อได้อย่างเป็นประชาธิปไตย

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์