3 พรรคการเมืองเห็นพ้องสิทธิดิจิทัล แก้พ.ร.บ.คอมฯ รัฐต้องเปิดข้อมูล

24 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.30 ณ​ ห้องประชุมเอเชีย เซ็นเตอร์ อาคารพญาไท พลาซ่า เอ็นเกจ มีเดีย ร่วมกับ เอเชีย เซ็นเตอร์ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอวาระและอภิปรายภายใต้หัวข้อ “4 วาระสิทธิดิจิทัลสำหรับพรรคการเมืองไทย” โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย

ตัวแทนจากเอ็นเกจ มีเดีย ประภาสิริ สุทธิโสม เริ่มต้นด้วยการนำเสนอรายงานและข้อเสนอตามสี่ประเด็นวาระสิทธิทางดิจิทัล ได้แก่ การส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเคารพและปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัว และการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม เจ้าหน้าที่โครงการจากเอ็นเกจ มีเดีย เล่าถึงปัญหาการเสื่อมถอยของสิทธิดิจิทัลที่ผ่านมาว่ามีการใช้กฎหมายเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมฯ) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังอ้างข้อจำกัดเพื่อปกปิดข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ยังมีการยกเว้นให้กับหน่วยงานรัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง หน่วยงานรัฐบาลบางหน่วยยังนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เพื่อโจมตีบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสอดส่องฝ่ายตรงข้าม ส่วนในเรื่องของข่าวปลอม ศูนย์ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นก็ขาดความเป็นอิสระ และถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลแทนที่จะตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง

ข้อเสนอของเอ็นเกจมีเดียประกอบไปด้วยการแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ ในมาตราที่เป็นปัญหา เช่น มาตรา 14 และ 20 เพื่อให้บทบัญญัติมีความชัดเจนมากขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองสิทธิครอบคลุมถึงโลกออนไลน์ ยกเลิกประกาศกระทรวงดิจิทัลล่าสุดเกี่ยวกับการนำลบข้อมูลโดยไม่ต้องใช้คำสั่งศาล และการนำหลักสากลด้านการตรวจสอบข่าวปลอมมาปรับใช้เพื่อทำให้หน่วยงานเป็นกลางมากขึ้น เน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแทนการใช้โทษทางอาญา

ในช่วงในการแสดงจุดยืนและนโนบาย ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทยมีความเห็นร่วมกันในการแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ เพื่อลดความคลุมเครืออันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในการเน้นผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อให้มีจุดประสงค์ในการกำจัดอาชญกรรมทางออนไลน์อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. คอมฯ อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นในเจตนารมณ์ของกฎหมายจะต้องไม่เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ การมุ่งหน้าส่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ผ่านมาพบว่ามีอุปสรรคจากทั้งระเบียบกฎหมายที่ทำให้หน่วยงานสามารถหาข้ออ้างไม่ปรับตัวได้ และความรู้ความเข้าใจของข้าราชการที่นำไปฏิบัติจริงอาจจะยังไม่เพียงพอ การจะแก้เพื่อเปิดข้อมูลภาครัฐจึงต้องทำทั้งสองด้านควบคู่กันไป

ทั้งสามพรรคเห็นสมควรว่าจำเป็นต้องการจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการควบคุมของภาครัฐกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ หรือ “Big Tech” เพื่อให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และไม่ปิดกั้นการเข้าถึงหรือการกำจัดข้อความของผู้ใช้สื่อ โดยมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและพัฒนาสิทธิดิจิทัลของประชาชนต่อไป

You May Also Like
อ่าน

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้
อ่าน

ศาลอนุญาตฝากขังตะวัน – แฟรงค์ต่อ 12 วัน อ้างตำรวจรอผลตรวจกล้องหน้ารถในจุดเกิดเหตุ

วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขังทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวันและณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากเหตุการณ์บีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของกรมพระเทพฯเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในการไต่สวนนัดนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่ออีกเป็นครั้งที่สี่ ระหว่างวันที่ 21 – 1 เมษายน 2567 หลังการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ศาลอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อ ตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเป็นต้องรอผลตรวจคลิปวิดีโอที่ติดหน้ารถยนต์ของประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุว่ามีการแก้ไขหรือตัดต่อหรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนจะยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่สามารถจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ก็ตาม