เลือกตั้ง 66: รู้จัก “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ช่วย กกต. ตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตและเป็นธรรม

สำหรับการ #เลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการการเลือกตั้งผ่านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย เจ้าหน้าที่นับคะแนน เป็นต้น โดย กกต. จะต้องแต่งตั้ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” จังหวัดละ 5-8 คน เพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้ง ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และรายงานความผิดปกติต่อ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม ทั้งนี้ รายละเอียดของผู้ตรวจการเลือกตั้งมีดังนี้

หน้าที่หลัก ตรวจสอบ เตือนการทำงานของเจ้าหน้าที่จัดเลือกตั้ง รายงานความผิดปกติต่อ กกต.

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 (กฎหมายกกต.) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ละครั้ง ให้ กกต. แต่งตั้ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัด โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจและหน้าที่ในจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เช่น ผู้อำนวยการประจำเขต กรรมการประจำเขต  กรรมการประจำหน่วย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยสามารถแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้ กกต. ทราบโดยเร็ว

(2) ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสังเกตการณ์หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม

(4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต. และตามที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งยังต้องรายงานความผิดปกติตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถือว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการขัดขวางโดยใช้หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้อง “เป็นกลางทางการเมือง” เข้าทางข้าราชการเกษียณ

ระเบียบกกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 45-70 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมา และไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น หรือมีบุพการี คู่สมรสหรือบุตร เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯลฯ

จากคุณสมบัติข้างต้น ทำให้ผู้ที่สามารถเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นข้าราชการเกษียณ ซึ่งหากพิจารณาคำสั่ง กกต. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เมื่อปี 2561 จะพบว่า จากผู้ตรวจการเลือกตั้ง 603 คน เกือบทุกจังหวัดมีอดีตข้าราชการทหารและตำรวจได้รับการแต่งตั้งเป็นจำนวนมาก

กกต. แต่งตั้งจังหวัดละ 5-8 คน ใช้วิธี “จับสลาก” เลือกคนนอกพื้นที่มาตรวจการเลือกตั้ง

กกต. จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนและมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัด จังหวัดละแปดคน เพื่อแต่งตั้งให้เป็น “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” โดยจะต้องมีคำสั่งแต่งตั้งและจัดทำ “บัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกินห้าปีไว้ จากนั้น ในการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. แต่ละครั้ง กกต. จะต้องแต่งตั้ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” จากผู้ที่อยู่ใน “บัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จังหวัดละห้าถึงแปดคน ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้ง ดังนี้

(1) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน
(2) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน
(3) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน

(4) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน

ในการแต่งตั้ง กกต. จะใช้วิธี “จับสลาก” เพื่อให้มีจำนวน “ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด” ครบตามจำนวนข้างตน โดยแบ่งเป็น หนึ่ง ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด หรือ “คนในพื้นที่” จำนวน  2 คน และสอง ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัด หรือ “คนนอกพื้นที่” ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง “คนในพื้นที่” ได้ ให้กกต. แต่งตั้ง “คนนอกพื้นที่” แทนเพื่อให้ครบจำนวนได้

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งแต่งตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 10 วัน แต่ไม่เร็วกว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด หรือวันประกาศผลการเลือก ส.ว. แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กกต. ได้จัดทำบัญชีรายชื่อและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยบัญชีรายชื่อดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง คือ มีผลจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ดังนั้น สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ กกต. จะต้องจับสลากและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดจากบัญชีรายชื่อเดิมเมื่อปี 2561

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ห้าหมื่นกว่าบาท

ตามเอกสารแนบท้ายของระเบียบกกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เงินเดือนของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเท่ากับ 50,000 บาท เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้วันละ 400 บาท และผู้ช่วยปฏิบัติงาน 15,000 บาท เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้วันละ 250 บาท (ผู้ตรวจการเลือกตั้งสามารถมีผู้ช่วยปฏิบัติงานได้หนึ่งคน) ขณะที่อัตราค่าตอบแทนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดสงขลา 3,750 บาทต่อเดือน จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส 5,000 บาทต่อเดือน