คปช.53 ยื่นหนังสือฝ่ายค้าน เสนอนโยบายทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง ลงนาม ICC

23 กุมภาพันธ์ 2566 13.00 น. คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) เข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน เสนอนโยบายเพื่อทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงและประชาชนที่ถูกกระทำจากการเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

ธิดา ถาวรเศรษฐ ตัวแทนของ คปช.53 เริ่มว่ากลุ่มได้ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแล้ว โดยจะไปที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ต่อไป ตนคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในนามของประชาชนขอขอบคุณพรรคการเมืองที่ยืนหยัดในการทำงานฝ่ายค้านได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต้องเปลี่ยนความคิดของคนจำนวนมาก นอกจากมาขอบคุณแล้ว วันนี้จึงมีข้อเสนอให้กับพรรคการเมืองด้วย

ข้อเสนอในครั้งนี้คิดว่าจะเป็นประโยชน์ และพูดแทนหัวใจของประชาชนไทยที่รักประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ต้องเจ็บปวดจากเหตุการณ์ 2553 ข้อเสนอสามข้อแรกเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนคนเสื้อแดงแล้วลอยนวลพ้นผิด โดยในตอนนี้เหลืออายุความเพียง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก และหลังจากการรัฐประหาร 2557 คดีความเหล่านี้ก็หยุดชะงัก ส่วนห้าข้อหลังนั้นคิดว่าสอดคล้องกับพรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว

ข้อเสนอทั้งแปดข้อได้แก่

1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน เพื่อมิให้มีการสังหารประชาชน “ลอยนวลพ้นผิด” เกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง

2. แก้ไขกฎหมาย กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน

3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการ ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555

4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

6. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน

7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย

ธิดาปิดท้ายว่าขออวยพรให้พรรคฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาล และนำเกียรติยศกลับมาสู่ประชาชนที่สู้เพื่อประชาธิปไตย หลังจากนี้ คปช.53 จะเดินทางไปกระทรวงยุติธรรมเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้กับผู้ที่ถูกจองจำแต่ไม่ได้กระทำผิด โดยจะแจ้งกำหนดการอีกครั้ง

สำหรับตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวขอบคุณประธาน คปช.53 การมายื่นช่วงใกล้ปิดประชุมเป็นสัญญาณว่ามั่นใจว่าฝ่ายค้านสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ ในตอนนี้เรายังไม่มีอำนาจรัฐ แต่จะขอรับมาพิจารณาว่าจะนำมาบรรจุเป็นนโยบายได้อย่างไร ขอบคุณประชาชนที่ไม่ย่อท้อในการต่อสู้ในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา

ด้าน อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่าตั้งแต่การปราบปรามหลังรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งเหตุการณ์ 2553 ดิฉันเสียเป็นอย่างยิ่ง เราเคยเข้าใกล้การเซ็นรับรองอำนาจศาลระหว่างประเทศ นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ในนามพรรคก้าวไกลขอประกาศว่าพรรคได้มีการทำนโยบายที่แถลงมาในวันนี้แล้ว โดยเฉพาะการยกเลิก กอรมน. ที่เป็นเหมือนซอมบี้จากสงครามเย็น มาในวันนี้ก็ไม่มีหน้าที่เหลือแล้ว ในเรื่องของ ICC ทันทีที่พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลก็จะผลักดันเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที ในปีที่แล้วพรรคก้าวไกลเคยเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไปแล้วแต่ถูกประธานสภาปัดตก

ทั้งนี้ คปช.53 ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2565 โดยญาติของคนเสื้อแดง 2553 แกนนำคนเสื้อแดง และทนายความ เพื่อติดตามและเรียกร้องความยุติธรรมจากกรณีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงโดยหน่วยงานความมั่นคงเมื่อปี 2553 ที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก