เลือกตั้ง 66: เปิดระเบียบกกต.ใหม่ ยกเลิกรายงานผลไม่เป็นทางการ เพิ่มขั้นตอนวินิจฉัยตัดสิทธิผู้สมัคร

15 กุมภาพันธ์ 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 (ระเบียบเลือกตั้งส.ส.ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด

ระเบียบเลือกตั้งส.ส. คงโครงสร้างเนื้อหาตามระเบียบฉบับก่อนหน้านี้ปี 2561 ไว้เกือบทั้งหมด มีการเพิ่มเติมรายละเอียดและแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามระบบเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่ เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชันของกรมการปกครอง (D.DOPA) และการเพิ่มจำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจากห้าคนเป็นเก้าคน ตามระบบใหม่ที่ต้องใช้บัตรสองใบ และตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับแก้ไขใหม่  นอกจากนี้ยังเพิ่มหมวด 5 ว่าด้วยการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งภายหลังประกาศรายชื่อผู้สมัคร วางแนวการยื่นคำร้องและการไต่สวนคำร้องของผู้สมัครแบบเขตและบัญชีรายชื่อ และการนำเอกสารผลการนับคะแนนเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด

อย่างไรก็ตามระเบียบฉบับนี้มีความถดถอยอย่างสำคัญ คือ การยกเลิกการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบแอพพลิเคชั่นที่เคยกำหนดไว้ในระเบียบฉบับ 2561 

เพิ่มหมวดวินิจฉัยคำร้องถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตัดส่วนอุทธรณ์คำสั่งถอนสิทธิ

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 เขียนขั้นตอนการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครในส่วนที่ 4 โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา คือ ก่อนการประกาศรายชื่อผู้สมัคร และหลังการประกาศรายชื่อผู้สมัคร โดยไม่ได้แจกแจงกระบวนการวินิจฉัยอย่างละเอียดนัก แต่ในระเบียบเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับปี2566 ได้นำส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบางส่วนของระเบียบเดิมจัดทำขึ้นใหม่เป็นหมวดที่ 5 ว่าด้วยการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายหลังประกาศรายชื่อผู้สมัคร และกำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยไว้โดยละเอียด 

หลังการประกาศชื่อผู้สมัครแล้ว ระเบียบกกต. 2566 เปิดช่องให้ถอนชื่อผู้สมัครที่ไม่มีสิทธิสมัครได้อีก จากสองกรณี คือ กรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นเองว่า ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ โดยจะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้มีคำวินิจฉัย และกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครคนอื่นเห็นว่า มีผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ ก็สามารถยื่นคำร้องได้ โดยในระเบียบเลือกตั้งส.ส.ฯ ฉบับปี  2566 กำหนดวิธีการยื่นคำร้องไว้สองประเภท

กรณีคัดค้านคุณสมบัติของผู้สมัครแบบแบ่งเขตให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ข้อ 116) และกรณีคัดค้านคุณสมบัติผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการกกต. (ข้อ 123) ผู้รับคำร้องจะพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับ หากรับจะส่งให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (คณะกรรมการพิจารณาฯ) ทำการไต่สวน หากไม่รับจะต้องเสนอรายงานต่อ กกต. พิจารณาว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยสั่งให้รับคำร้องจะส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาฯ 

คงสถานะผู้สังเกตการณ์พรรคการเมือง ยังไม่เขียนรับรองการสังเกตการณ์โดยประชาชน

ระเบียบเลือกตั้ง ส.ส.ฯ กำหนดเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนนไว้เช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้า คือ หมวด 1 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยผู้แทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยสรุปคือ ก่อนหน้าวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน พรรคการเมืองที่ต้องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนน จะต้องยื่นหนังสือขอแต่งตั้งผู้แทนพรรคการเมือง ในวันเลือกตั้งผู้แทนพรรคการเมืองต้องอยู่ในที่ที่จัดไว้ ซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงาน ห้ามกระทำหรือกล่าวโต้ตอบกรรมการประจำที่เลือกตั้ง หรือระหว่างกันเอง หรือบันทึกภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการหรือ “การออกเสียงลงคะแนน” ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และถ้าผู้แทนพรรคการเมืองหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่า การออกเสียงไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่กำหนด ให้ยื่นคำทักท้วงตามแบบ ส.ส. 5/10 

ในประเด็นการถ่ายภาพ ระเบียบกกต.ห้ามผู้แทนพรรคการเมืองถ่ายภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเห็นถึงการลงคะแนนของผู้ออกเสียง ตีความได้ว่า เป็นระเบียบที่ป้องกันการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่และสอดคล้องไปกับการป้องกันการทุจริตซื้อเสียง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งได้ห้ามการถ่ายภาพหรือแสดงบัตรทำนองเดียวกันไว้ด้วย เจตนารมณ์ของการห้ามตัวแทนพรรคการเมืองถ่ายภาพเป็นไปเพื่อป้องกันการทุจริตซื้อเสียงการเลือกตั้งเท่านั้น การถ่ายภาพกระดานการนับคะแนนและใบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18 เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนนที่ต้องกระทำอย่างเปิดเผย ไม่ได้ถูกห้ามตามระเบียบและกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น

ยกเลิก “Rapid report” หลังถูกกังขาความเที่ยงตรงโปร่งใส

ระเบียบเลือกตั้งส.ส. ฉบับก่อนหน้านี้ หมวดที่ 6 ส่วนที่ 2 กำหนดให้มีแอพพลิเคชั่นรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านโทรศัพท์และแท็บเล็ต ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตมีหน้าที่กำกับดูแลการรายงานผลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่าง “รวดเร็วครบถ้วนถูกต้องตามที่สำนักงานกำหนด” สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงานฯ) มีหน้าที่ในการดูแลและติดตามข้อมูลและผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการและการแสดงผลอย่างไม่เป็นทางการให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลและผลการเลือกตั้ง แอพพลิเคชั่นนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า “Rapid report” จะส่งคะแนนรายหน่วยที่นับเสร็จแล้วเข้าสู่ระบบและผู้สื่อข่าวจะดึงไปใช้ในการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

หลังปิดหีบเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ละหน่วยเริ่มรับคะแนนและส่งผลคะแนนผ่านแอพพลิเคชั่น การรายงานผลคะแนนต่อสื่อมวลชนขาดหายเป็นช่วงๆ ทั้งยังมีกรณีการรายงานผลคะแนนที่คะแนนของผู้สมัครที่ถูกส่งผ่านเข้าระบบมีการปรับลดลง ในบางกรณีพอเข้าใจได้ว่า อาจเกิดจากความผิดพลาดของผู้กรอกคะแนน แต่บางกรณีไม่มีคำอธิบายและกลายเป็นข้อกังขาความโปร่งใส  

ต่อมาต้นปี 2566 แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวขอโทษที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย  สาเหตุมาจาก กกต. “ไม่เชื่อว่าระบบที่มีการจัดทำขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีตที่ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคลาดเคลื่อนได้” ก่อนหน้านี้นักวิชาการคอมพิวเตอร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเคยเสนอแผนการพัฒนาระบบการรายงานผลให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบจาก กกต. เมื่อในทางปฏิบัติแอพพลิเคชั่นการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการไม่ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้ในระเบียบเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับล่าสุดไม่ปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเลย

แม้กฎหมายจะไม่ผูกพันให้คณะกรรมการฯ หรือสำนักงานฯ รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแล้วก็ตาม แต่สำนักงานฯ ยืนยันว่า จะจัดระบบคำนวณคะแนนขั้นต้น และส่งให้สื่อมวลชนรายงานเป็นผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเช่นเดิม กล่าวคือ ให้กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยถ่ายใบส.ส. 5/18 ส่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ให้คณะกรรมการรวมคะแนนประจำเขตเลือกตั้งกรอกลงโปรแกรมคล้าย Microsoft Excel และประมวลผลรวมให้แก่สื่อมวลชน

หาทางออกบัตรเขย่ง ไม่ต้องนับใหม่ก็ได้ หากไม่ได้ทุจริต-เปลี่ยนผลแพ้ชนะ

หลังการปิดหีบในเวลา 17.00 น. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะเริ่มการนับคะแนน ซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผยและติดต่อกันจนเสร็จ และเนื่องจากการเลือกตั้ง 2566 จะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือ บัตรให้เลือกผู้แทนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ระเบียบกกต. 2566 เพิ่มหลักเกณฑ์การคัดแยกบัตรเลือกตั้ง เมื่อเปิดหีบเพื่อเริ่มนับคะแนน หากกรรมการพบ “บัตรผิดประเภท” หรือบัตรที่หย่อนผิดกล่องให้แยกออกและนำไปมอบแก่ประธานกรรมการฯ เพื่อนำไปใส่ในหีบบัตรที่ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นเหตุต้องบันทึกลงรายงานและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเวลานั้นลงชื่อเป็นพยานไม่น้อยกว่าสองคน (ข้อ 172) เมื่อนับเสร็จแล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งรวมจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดว่า ตรงกับผู้มาแสดงตนใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ กรณีที่ไม่ตรงให้ตรวจสอบอีกครั้งและถ้าไม่ตรงอีกครั้งหนึ่ง ให้รายงานต่อ กกต. ถึงความไม่ถูกต้องและแจ้งเหตุผลของการนับคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

การออกเสียงเลือกตั้งปี 2562 มีเหตุบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ สั่งการให้ออกเสียงใหม่ทั้งหมดหกหน่วย ซึ่งไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงผู้ชนะ  ตามระเบียบกกต. ปี 2561 ข้อ 158 ระบุว่า หากดำเนินการนับคะแนนอีกครั้งและผลยังไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้รายงาน กกต. และอธิบายเหตุผลเพื่อพิจารณาให้มีการนับคะแนนใหม่หรือออกเสียงลงคะแนนใหม่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 122 ของกฎหมายเลือกตั้ง

พ.ร.ป.ส.ส. 2561 “มาตรา 122 ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบ ความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบ และนําส่งหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย”

พ.ร.ป.ส.ส. 2566 “มาตรา 122 ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน….เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่คณะกรรมการจะมีความเห็นว่าความไม่ถูกต้องตรงกันนั้น มิได้เกิดจากการทุจริตและไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะสั่งให้ยุติก็ได้” 

ระเบียบเลือกตั้งส.ส.ฯ บัญญัติเพิ่มหมวดใหม่โดยรวมเอาการนับคะแนนใหม่ การออกเสียงลงคะแนนใหม่ และการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ด้วยกัน มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้

  • การนับคะแนนใหม่ 

กกต. สามารถสั่งให้นับคะแนนใหม่อีกครั้งในหน่วยเลือกตั้งหรือทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ในกรณีที่จำนวนบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้แสดงตนมาใช้สิทธิ ตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 122 และพบเหตุหรือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งไม่เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 124 และ 137

กระบวนการนับคะแนนใหม่ ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ต่อในการนับคะแนน หรือคณะกรรมการฯอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมองว่า จะดำรงความเป็นกลางทางการเมืองหรือเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมเก้าคน

  • การออกเสียงใหม่

ในกรณีที่จำนวนบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้แสดงตนมาใช้สิทธิ และไม่เข้าเงื่อนไขยกเว้นออกเสียงใหม่ กกต. อาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้ออกเสียงใหม่ได้ 

กระบวนการออกเสียงใหม่ ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หรือกกต. อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมองว่า จะดำรงความเป็นกลางทางการเมืองหรือเป็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ทำหน้าที่ในวันเลือกตั้งก่อนหน้าก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร การออกเสียงใหม่จะเปิดให้ประชาชนแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และดำเนินการเลือกตั้งตามปกติ

  • การเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง

ระเบียบเลือกตั้งส.ส.ฯ กำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งด้วยห้าสาเหตุด้วยกัน คือ หนึ่ง กรณีปรากฏภายหลังหรือผลการวินิจฉัยออกมาหลังการเลือกตั้งว่า ผู้สมัครที่ได้รับเลือกขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สอง ผลคะแนนเลือกตั้งพบว่า ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด

ส่วนเหตุอีกสามข้อตามมาตรา 124 132 และ 137 ของกฎหมายเลือกตั้ง เป็นเหตุเกี่ยวเนื่องกับเจตนาทุจริตการเลือกตั้ง หากเป็นกรณีตามมาตรา 132 ที่เหตุทุจริตเกี่ยวเนื่องกับตัวผู้สมัคร กรณีเป็นผู้สมัครแบบแบ่งเขต คณะกรรมการการเลือกตั้งจะสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง หากเป็นการกระทำเกี่ยวกับพรรคการเมืองให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และไม่ให้นับเป็นคะแนนในการคำนวณที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น