เลือกตั้ง66: ระวังเหตุเลื่อนเลือกตั้ง! เมื่อต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

เข้าสู่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อีกไม่นานสภาผู้แทนราษฎรก็จะ “หมดอายุ” แต่เหตุความสับสนวุ่นวายเรื่องกติกาการเลือกตั้งยังคงผุดขึ้นไม่หยุดหย่อน เมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง โดยมี ส.ส. ระบบแบ่งเขตเพิ่มจาก 350 เป็น 400 คน ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด และกว่าจะเริ่มกระบวนการแบ่งเขตใหม่อย่างเป็นทางการได้ก็ต้องรออยู่นานกว่าที่กฎหมายเลือกตั้งฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 29 มกราคม 2566 จึงเริ่มกระบวนการทำงานได้

แม้ กกต. จะมีเวลาศึกษาข้อมูล และเตรียมการแบ่งเขตการเลือกตั้งก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่เมื่อกระบวนการเริ่มขึ้นจริงก็พบความผิดพลาด ทั้งการประกาศโมเดลแบ่งเขตเลือกตั้งในหลายจังหวัดที่มีจำนวนประชากรในแต่ละเขตห่างกันเกิน 10% เมื่อถูกทักท้วงก็ต้องกลับไปตั้งต้นแก้ไขใหม่ถึงห้าจังหวัด คือ 1) กรุงเทพมหานคร 2) ชลบุรี 3) เชียงใหม่ 4) ปัตตานี 5) สมุทรปราการ และยังปรากฏว่าในการจัดจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด กกต. ใช้จำนวน “ราษฎร” โดยรวมเอาจำนวนผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งเพราะไม่มีสัญชาติไทย รวมทั้งแรงงานข้ามชาติและประชากรที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ มาคิดคำนวนเป็นจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ ด้วย จนเกิดข้อทักท้วงตามมา

จากการลองคำนวณจำนวนที่นั่งของ ส.ส. แบบแบ่งเขตในแต่ละจังหวัด โดยใช้จำนวน “ราษฎร” เฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยของ Rocket Media Lab เมื่อเปรียบเทียบกับการคำนวณของ กกต. ที่ใช้จำนวน “ราษฎร” ทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. อยู่ 6 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) จังหวัดเชียงราย ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 7 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 8 คน

2) จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 11 คน

3) จังหวัดตาก ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 3 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. 4 คน

4) จังหวัดอุดรธานี ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 9 คน

5) จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 10 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 9 คน

6) จังหวัดปัตตานี ถ้าใช้จำนวนราษฎรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยเป็นเกณฑ์ จะมี ส.ส. ทั้งสิ้น 5 คน แต่เมื่อใช้วิธีการคำนวณแบบ กกต. จะได้จำนวน ส.ส. แค่ 4 คน

วิษณุ “ทัก” กกต. “รับลูก” ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

จากความสับสนดังกล่าว ปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต. ออกมาชี้แจงว่า นิยาม “จำนวนราษฎร” ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งและไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2558 ทางสำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรโดยแยกเพศกำเนิดชายและหญิงของผู้ที่มีสัญชาติไทย และผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย และหลังจากนั้นมีการปฏิบัติในลักษณะนี้เรื่อยมา กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด

ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า  เป็นห่วงเรื่องของคนต่างด้าวในแต่ละพื้นที่ว่าจะรวมเป็นประชากรในเขตเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ทาง กกต. แจ้งว่าที่ผ่านมาได้รวมประชากรแรงงานต่างด้าวในเขตนั้นๆ ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนว่า ต้องใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่รวมต่างด้าวไว้ด้วย ทั้งที่ความจริงมันแยกได้ เป็นคนไทยล้วน กับคนต่างด้าว ซึ่งขอให้กกต.ขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเอาเองว่าจะต้องรวมหรือไม่รวม 

แม้ความเห็นของวิษณุไม่ได้ชี้ว่า การปฏิบัติงานของกกต. “ผิด” แต่ก็มีนัยความเห็นที่แตกต่างไป และยัง “แนะนำ” ให้ขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งองค์กรที่มีที่มาจากระบบคสช. 

เมื่อสัญญาณจากผู้ที่ครองตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมายาวนานเกือบเก้าปี และผู้ที่มีบทบาทในการร่างและตีความกฎหมายสำคัญๆ มาตลอด เป็นไปในทางแตกต่างจาก กกต. จึงทำให้ กกต. ไม่อาจ “กล้าหาญ” และตัดสินใจเดินหน้า “ลุย” ต่อไปในทางที่ตัวเองเคยทำมาตลอดได้ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ก็ตัดสินใจ “รับลูก” ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งควรยึดจากจากจำนวน “ราษฎร” โดยรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยหรือไม่

ไม่มีกรอบเวลากำหนด หากช้าอาจกระทบวันเลือกตั้ง

เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และอาจจะมีการยุบสภาก่อนหน้านั้นก็ได้ ดังนั้นกรอบเวลาตามกฎหมายที่จะต้องมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็คือ อย่างช้าไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 และทันทีที่มีการยุบสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ก็จะต้องออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งภายในไม่เกินห้าวัน แต่ถ้าหากถึงกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ชัดเจน กกต. ก็ยังไม่อาจเดินหน้ากำหนดเขตเลือกตั้งใน 6 จังหวัดดังกล่าวได้ และจะยังไม่สามารถนำไปสู่การสมัครรับเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งได้

หากศาลรัฐธรรมนูญทราบถึงกรอบเวลาสำคัญนี้ และตระหนักดีว่ามีความจำเป็นในทางการเมืองที่ต้องเร่งกระบวนพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 1-2 สัปดาห์แล้วรีบออกคำวินิจฉัยมาโดยเร็วเพื่อให้ กกต. ทำงานต่อได้ ประเด็นเรื่องการนับจำนวนราษฎรเพื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งก็อาจกระทบจำนวน ส.ส. เพียงไม่เกินหกที่นั่งและอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ออกคำวินิจฉัยภายในกรอบเวลาที่ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ทางเลือกของ กกต. จะมีอย่างน้อยสองทาง 

ทางแรก คือ ‘กำหนดวันเลือกตั้งใหม่’ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 104 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต. ประกาศ ให้กําหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง (การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ต้องใช้วันเลือกตั้งเดียวกันทั่วราชอาณาจักร)

ทางเลือกที่สอง คือ ‘กำหนดวันรับสมัครลือกตั้งเพิ่มเติม’ ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 47 ที่กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุจําเป็นเฉพาะพื้นที่ทําให้ไม่สามารถดําเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจําเป็นอื่นในเขตเลือกตั้ง และให้ กกต. มีอํานาจประกาศกําหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกําหนดให้ดําเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้ ดังนั้น ถ้าจังหวัดไหนมีปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งก็สามารถดำเนินการรับสมัครในภายหลังได้แต่ต้องไม่เป็นผลให้เลือกตั้งไม่พร้อมกัน

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หรือ กำหนดวันรับสมัครสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม ทั้งสองทางเลือกย่อมจะส่งผลให้การเลือกตั้งมีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไป และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยช้า ก็จะทำให้การเมืองอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ” ที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัดและไม่มีสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่

ดังนั้น เมื่อมีคำร้องยื่นไปถึงมือของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้เสร็จและออกคำวินิจฉัยในเวลากรอบเวลาเท่าใด หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเร็วหรือช้าเพียงใดก็ได้ ซึ่งคำร้องในประเด็นนี้เป็นคำถามที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยไม่มีคู่ขัดแย้งที่เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” จึงไม่ต้องมีกระบวนการให้นำเสนอพยานหลักฐานข้อโต้แย้งต่างๆ มากนัก และศาลรัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือหยิบเอาประเด็นที่เห็นแตกต่างทางกฎหมายเล็กน้อยเช่นนี้มาเป็นจุดพลิกผันต่อความเป็นไปทางการเมืองครั้งใหม่