ชวนแสดงความเห็น ข้อเสนอนิรโทษกรรม การชุมนุม ตั้งแต่ 49-65 ไม่รวมทุจริต ไม่รวม112

ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์รัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ และคณะ ซึ่งร่างฉบับนี้จะยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาให้กับผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง หรือที่เข้าใจกันว่า เป็นการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” นั่นเอง

ข้อเสนอยกเว้นความผิดจากการชุมนุมฉบับนี้ เขียนให้ครอบคลุมการกระทำที่ค่อนข้างกว้าง เพราะให้รวมการกระทำที่ “เกี่ยวเนื่อง” กับการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมือง และรวมทั้งบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุ “เกี่ยวข้อง” กับความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งการกล่าววาจาหรือการแสดงออก เพื่อเรียกร้องให้ต่อต้านรัฐ (ตีความได้ว่า รวมผู้ที่ประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมทุกประเภท) การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ (ตีความได้ว่า รวมความผิดทำร้ายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ การใช้ความรุนแรงกระทำต่อตำรวจหรือทหารที่สลายการชุมนุม)

และยังรวมการแสดงออกด้วยวิธีการอื่นๆ อันอาจกระทบต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเรื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง (ตีความได้ว่า รวมการชุมนุมที่ไม่สงบของกลุ่มทะลุแก๊ซ หรือการกระทำของการ์ดผู้ชุมนุมที่อาจใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นบ้าง)

ซึ่งการกระทำที่เข้าข่ายการยกเว้นความผิดนี้ รวมทั้งเกิดขึ้นตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 หมายความว่า ไม่รวมเหตุการณ์ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือคนเสื้อเหลืองเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรก่อนการรัฐประหาร 2549 แต่รวมการชุมนุมของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร 2549 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ “ปิดสนามบิน” “ยึดทำเนียบ” ช่วงปี 2550-2551 รวมการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2552-2553 รวมการชุมนุมของกลุ่มกปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงปี 2556-2557 และรวมการชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารคสช. ช่วงปี 2557-2558 รวมการชุมนุมของคนรุ่นใหม่และกลุ่มราษฎรช่วงปี 2563-2565 

การยกเว้นความผิดครั้งนี้จะรวมทั้งความผิดของผู้ชุมนุม หรือผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านฝ่ายผู้ชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อผู้ชุมนุมด้วย

ตามมาตรา 4 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คดีที่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลก็ให้ระงับการสอบสวนหรือการฟ้องคดี หากฟ้องคดีต่อศาลแล้วก็ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง หรือให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี หากศาลเคยพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษามาก่อน ถ้าอยู่ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำก็ให้ปล่อยตัว

ไม่รวม 112 ไม่รวมคอร์รัปชั่น

ข้อเสนอนิรโทษกรรมจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 3 วรรคสองว่า ไม่รวมการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นทั้งหมด ไม่รวมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งในวันที่เสนอร่างฉบับนี้ มีคดีความค้างอยู่มากกว่า 200 คดี

และไม่รวมการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หมายความว่า การดำเนินการเพื่อเอาผิดผู้ที่สั่งให้สลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต ทั้งในเหตุการณ์ปี 2553 หรือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สยังสามารถดำเนินต่อไปได้อยู่ และการกระทำของกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายที่ทำให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. เสียชีวิต หรือการกระทำของ “ชายชุดดำ” ที่ทำให้ทหารเสียชีวิตในปี 2553 ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้เช่นกัน

ไม่รวมหมิ่นประมาท ดูหมิ่น

การกระทำที่จะได้รับยกเว้นความรับผิดตามร่างที่เสนอฉบับนี้ ได้แก่ ความผิดที่เขียนไว้ใน “บัญชีแนบท้าย” ซึ่งครอบคลุมความผิดหลายประเภท ทั้งความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 216 ความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร ตามมาตรา 209 210  ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ฯลฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา

ความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีคดีความมากกว่า 600 คดี ความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งใช้อย่างกว้างขวางเพื่อห้ามปรามการแสดงออกก็อยู่ภายใต้ขอบเขตที่จะได้ยกเว้นความรับผิด รวมทั้งความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายของกกต. ก็อยู่ภายใต้ขอบเขตของข้อเสนอชุดนี้ด้วย

แม้ว่าในระหว่างความขัดแย้งทางการเมือง จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือการกล่าวร้ายต่อฝ่ายตรงข้ามกันมากมาย จนทำให้มีคดีความฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นโดยการโฆษณาจำนวนมาก รวมทั้งการดำเนินคดีกันระหว่างบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการที่ประชาชนถูกผู้มีอำนาจดำเนินคดีประชาชนจากการกล่าวโจมตีทางสื่อออนไลน์เป็นคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แต่งตั้ง “ทีมงาน” นำโดยอภิวัฒน์ ขันทอง ไล่ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโจมตีนายกรัฐมนตรีจำนวนมาก 

แต่ในบัญชีแนบท้าย ของร่างฉบับนี้ กลับไม่รวมให้ยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 328 หรือความผิดฐานดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 ซึ่งเป็นคดีที่กำลังดำเนินไปจำนวนมาก และสร้างภาระให้กับกระบวนการยุติธรรม

ประชาชนยังเรียกร้องค่าเสียหายได้ หน่วยงานรัฐเรียกไม่ได้

กรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุม เช่น การทำลายทรัพย์สิน ถ้าเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ให้ความเสียหายนั้นเป็นอันระงับไป ถ้าเคยมีการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว ก็ให้คดีนั้นสิ้นสุดลง ถ้ามีการจ่ายค่าเสียหายกันแล้วก็ให้หน่วยงานรัฐคืนทรัพย์สินแก่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม แต่ถ้าเป็นกรณีประชาชนได้รับความเสียหายและต้องการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากหน่วยงานรัฐหรือบุคคลอื่น ยังสามารถเรียกร้องได้อยู่

ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดี

ตามมาตรา 7 ของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวนเจ็ดคน มีวาระการทำงานสิบเดือน มีหน้าที่รับเรื่องจากผู้ต้องหาที่ต้องการได้รับนิรโทษกรรม พิจารณาว่าคดีใดอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการนิรโทษกรรม และส่งความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการยกเลิกการดำเนินคดีความต่อไป