สภาล่มก่อนโหวตพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ รอลุ้นแก้รธน. ปิดสวิตช์ ส.ว. พรุ่งนี้

7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ) โดยเป็นวาระพิเศษที่ประธานสภาเรียกประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น หลังจากการอภิปรายเกือบทั้งวัน ท้ายที่สุดก่อนการลงคะแนน เช็คองค์ประชุมแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ประธานในที่ประชุมสั่งปิดประชุม ส่วนร่างกฎหมายก็ต้องเลื่อนไปลงมติในวาระปกติของที่ประชุมรัฐสภาครั้งหน้า 

สำหรับร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ จะเป็นร่างกฎหมายที่ทำให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก โดยจะเป็นองค์กรที่เข้ามากำกับดูแลสื่อมวลชนผ่านการสรรหาตัวแทนสื่อมวลชนเข้ามานั่งเป็น แต่ก็ยังมีข้อกังวลถึงประเด็นความเป็นอิสระของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีการกำหนดให้รับเงินจากรัฐหลักหลายสิบจนถึงร้อยล้านบาท รวมถึงการให้พื้นที่คนจากองค์กรสื่อแบบดั้งเดิมแต่ไม่มีพื้นที่สำหรับสื่อใหม่ในภูมิทัศน์สื่อที่กำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

ในช่วงสองชั่วโมงแรกของการประชุม เกิดการโต้เถียงกันระหว่าง ส.ว. และ ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจาก ส.ว. เช่น ตวง อันทะไชย และ สมชาย แสวงการ ต้องการให้นำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งรัฐสภาพิจารณาค้างอยู่นั้นขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย แสดงความไม่เห็นด้วยเพราะในวาระการประชุมวันนี้ไม่ได้ระบุเรื่องอื่น ๆ นอกจากกฎหมายสื่อเอาไว้ จึงไม่สามารถเลื่อนได้ ท้ายที่สุด ประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย จึงวินิจฉัยว่าให้พิจารณาร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ ต่อไป

เมื่อเข้าสู่การอภิปราย ความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย โดย ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลลุกขึ้นแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ เช่น ณัฐวุฒิ บัวประชุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงกระบวนการรับฟังความเห็นของกฎหมายว่ายังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ณัฐวุฒิยังมีความเห็นว่ามาตรา 44 ให้อำนาจคณะกรรมการจริยธรรมในการร้องทุกข์กล่าวโทษสื่อมวลชนใช่หรือไม่ วันนี้เสรีภาพของสื่อมีปัญหามากอยู่แล้ว แต่ยังมาเขียนอีกว่าต้องไม่ขัดกับศีลธรรมอันดี ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การดำเนินคดีกับสื่อมวลชนหรือไม่ ด้านพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ก็มี ส.ส. อภิปรายขอให้นายกรัฐมนตรีถอนร่างกฎหมายนี้ไปก่อนเพราะเนื้อหานั้นล้าหลังไปแล้ว

ในขณะที่ ส.ว. จะแสดงความเห็นออกไปทางเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เช่น สมชาย แสวงการ สนับสนุนการมีกฎหมายนี้เพราะที่ผ่านมาองค์กรสื่อเป็นเสือกระดาษที่ไม่สามารถบังคับใช้มาตรฐานวิชาชีพสื่อได้ ทำให้สื่อมีปัญหาด้านจริยธรรม ตนยอมรับว่าร่างกฎหมายนี้อาจไม่สมบูรณ์และขอรับข้อเสนอจากองค์กรสื่อที่คัดค้านมาในชั้นกรรมาธิการ เสรี สุวรรณภานนท์ ให้เหตุผลว่ามีสื่อมวลชนบางส่วนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ตั้งใจเสียดสีอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายนี้ ตนอ่านกฎหมายแล้วก็ยังไม่เห็นว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน หากแต่เป็นการจัดระเบียบให้สื่อมวลชนได้รับประโยชน์ 

ผลสุดท้าย ตรวจสอบองค์ประชุมแล้วไม่ถึงกึ่งหนึ่งที่ 334 คน โดยมีสมาชิกรัฐสภามารายงานตัวเพียง 181 คนเท่านั้น ทำให้ประธานสั่งปิดประชุมทันที ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อฯ จึงต้องเลื่อนไปลงมติในวาระปกติของที่ประชุมรัฐสภาครั้งหน้า ส่วนในวันพรุ่งนี้ รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย โดยตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าจะใช้เวลาอภิปรายไม่นาน และสามารลงมติได้ในช่วงบ่าย