พรรคเล็ก/ใหม่ เร่งควบเร่งย้ายพรรค หนีตายระบบเลือกตั้งใหม่

ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ความเคลื่อนไหวในการเมืองไทยที่สำคัญหนึ่งคือการควบรวมกันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็ก มีที่นั่งจำกัดอยู่ในท้องถิ่นบางพื้นที่ หรือพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่โดยนักการเมืองที่เคยเป็นขุนพลหลักของพรรคการเมืองขนาดใหญ่แต่ตัดสินใจแยกตัวออกมา ตัวอย่างคือ “พรรคชาติพัฒนากล้า” ที่เกิดจากการย้ายรวมกันของพรรคกล้าของ กรณ์ จาติกวนิชย์ และพรรคชาติพัฒนาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงข่าวลืมหนาหูว่าพรรคไทยสร้างไทยของ “หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กำลังพิจารณาควบรวมกับพรรคสร้างอนาคตไทย ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เปลี่ยนไปในระบบเลือกตั้งใหม่ จากเดิมที่พรรคขนาดเล็กและกลางมีโอกาสที่จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อผ่าน “ส.ส. ที่พึงมี” ตามระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2565 เปลี่ยนให้ระบบเลือกตั้งกลับไปคิดที่นั่งบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน (MMM) ทำให้การจะได้สักหนึ่งที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นหลายเท่า จนเป็นเหตุให้พรรคเหล่านี้ต้องเร่งหนีตายกันยกใหญ่

จากหาร 500 กลับสู่หาร 100

ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA คือระบบเลือกตั้งที่หาไม่ได้ที่อื่นในโลก แต่เป็นผลผลิตจากมันสมองของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี (MMP) มาปรับเปลี่ยนให้เหลือบัตรใบเดียวแทนที่จะเป็นสองใบ วิธีการคำนวณก็เริ่มจากการหา “ส.ส. ที่พึงมี” จากคะแนนทั่วประเทศที่พรรคการเมืองหนึ่งได้ แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. จากนั้นจึงนำที่นั่งทั้งหมดไปลบด้วยจำนวน ส.ส. เขต จึงจะได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นได้
วิธีการคำนวณแบบ “หารห้าร้อย” ซึ่งเรียกตามการหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในรัฐสภาไทย 500 คน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อมากขึ้น เนื่องจากพรรคเหล่านี้แม้จะไม่สามารถเอาชนะในระดับเขตได้ แต่มักจะมีคะแนนนิยมในระดับประเทศประมาณหนึ่ง เสียงที่เคยกลายเป็นเสียง “ตกน้ำ” ในระดับเขตจึงสามารถแปรเปลี่ยนเป็น ส.ส. ที่พึงมีให้กับพรรคที่หาเสียงในเชิงนโยบายหรือมีความนิยมจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ได้บ้าง แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือการมีจำนวนพรรคในสภามากขึ้น และทำให้รัฐบาลต้องเจอกับอุปสรรคกับการต่อรองกับกลุ่มที่หลากหลาย
แต่ระบบเลือกตั้ง MMA ของมีชัยยังมีอีกส่วนที่ต่างจากระบบเยอรมนี กล่าวคือ ไม่มีการระบุเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคจะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเอาไว้ ในประเทศเยอรมนี มีการกำหนดว่าพรรคใดที่ได้คะแนนเสียงในระดับประเทศไม่ถึงร้อยละห้าจะไม่มีสิทธิได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำนวนพรรคในสภามากเกินไป แต่ในระบบ MMA ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2562 กลับไม่ได้ระบุเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้เกิดพรรค “ขนาดจิ๋ว” ที่มีเพียงที่นั่งเดียวจำนวนมาก

ตามระบบ MMA จากผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 35,500,000 คนในปี 2562 จำนวนคะแนนต่อ ส.ส. ที่พึงมีหนึ่งคนจะเท่ากับประมาณ 71,000 คะแนน ผลการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่น่าสนใจเป็นดังนี้

พรรค คะแนน ส.ส. เขต ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส.ส. ทั้งหมด
เพื่อไทย 7,881,006 136 0 136
พลังประชารัฐ 8,441,274 97 19 116
อนาคตใหม่ 6,330,617 31 50 81
ประชาธิปัตย์ 3,959,358 33 20 53
ภูมิใจไทย 3,734,459 39 12 51
ชาติพัฒนา
244,770
1 2 3

หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งทั่วไป 2562 จะเห็นว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่เสียประโยชน์อย่างชัดเจนจากระบบเลือกตั้ง MMA พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากมีจำนวน ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. ที่พึงมีอยู่แล้ว และด้วยการมีบัตรเพียงใบเดียวตามระบบเลือกตั้งแบบมีชัย ประชาชนในเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกว่า 150 เขต แต่ไปส่งในนามพรรคไทยรักษาชาติซึ่งต่อมาถูกยุบ จึงไม่มีตัวเลือกให้เลือกพรรคเพื่อไทย ผลที่ได้จึงทำให้พรรคเพื่อไทยคะแนนในระดับชาติน้อยกว่าตัวเลขการคำนวณ ส.ส. ที่พึงมี ซึ่งควรจะมีประมาณ 111 คน เมื่อหักลบกับ ส.ส. เขตที่ได้ 136 คน จึงไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อ

ส่วนพรรคที่ได้ประโยชน์จาก “หารห้าร้อย” คือพรรคขนาดกลางและเล็ก พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคการเมืองอันดับสามในสภาทั้งที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก โดยได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อไป 50 ที่นั่ง เนื่องจากพรรคได้รับความนิยมในระดับชาติมาก แม้ว่าจะชนะได้ในไม่กี่เขต แต่คะแนนโดยรวมกลับทำให้อนาคตใหม่มี ส.ส. ที่พึงมีกว่า 81 คน ระบบ MMA จึงทำการชดเชยที่นั่งให้กว่าครึ่งร้อย ส่วนพรรคเล็กอย่างชาติพัฒนาซึ่งต่อมาจะมีการรวมพรรค ก็มี ส.ส.บัญชีรายชื่อสองที่นั่งจากระบบเลือกตั้งนี้ด้วย 

บรรดาพรรคใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2562 ก็เกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิดว่าระบบเลือกตั้ง MMA จะทำให้ตนเองได้ที่นั่งในสภาจากการคิดคำนวณ ส.ส. ที่พึงมี ซึ่งเป็นการอุดจุดอ่อนของพรรคใหม่หรือที่มีขนาดไม่ใหญ่ที่มักจะทำพื้นที่เขตได้ไม่แข็งแรง เนื่องจากตัวผู้สมัครที่เป็นผู้มีอิทธิพลก็มักจะอยู่กับพรรคใหญ่ แต่เน้นการนำเสนอนโยบายที่จะทำให้สามารถรวบรวมเสียงจากทุกเขตทั่วประเทศได้ พรรคเหล่านี้มักจะมีอดีตนักการเมืองที่เคยเป็นแกนนำในพรรคใหญ่ แต่ตัดสินใจแยกทางเดิน เป็นผู้ก่อตั้ง เช่น พรรคไทยสร้างไทย ของ“หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตแกนนำและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย พรรคสร้างอนาคตไทย ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ คสช. และเป็นหัวเรือหลักในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐก่อนจะถูกการเมืองในพรรคเล่นงาน และพรรคกล้า ของ กรณ์ จาติกวนิชย์ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์

หาร 100 พาพรรคเล็กหนีตาย

แต่การกลับมาของการคำนวณแบบ “หารร้อย” ตามระบบเลือกตั้ง MMM ที่มีการแก้ไขล่าสุดนั้นทำให้ฝันของพรรคใหม่เหล่านี้กำลังจะไม่เป็นจริง ในปี 2564 รัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบและใช้ระบบการคำนวณบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน แม้ว่าเกือบจะมีการพลิกล็อกในสภาเพื่อมีการพิจารณากฎหมายลูก แต่ในที่สุดระบบ MMM ที่คล้ายคลึงกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ผ่านสภารวมถึงศาลรัฐธรรมนูญไปได้

ในระบบแบบคู่ขนานหรือที่เรียกกันว่า “หารร้อย” ตามการคำนวณที่ใช้เลขจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนเป็นตัวหาร จะไม่มีการคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีแล้ว แต่จะคำนวณที่นั่งบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองจากสัดส่วนคะแนนในบัตรใบที่สองหรือใบที่เลือกพรรค เช่น หากได้คะแนนร้อยละ 10 พรรคนั้นก็จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้ ส.ส.เขตเท่าไร ระบบ MMM นี้ให้ผลตรงกันข้ามกับระบบ MMA คือพรรคใหญ่ที่ได้คะแนนเสียงในเขตมาก ก็จะกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในขณะที่พรรคขนาดเล็กและกลางซึ่งมักจะหวังที่นั่งบัญชีรายชื่อก็จะมีจำนวน ส.ส. น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

และนี่จึงเป็นเหตุให้หลายพรรคต้องเร่งปรับทัพเพื่อหนีตายระบบเลือกตั้งแบบใหม่

ภายใต้ระบบใหม่ หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเท่าเดิมคือประมาณ 35,500,000 คน การจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน พรรคจะต้องได้รับเสียงมากถึง 355,000 เสียง เปรียบเทียบกับ MMA ที่ต้องการขั้นต่ำเพียง 71,000 เสียง หรือเพิ่มมามากกว่าห้าเท่า

การคำนวณคะแนนขั้นต่ำที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน

ระบบ MMA หรือหารห้าร้อย (เลือกตั้ง 2562): ~71,000 = 35,500,000/500

ระบบ MMM หรือหารร้อย (เลือกตั้ง 2566): ~355,000 = 35,500,000/100

เปรียบเทียบวิธีการคำนวณผลการเลือกตั้ง 2562 ด้วยสูตร MMA และ MMM โดยยังไม่ปัดเศษ

พรรค คะแนน
ส.ส. บัญชีรายชื่อ MMA (หารห้าร้อย 62)
ส.ส. บัญชีรายชื่อ MMM (หารร้อย 66)
ผลต่างของที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ
เพื่อไทย 7,881,006 0 22 +22
พลังประชารัฐ 8,441,274 19 23 +4
อนาคตใหม่ 6,330,617 50 17 -33
ประชาธิปัตย์ 3,959,358 20 11 -9
ภูมิใจไทย 3,734,459 12 10 -2
เสรีรวมไทย 824,284 10 2 -8
ชาติไทยพัฒนา
783,689
4 2 -2
ประชาชาติ
481,490
1 1 0
ชาติพัฒนา
244,770
2 0 -2

**** จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อในปี 62 มีทั้งหมด 150 คนในขณะที่ปี 66 มี 100 คน

หากนำผลคะแนนการเลือกตั้ง 2562 มาคำนวณด้วยระบบเลือกตั้ง “หารร้อย” ผลลัพธ์ที่ได้จะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พรรคที่ได้ประโยชน์จากการคำนวณแบบคู่ขนานที่สุดกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 22 ที่นั่งจากที่ไม่ได้รับการจัดสรรเลย พรรคพลังประชารัฐที่ “ดูด” ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ให้เข้ามาอยู่ในพรรค ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มที่นั่งบัญชีรายชื่อเล็กน้อย ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือพรรคอนาคตใหม่ หรือในปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล ที่จะเสียที่นั่งบัญชีรายชื่อไปถึง 33 ที่นั่ง เหลือเพียง 17 ที่นั่งภายใต้ระบบ “หารร้อย” เท่านั้น

สำหรับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่สมัยชาติชาย ชุณหะวัณ จะเสียที่นั่งบัญชีรายชื่อทั้งหมดจากที่มีอยู่สองที่ในระบบใหม่ เนื่องจากเป็นพรรคท้องถิ่น มีความนิยมจำกัดอยู่ในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น โอกาสที่จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อซึ่งต้องได้คะแนนกว่าสามแสนนั้นดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเกิด “ดีล” ควบรวมกับพรรคกล้า โดยหวังว่าจะได้กรณ์ซึ่งเคยเป็นมือเศรษฐกิจให้กับพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็น “แม่เหล็ก” เชิงนโยบายในระดับชาติ ในขณะที่พรรคกล้าเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ซึ่งพรรคหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องชนะ พรรคใหม่ของกรณ์จึงต้องการฐานเสียงจากพรรคเก่าแก่เพื่อหวังจะได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อ ยุทธศาสตร์การควบรวมพรรคจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและสมประโยชน์กันทั้งสองพรรค ดังที่ทั้งสุวัจน์และกรณ์ประกาศร่วมกันว่า “พรรคชาติพัฒนากล้า” จะเป็นส่วนรวมของ “มือการเมือง” และ “มือเศรษฐกิจ”

นอกจากพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่าพรรคไทยสร้างไทยและสร้างอนาคตไทยกำลังพิจารณาควบรวมกัน โดยเริ่มจากการประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกัน และอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองโดยมีเก้าอี้หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายรัฐมนตรีที่ทั้งสุดารัตน์และสมคิดก็อยากได้ทั้งคู่ อย่างไรก็ดี ก็เป็นเพราะการแก้ไขระบบเลือกตั้งนั่นเอง ที่บีบให้อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยต้องกลับมาจับมือกันอีกครั้งเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง