รีวิว 5 ขั้นตอนง่ายๆ ย้ายทะเบียนบ้านกลางเข้าทะเบียนบ้านปกติ รักษาสิทธิเลือกตั้ง

วันเลือกตั้งใหญ่เริ่มใกล้เข้ามาทุกที คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้นเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หากสภาอยู่จนครบวาระ แปลว่าประชาชนมีเวลาอีกประมาณสามเดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่หากมีการยุบสภาก่อนครบวาระ วันเลือกตั้งใหญ่อาจจะมาถึงเร็วกว่านั้น
ในเวลานี้แม้กกต.จะยังไม่ประกาศวันเลือกตั้ง แต่ก็เริ่มเห็นป้ายหาเสียงผุดขึ้นตามท้องถนนแล้ว  ประชาชนหลายๆคนอาจจะเริ่มเล็งกันแล้วว่าที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วจะได้เลือกใครเป็นผู้แทนในเขตตัวเอง แต่สำหรับคนที่อาจมีชื่อใน “ทะเบียนบ้านกลาง” จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ ได้รวมถึงสิทธิในการเลือกตั้ง
สาเหตุที่ทำให้บุคคลไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอาจได้แก่
  • เจ้าบ้านขอย้ายชื่อคนในทะเบียนบ้านที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่จริงและติดต่อไม่ได้เกิน 180 วัน
  • เจ้าบ้านซื้อบ้านต่อจากผู้อื่นแล้วย้ายชื่อที่ค้างอยู่ในทะเบียนบ้านออกจากทะเบียนบ้าน
  • พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน และไม่มีบ้านในประเทศไทยแล้ว
  • ศาลออกหมายจับหรือพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมบุคคลใด เกิน 180 วันนับจากวันที่ศาลออกหมายจับ
  • ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านของมหาวิทยาลัยแล้วพ้นสภาพนักศึกษาแล้วยังไม่ได้ไปย้ายออก
วันนี้เรามารีวิววิธีย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางง่ายๆ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเข้าคูหา รักษาสิทธิเลือกตั้งกัน!
ขั้นตอนที่ 1: ผู้ที่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลาง นัดแนะกับเจ้าบ้านที่ต้องการจะย้ายชื่อเข้าไปยังทะเบียนบ้านนั้น เตรียมเอกสารสามอย่าง 1. เอกสารยืนยันตัวตนตัวจริงของผู้ที่จะย้ายเข้า (บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง) 2.เอกสารยืนยันตัวตนตัวจริงของของเจ้าบ้าน (บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง) 3.เล่มทะเบียนบ้านจริงที่จะย้ายเข้า 
ไปที่สำนักงานเขตในกรณีกรุงเทพ และสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรณีต่างจังหวัด
ขั้นตอนที่ 2: แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านที่โต๊ะหน้าของกองทะเบียนราษฎร ยื่นเอกสารทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับบัตรคิว
ขั้นตอนที่ 3: รอเรียกคิวและยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านให้ 
ขั้นตอนที่ 4: จ่ายค่าธรรมเนียม 20 บาท อย่าลืมพกเงินสดติดตัวไปด้วยเพื่อความรวดเร็ว
ขั้นตอนที่ 5: รับทะเบียนบ้านคืน แค่นี้ก็มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 15 นาที (หากคิวไม่ยาว)
กรณีที่เจ้าบ้านไม่สะดวกมาดำเนินการด้วยตัวเอง สามารถเขียนหนังสือมอบหมายและยินยอมให้ดำเนินการแทน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเซ็นต์รับรองมาให้ดำเนินการแทนได้
ดาวน์โหลดหนังสือมอบหมายและยินยอมให้ดำเนินการแทนได้ที่:
อ่านรายเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการย้ายทะเบียนบ้านกลางในกรณีอื่นๆ เช่น อาศัยอยู่ต่างประเทศ, ผู้ทุพพลภาพหรือพิการ ได้ที่”