สำรวจสามเบี้ยบนกระดานเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย

หลังการเลือกตั้ง 2562 พรรคภูมิใจไทยได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภา 51 คน จากนั้นค่อยๆ ดึงตัว ส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งในสภามาร่วมพรรคเรื่อยๆ โดยสามารถแบ่งเป็นสามช่วงหลัก คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เดือนมกราคม 2565 หลังพรรคพลังประชารัฐขับ ส.ส.ก๊วนร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าออกจากพรรค และชุดใหญ่ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเข้าสู่ช่วงเวลาที่ ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคต้องรีบหาพรรคสังกัดใหม่เพื่อให้เป็นสมาชิกพรรคตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ตั้งแต่ปี 2562-2565 ภูมิใจไทยสามารถดึงตัว ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้งได้อย่างน้อย 51 คน (นับรวมจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์และผ่องศรี แซ่จึงที่ยังไม่ยอมลาออกจากพรรคเพื่อไทยแต่จะส่งคู่สมรสลงสมัครสมัยหน้าในนามภูมิใจไทย) ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 43 คนและแบบบัญชีรายชื่อแปดคน มากที่สุดมาจากพรรคพลังประชารัฐที่ 19 คน (ไม่นับรวมธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์และธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจที่ถูกขับออกจากพลังประชารัฐและเข้าพรรคเศรษฐกิจไทยก่อน) รองลงมาคือ พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล 15 คน

ภูมิใจไทยได้ ส.ส.ระดับแม่เหล็กที่เคยดำรงตำแหน่งมาหลายสมัยมากที่สุดห้าสมัยจำนวนสามคน ได้แก่ จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา และวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และยังคว้าบ้านใหญ่ได้ในหลายจังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี และเชียงราย จากจำนวน ส.ส.ที่ย้ายพรรคทั้งหมดพอจะแบ่งประเภทได้เป็นสามรูปแบบดังนี้ 

เบี้ยงูเห่าส้ม : เพิ่มข้อต่อรองและที่นั่งแบบฟาสต์แทรค

51 ที่นั่ง คือ จำนวนแรกเริ่มของ ส.ส.ในสภาของพรรคภูมิใจไทย หากนานวันก็เริ่มปรากฏ “งูเห่าส้ม” ย้ายพรรคเพิ่มจำนวนที่นั่ง เพิ่มอำนาจต่อรองในขั้วการเมืองฟากรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย เริ่มจากศรีนวล บุญลือ ส.ส.เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยกวาดที่นั่งไปได้ทั้งจังหวัด ต่อมากกต.มีมติให้ใบส้มสุรพล เกียรติไชยากร ส.ส. เขต 8 ในข้อกล่าวหาเรื่องเงินใส่ซองทำบุญวันเกิด ทำให้เขต 8 ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง การเลือกตั้งซ่อมในเดือนพฤษภาคม 2562 พรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร คะแนนจากฝ่ายประชาธิปไตยจึงเทไปที่ศรีนวล ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ ในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่และเป็นการหาเสียงที่ไม่เพียงเรียกร้องชัยชนะแบบเขตของศรีนวลเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องคะแนนเสียงแบบท่วมท้นเพื่อนำไปคำนวณเป็นส่วนคะแนนเพิ่มให้แก่ที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอีก

ท้ายสุดศรีนวลได้คะแนน 75,891 คะแนน เพิ่มขึ้นเกือบครึ่งจากรอบแรกที่ได้คะแนนเป็นอันดับสามที่ 29,556 คะแนน และกลายเป็น ส.ส.ที่ได้คะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้ง 2562 อย่างไรก็ตามศรีนวลดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่กี่เดือนก็ย้ายพรรคข้ามขั้วไปภูมิใจไทยชนิดหักน้ำใจคนเมืองที่เลือกมาด้วยฐานคิด “ฝ่ายประชาธิปไตย” กลายเป็น ส.ส.ค่ายสีน้ำเงินหนึ่งเดียวในเมืองหลวงของพรรคสีแดง

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ ส.ส.ที่สังกัดพรรคต้องย้ายไปสังกัดพรรคสำรองอย่างพรรคก้าวไกล การยุบพรรคเปิดช่องให้ ส.ส.แปรพักตร์ เปลี่ยนขั้วทางการเมือง ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.อนาคตใหม่มาเพิ่มอีกเก้าคน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเจ็ดคน คือ ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย และโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กรุงเทพฯ อนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี กิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น กฤติเดช สันติวชิระกุล และเอกการ ซื่อทรงธรรม ส.ส.แพร่ และแบบบัญชีรายชื่ออีกสองคนคือ วิรัช พันธุมะผล และสำลี รักสุทธี ในกลุ่มนี้สำลีเป็นเบี้ยอายุสั้น วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาคำร้องว่า เขามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งและมีคำวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพในปีถัดมา 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ย้ายพรรคการเมืองได้รับเลือกจากกระแสสูงทางการเมืองอนาคตใหม่ และได้รับอานิสงค์จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เช่น กิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ที่ฐิติมา ฉายแสง ผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ เจ้าของพื้นที่ลงทุนช่วยหาเสียง เช่นเดียวกับ ส.ส.แพร่ จากอนาคตใหม่ทั้งสองเขตที่แปรพักตร์ ทั้งสองได้รับเลือกส่วนหนึ่งเป็นผลจากเจ้าของพื้นที่อย่างทศพร เสรีรักษ์ และวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จากไทยรักษาชาติที่วืดลงแข่งจากข้อกล่าวหาที่พรรคเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแบบ ‘ดึงฟ้าต่ำ’ นอกจากนี้ภูมิใจไทยมี ส.ส.อีกชุดหนึ่งคือชุด “งูเห่าฝากเลี้ยง” ได้แก่ ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี พีรเดช คําสมุทรและเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และคารม พลพรกลาง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งโหวตสวนมติพรรคและเปิดตัวนั่งเก้าอี้ภูมิใจไทยมานานก่อนจะสมัครเข้าสู่พรรคภูมิใจไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2565 

ตลอดมาเหล่า “งูเห่าส้ม” ถูกใช้ประโยชน์เพิ่มที่นั่ง เพิ่มเสียงในสภาให้แก่พรรครัฐบาล แต่ในการเมืองปี 2566 เบี้ยงูเห่าส้มอาจไม่ได้ไปต่อทั้งหมด ลอยตัวได้ลงสมัครแล้วคือ วิรัช พันธุมะผล ซึ่งมีรายงานข่าวว่า มีชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรค ขณะที่หลายคนยังต้องเผชิญความท้าทาย เช่น ศรีนวล การจะคว้าเก้าอี้เป็นสมัยที่สอง ไม่ง่ายนักฐานหักใจคนเชียงใหม่ และหากสุรพลกลับมาลงเลือกตั้งเขตเดียวกันอีกครั้งยิ่งเป็นงานหิน เนื่องจากสุรพลเป็นเจ้าของพื้นที่มายาวนานตั้งแต่ปี 2535 คนถัดมาคือ คารมมีรายงานว่า เลือกตั้งปี 2566 เขาจะลงแข่งขัน ส.ส.เขต 6 จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งผู้สมัครภูมิใจไทยเดิมคือ ประจักษ์ มูลรัตน์ ได้คะแนน 3,922 คะแนนเป็นอันดับสี่ ผู้ชนะคือ กิตติ สมทรัพย์ ส.ส.ห้าสมัย จากพรรคเพื่อไทย ร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่สำคัญของเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทยคว้าที่นั่งไปได้หกจากทั้งหมดเจ็ดเขต ส่วนภูมิใจไทยไม่ได้สักที่นั่งเดียว คว้าคะแนนหลักร้อยสี่เขต และอีกสามเขตอยู่หลักพันมากสุดคือเขต 4 ที่ 5,971 คะแนน 

กรณีกิตติชัย การเมืองฉะเชิงเทราเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เพื่อไทยเตรียมทวงพื้นที่คืน หลังปี 2562 ต้องสะดุดจากการยุบพรรคสาขาอย่างไทยรักษาชาติ การเลือกตั้ง 2566 ตระกูลฉายแสงกลับเพื่อไทยและส่งฐิติมา ฉายแสงลง ส.ส.เขต 1 ขณะที่สุชาติ ตันเจริญ พรรคพลังประชารัฐยังไม่เปิดหน้าย้ายพรรค แต่ลูกชายลงแข่งในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนอนาวิล เป็น ส.ส.จากเสียงคนรุ่นใหม่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อย้ายพรรคเช่นนี้จึงเป็นแผลใหญ่เทียมกันกับกรณีของศรีนวล รอบนี้พรรคก้าวไกลแก้เกม “งูเห่า” ส่งชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมปฏิรูปสถาบันฯ ลงเขตนี้แทน ขณะที่ขวัญเลิศ ส.ส.ชลบุรีต้องสู้กับศึกสองด้าน คือ ฝั่งรวมไทยสร้างชาติ นำโดยสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสนธยา คุณปลื้ม บ้านใหญ่ชลบุรีที่ครั้งนี้เตรียมจัดทัพ ส.ส.สู้ลงฝั่งเพื่อไทย 

เบี้ยส.ส.ใหม่ : เดิมพัน ส.ส.สมัยแรกเจาะฐานกทม.

“ถึงเวลาภูมิใจไทยเข้ากรุงเทพฯ แล้วครับ…มุ่งเน้นความสงบ ความสันติ ความสามัคคีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เคารพ” เป็นคำประกาศจากอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวระหว่างการเปิดตัวสมาชิกใหม่ หน้าเก่าจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566

การเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครครบทั้ง 30 เขต แต่ไม่ได้รับชัยชนะสักเขตเดียว ผลรวมคะแนนทั้ง 30 เขตอยู่ที่ 43,558 คะแนน ยังไม่ถึงเกณฑ์ ส.ส.พึงมีหนึ่งที่นั่ง ผู้สมัครมากกว่าครึ่งได้คะแนนต่ำพัน น้อยที่สุดคือ ศูนย์ มากที่สุดคือ 6,748 คะแนน เป็นเสียงที่ไสว โชติกะสุภา อดีตส.ก.หลายสมัยสามารถรวบรวมได้ เรียกได้ว่า สนามกรุงเทพฯ ไม่ ‘กล้วย’ สำหรับภูมิใจไทย อย่างไรก็ตามระหว่างทางเดินของสภาสมัยที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยมีส.ส.กรุงเทพฯ จากอานิสงค์ยุบพรรคอนาคตใหม่ คือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี และร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย ทั้งสองเป็น ส.ส.สมัยแรกด้วยกระแสสูงของพรรคอนาคตใหม่ 

ปลายปี 2565 ท่ามกลางกระแสการย้ายพรรค ซึ่งแทบเป็นการเขย่าย้ายไปมาในขั้วของพรรคร่วมรัฐบาล ภูมิใจไทยดึงส.ส.สังกัดพลังประชารัฐหน้าใหม่ได้เพิ่มอีกอย่างน้อยห้าคน คือ พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ จักรพันธ์ พรนิมิต กรณิศ งามสุคนรัตนา กษิดิ์เดช ชุติมันต์ และภาดาท์ วรกานนท์ โดยมีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยในเขตกรุงเทพมหานคร เดิมทีในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐยังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่างทรงของคสช. ที่ร่างกฎกติกาการเลือกตั้งเอง ตั้งชื่อพรรคเหมือนตามนโยบายรัฐ และเป็นตัวแทนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม โดยครั้งนั้นพลังประชารัฐกวาดชัยไปได้ 12 ที่นั่งจากทั้งหมด 30 ที่นั่ง กรณีของ ส.ส.ทั้งห้าคน เป็นส.ส.สมัยแรกที่คว้าชัยในฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตามความได้เปรียบของพลังประชารัฐไม่ได้คงอยู่ตลอดไป อาจเทียบเคียงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่พอเป็นไพ่ทำนายอนาคตการเลือกตั้งระดับชาติได้อยู่บ้าง ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยปี 2562 ชนะแบบ “แลนด์สไลด์” คะแนนเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 50 เขตเลือกตั้ง ขณะที่ส.ก. พรรคเพื่อไทยได้ 20 เขตจากทั้งหมด 50 เขต ก้าวไกลได้ 14 เขต ส่วนพลังประชารัฐได้เพียงสองเขต ด้านประชาธิปัตย์กลับมาทวงคืนเก้าอี้ ส.ก.ได้เก้าที่นั่ง นอกจากนี้การย้ายพรรคของ ส.ส.พลังประชารัฐแล้วยังมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยอีกหนึ่งคนคือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ซึ่งเป็นส.ส.สมัยแรกเช่นเดียวกันที่ย้ายไปภูมิใจไทย

เบี้ยบ้านใหญ่ : เมื่อการเมืองท้องถิ่นสยายปีกสู่ระดับชาติ

เบี้ยบ้านใหญ่ของพรรคภูมิใจไทยถือเป็นเบี้ยสำคัญที่ต้องจับตา รอบนี้พรรคภูมิใจไทยดึงตัวนักการเมืองบ้านใหญ่มาได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สองพ่อลูกตระกูลช่างเหลาอย่างเอกราชและวัฒนา ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐพร้อมกับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประกาศเข้าร่วมพรรคภูมิใจไทย ตระกูลช่างเหลาเป็นนักการเมืองในจังหวัดขอนแก่น ก่อนหน้านี้เอกราชเคยสังกัดพรรคภูมิใจไทยมาก่อน จากนั้นทำงานเบื้องหลังผลักดันคนใกล้ตัวเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น ในปี 2562 เอกราชกลับมาในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่วัฒนา เป็น ส.ส.เขต 2 ขอนแก่นของพรรคเดียวกัน ระหว่างนี้เอกราชยังผลักดันลูกชายและหลานชายลงการเมืองท้องถิ่นเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น

ปลายปี 2565 ภูมิใจไทยเปิดตัวส.ส.ย้ายพรรคแบบจัดเต็มพร้อมกันทีเดียว ในจำนวนนี้มีตระกูลโพธิพิพิธ บ้านใหญ่กาญจนบุรี พร้อมด้วย ส.ส.หลายสมัยอย่าง พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ สว.และส.ส.หลายสมัยที่ย้ายมาจากพรรคพลังประชารัฐ บ้านใหญ่ชัยนาทคือ มณเทียร สงฆ์ประชาจากพรรคพลังประชารัฐ และนันทนา สงฆ์ประชาจากพรรคประชาภิวัฒน์ บ้านใหญ่เชียงรายอย่างรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ตระกูลวันไชยธนวงศ์เข้าสู่การเมืองระดับชาติมาตั้งแต่ปี 2534 และตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2554 ที่แบ่งขั้วลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย แต่วันไชยธนวงศ์ ฝั่งภูมิใจไทยแพ้หมด เหลือรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ที่ชนะเป็น ส.ส.ในนามเพื่อไทยยาวจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 ก่อนจะย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยในปี 2565 สื่อวิเคราะห์ว่า เป็นผลมาจากทางแยกในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเมื่อปลายปี 2563 ที่ตระกูลวันไชยธนวงศ์มีชัยชนะเหนือผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทยผลักดันอย่างวิสารดี เตชะธีราวัฒน์ได้ 

และยังเกิดการย้ายข้ามขั้วของบ้านใหญ่ในอุดรธานี จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.สามสมัยของอุดรธานี บุตรชายประจวบ ไขยสาส์น ส.ส.อุดรธานีเจ็ดสมัยและนักการเมืองไทยรักไทยรุ่นแรกๆ เนื่องจากพรรคไม่วางใจให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบเขต เหตุข่าวย้ายซบพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จึงเป็นเหตุให้จักรพรรดิย้ายออกไปอยู่ภูมิใจไทย นอกจากบ้านใหญ่ย้ายพรรคแล้วชมน์ธิดา อัศวเหม ลูกสาวของชนม์สวัสดิ์ อัศวเหมและนันทิดา แก้วบัวสาย บ้านใหญ่สมุทรปราการยังออกตัวสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทยอีกด้วย ขณะที่อัครวัฒน์และต่อศักดิ์ อัศวเหม พร้อมส.ส.กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้ายังอยู่พลังประชารัฐ 

กาญจนบุรี : กวาดตัวเต็งแทบยกจังหวัด

ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐสามารถดึงตัวนักการเมืองบ้านใหญ่อย่างอัฏฐพลและธรรมวิชช์ โพธิพิพิธมาอยู่ใต้สังกัด เดิมทีโพธิพิพิธเป็นตระกูลการเมืองที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ สื่อรายงานว่า การย้ายพรรคครั้งนี้เกี่ยวพันกับคดีของประชา โพธิพิพิธ หรือ กำนันเซี๊ยะ ผู้เป็นพ่อของทั้งสอง ประชาถูกกล่าวหาในคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุและศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก 56 เดือน แต่ประชาและภรรยาก็เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะได้รับโทษ  

ตระกูลโพธิพิพิธสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน มีประชา ผู้พ่อบุกเบิกพื้นที่ผู้แทนในสภามาตั้งแต่ปี 2538 สำหรับอัฏฐพล ในปี 2550 เขาได้รับเลือกเป็นส.ส. เขต 1 จังหวัดกาญจนบุรี ได้คะแนนเป็นลำดับสามรองจากผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชนคือ พล.ท.มะ โพธิ์งาม และพล.อ. สมชาย วิษณุวงศ์ อดีตส.ว.และส.ส. ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ระบบเลือกตั้งเปลี่ยน เขตหนึ่งมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว อัฏฐพลแพ้พล.อ.สมชาย จากพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง 2562 ทั้งอัฏฐพลและพล.อ.สมชายต่างโคจรมาเจอกันในฐานะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ โดยอัฏฐพล ลงสมัครในเขต 5 และพล.อ.สมชาย ลงสมัครในเขต 1 และต่างก็คว้าชัยไปได้ทั้งคู่ อัฏฐพล มีน้องชายอีกหนึ่งคนคือ ธรรมวิชช์ โพธิพิพิธ ซึ่งเป็นอดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ด้วยเช่นกัน ทั้งสองตัดสินใจย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ 

ในการเลือกตั้งปี 2566 นักการเมืองที่คว่ำหวอดในพื้นที่อย่างสองพี่น้องตระกูลโพธิพิพิธ และพล.อ.สมชายย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย หากเปรียบเทียบจากผลการเลือกตั้งปี 2562 กาญจนบุรีมีห้าเขต ภูมิใจไทยมีผู้ชนะจากสี่เขตอยู่ในมือแล้ว คือ เขต 1 สมชาย วิษณุวงศ์ เขต 4 ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ และเขต 5 อัฏฐพล โพธิพิพิธ ส่วนเขต 3 เป็นยศวัฒน์ มาไพศาลสิน จากภูมิใจไทย เดิมทีในเขตเลือกตั้งที่ 1, 4 และ 5 ผู้สมัครจากภูมิใจไทยได้คะแนนหลักพันเท่านั้น การย้ายพรรคของผู้แทนทั้งสามคนนี้จึงทำให้ฐานกำลังภูมิใจไทยฝั่งตะวันตกแข็งแกร่งขึ้น 

นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยยังดึงตัวปารเมศ โพธารากุล หรือ กำนันบอยจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงานได้ ปารเมศเป็นนักการเมืองการเมืองท้องถิ่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 ชนะการเลือกตั้ง แต่กกต.ให้ใบแดง จากนั้นยังชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2550 แต่ในการเลือกตั้ง 2562 ปารเมศลงสมัครในเขต 3 ได้คะแนนเป็นอันดับสองแพ้ให้กับยศวัฒน์จากภูมิใจไทย ในปี 2565 ปารเมศย้ายมาร่วมงานกับภูมิใจไทย จากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สื่อรายงานว่า เขาจะลงสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566

ศรีสะเกษ : จุดวัดใจการเมืองท้องถิ่น VS แลนด์สไลด์ระดับชาติ

นับตั้งแต่ปี 2544 ความนิยมของพรรคไทยรักไทยเริ่มขยายตัวมากขึ้น นักการเมืองที่เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทยเริ่มครองพื้นที่ศรีสะเกษ เห็นได้ชัดเจนในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งไปแปดจากทั้งหมดเก้าที่นั่ง หนึ่งในส.ส.ที่เข้ามาสู่กระแสสูงของไทยรักไทย คือ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะที่ย้ายมาจากพรรคชาติไทยและอยู่พรรคไทยรักไทยยาวมาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ในงานวิจัยเรื่อง “นักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดศรีสะเกษ” ของสถาบันพระปกเกล้าในปี 2551 วิวัฒน์ชัยมองว่า ความนิยมนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของการเมืองศรีสะเกษที่แต่เดิมเน้นบุคคล เปลี่ยนมาเป็นนิยมในความเป็นพรรคการเมืองแทนอันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2540  

ช่วงเวลาเดียวกัน ไตรสรณกุล-เพ็งนรพัฒน์ และอังคสกุลเกียรติ ตระกูลการเมืองที่มีการเมืองท้องถิ่นเป็นฐานที่มั่นเริ่มสยายปีกเข้าสู่การเมืองระดับชาติแทนที่ตระกูลการเมืองเดิมอย่างตระกูลวีสมหมายและวัชราภรณ์ ตระกูลไตรสรณกุล-เพ็งนรพัฒน์ มีนักการเมืองคนสำคัญรุ่นลูกคือ ธีระและวิชิต ไตรสรณกุล และอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ จุดเริ่มต้นของตระกูลการเมืองนี้เริ่มจากในปี 2518 ฮวด ไตรสรณกุล ผู้เป็นบิดาลงการเมืองท้องถิ่นศรีสะเกษ และมีวิชิต รับช่วงต่อการเมืองท้องถิ่นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยาวนานกว่า 20 ปีจนถึงปัจจุบัน ปี 2544 ธีระลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคความหวังใหม่ แต่แพ้ให้กับวิวัฒน์ชัยที่ลงในนามพรรคชาติไทย ปี 2550 ธีระลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคพลังประชาชน และอุดมลักษณ์ ลูกสาวคนเล็กของฮวดลงสมัครในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย รอบนี้ทั้งสองชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนสมัยแรก

การเมืองปี 2562 บ้านใหญ่หลังนี้แบ่งทางเดินเป็นสองพรรค คือ พรรคภูมิใจไทยและเพื่อไทย วิชิต พ่อของไตรศุลี ไตรสรณกุล ส่งลูกสาวลง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย แต่คะแนนไม่ถึงฝันจึงได้เป็นโฆษกรัฐบาลในโควตาของพรรคภูมิใจไทย ขณะที่อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ เลขานุการของวิชิต ชนะสนาม ส.ส.เขต 7 จังหวัดศรีสะเกษในนามพรรคภูมิใจไทย อีกฟากหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทยมีธีระ ไตรสรณกุล พี่ชายของวิชิต เป็นส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทยในปี 2550 2554 และปี 2562 ชนะการเลือกตั้งในเขต 5 ขณะที่จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ สามีของอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ลูกสาวคนเล็กของฮวดชนในะเขต 4 ซึ่งรอบนี้อุดมลักษณ์ที่การเลือกตั้งในปี 2550 และ 2554 ยืนอยู่พรรคภูมิใจไทยไม่ลงรับสมัคร

อีกตระกูลหนึ่งคือ อังคสกุลเกียรติ เริ่มต้นจากฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติลงเล่นการเมืองท้องถิ่นและครองเก้าอี้นายกเทศบาลเมืองศรีสะเกษตั้งแต่ปี 2528 ขณะที่ปัจจุบันมีมานะพันธ์ อังคสกุลเกียรติ น้องชายดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ นักการเมืองระดับชาติคนสำคัญคือ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ลูกชายของฉัฐมงคล ปี 2548 สิริพงศ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเขต 1 ของพรรคชาติไทย โดยแพ้ให้กับธเนศ เครือรัตน์ จากไทยรักไทยไป 6,557 คะแนน จากนั้นในปี 2550 ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนเขตหนึ่งมีส.ส.หลายคน ทำให้สิริพงศ์ได้เป็นส.ส.สมัยแรกของเขต 1 มีผู้ชนะร่วมเขตสามคนเรียงตามลำดับคะแนนคือ ธเนศ จากพลังประชาชน สิริพงศ์ และปวีณ แซ่จึงจากพลังประชาชน จากนั้นพรรคชาติไทยถูกยุบพรรค ทำให้สิริพงศ์ หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปห้าปี ในการเลือกตั้งปี 2554 ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนให้แต่ละเขตมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว ธเนศ จากเพื่อไทยครองเขต 1 สิริพงศ์กลับมาอีกครั้งในปี 2562 ลงในเขต 1 ครั้งนี้เอาชนะธเนศ จากเพื่อไทยไปได้ 12,468 คะแนน 

การเลือกตั้งปี 2562 ศรีสะเกษมีแปดเขต พรรคภูมิใจไทยได้ที่นั่งสองเขตคือ เขต 1 สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และเขต 7 อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ที่เหลืออีกห้าเขตเป็นของพรรคเพื่อไทย เขต 2 สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ เขต 3 วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ เขต 4 จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ เขต 5 ธีระ ไตรสรณกุล เขต 6 วีระพล จิตสัมฤทธิ์ และเขต 8 ผ่องศรี แซ่จึง การเลือกตั้งปี 2566 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ตระกูลไตรสรณกุลและเพ็งนรพัฒน์จะย้ายจากเพื่อไทยมาร่วมกับภูมิใจไทย นอกจากนี้ยังมีผ่องศรี แซ่จึงจะให้สามี ปวีณ แซ่จึงลงสมัครแทน โดยเขตที่ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเดิมย้ายไปล้วนเป็นเขตที่ภูมิใจไทยอ่อนแอ เช่น เขต 4 ของจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ที่ปี 2562 ผู้สมัครจากภูมิใจไทยได้เพียง 196 คะแนน ดังนั้นทำให้พรรคเพื่อไทยเหลือ ส.ส.เพียงสามเขต คือ สุรชาติ ชาญประดิษฐ์ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ และวีระพล จิตสัมฤทธิ์เท่านั้น การย้ายพรรคครั้งนี้จึงเป็นจุดวัดใจอีกครั้งว่า ภูมิใจไทยจะใช้ฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นของบ้านใหญ่ศรีสะเกษเอาชนะแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยเพิ่มจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในศรีสะเกษได้หรือไม่ 

ตารางรายชื่อส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2562 และย้ายพรรคไปภูมิใจไทย

วันที่

ชื่อ-นามสกุล

พรรค 2554

พรรค 2557

พรรค 2562

จังหวัด

สมัย

19 ธ.ค. 62

ศรีนวล บุญลือ

/

/

อนาคตใหม่

เชียงใหม่

1

25 ก.พ. 63

วิรัช พันธุมะผล

/

/

อนาคตใหม่

/

1

25 ก.พ. 63

ฐิตินันท์ แสงนาค

/

/

อนาคตใหม่

ขอนแก่น

1

25 ก.พ. 63

กฤติเดช สันติวชิระกุล

/

/

อนาคตใหม่

แพร่

1

25 ก.พ. 63

กิตติชัย เรืองสวัสดิ์

/

/

อนาคตใหม่

ฉะเชิงเทรา

1

25 ก.พ. 63

ร.ต.ต.มณฑลโพธิ์คาย

/

/

อนาคตใหม่

กรุงเทพมหานคร

1

25 ก.พ. 63

อนาวิล รัตนสถาพร

/

/

อนาคตใหม่

ปทุมธานี

1

25 ก.พ. 63

เอกการ ซื่อทรงธรรม

/

/

อนาคตใหม่

แพร่

1

25 ก.พ. 63

โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี

/

/

อนาคตใหม่

กรุงเทพมหานคร

1

25 ก.พ. 63

สำลี รักสุทธี

/

/

อนาคตใหม่

/

1

26 ต.ค. 64

พรพิมล ธรรมสาร

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

ปทุมธานี

3

14ก.พ.65

เอกราช ช่างเหลา

ภูมิใจไทย

ภูมิใจไทย

พลังประชารัฐ

ขอนแก่น

1

14 ก.พ. 65

วัฒนา ช่างเหลา

/

/

พลังประชารัฐ

ขอนแก่น

1

15 ก.พ. 65

สมศักดิ์ พันธ์เกษม

ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

ชาติพัฒนา

พลังประชารัฐ

ขอนแก่น

5

16 ธ.ค. 65

ขวัญเลิศ พานิชมาท

/

/

ก้าวไกล

ชลบุรี

1

16 ธ.ค. 65

พีรเดช คําสมุทร

/

/

ก้าวไกล

เชียงราย

1

16 ธ.ค. 65

คารม พลพรกลาง

/

/

ก้าวไกล

/

1

16 ธ.ค. 65

จักรพันธ์ พรนิมิตร

/

/

พลังประชารัฐ

กรุงเทพมหานคร

1

16 ธ.ค. 65

กษิดิ์เดช ชุติมันต์

/

/

พลังประชารัฐ

กรุงเทพมหานคร

1

16 ธ.ค. 65

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์

/

/

พลังประชารัฐ

กรุงเทพมหานคร

1

16 ธ.ค. 65

ประเดิมชัยบุญช่วยเหลือ

/

/

เพื่อไทย

กรุงเทพมหานคร

1

16 ธ.ค. 65

สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์

/

/

พลังประชารัฐ

ชัยภูมิ

1

16 ธ.ค. 65

เอกภพ เพียรพิเศษ

/

/

ก้าวไกล

เชียงราย

1

16 ธ.ค. 65

ปฐมพงศ์ สูญจันทร์

/

/

พลังประชารัฐ

นครปฐม

1

16 ธ.ค. 65

นพ ชีวานันท์

/

/

เพื่อไทย

พระนครศรีอยุธยา

1

16 ธ.ค. 65

อนุชา น้อยวงศ์

/

/

พลังประชารัฐ

พิษณุโลก

1

16 ธ.ค. 65

กฤษณ์ แก้วอยู่

/

/

พลังประชารัฐ

เพชรบุรี

1

16 ธ.ค. 65

สุชาติ อุสาหะ

/

/

พลังประชารัฐ

เพชรบุรี

1

16 ธ.ค. 65

ประทวน สุทธิอํานวยเดช

/

/

พลังประชารัฐ

ลพบุรี

1

16 ธ.ค. 65

เดชทวี ศรีวิชัย

/

/

เสรีรวมไทย

ลำปาง

1

16 ธ.ค. 65

ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์

/

/

พลังประชารัฐ/เศรษฐกิจไทย

อุบลราชธานี

1

16 ธ.ค. 65

เกษมสันต์ มีทิพย์

/

/

ก้าวไกล

/

1

16 ธ.ค. 65

อารี ไกรนรา

/

เพื่อไทย

เพื่อชาติ

/

1

16 ธ.ค. 65

อนุสรี ทับสุวรรณ

/

/

รวมพลัง

/

1

16 ธ.ค. 65

ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ

ประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์

พลังประชารัฐ

กาญจนบุรี

2

16 ธ.ค. 65

อัฎฐพล โพธิพิพิธ

ประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์

พลังประชารัฐ

กาญจนบุรี

2

16 ธ.ค. 65

ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ

เพื่อไทย

เพื่อไทย

พลังประชารัฐ/เศรษฐกิจไทย

ตาก

2

16 ธ.ค. 65

สุชาติ ภิญโญ

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

นครราชสีมา

2

16 ธ.ค. 65

แนน บุณย์ธิดา สมชัย

ประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์

อุบลราชธานี

2

16 ธ.ค. 65

มณเฑียร สงฆ์ประชา

ตัดสิทธิทางการเมือง

ลงสมัครส.ว.

พลังประชารัฐ

ชัยนาท

3

16 ธ.ค. 65

นันทนา สงฆ์ประชา

ภูมิใจไทย

เพื่อไทย

ประชาภิวัฒน์

ชัยนาท

1

16 ธ.ค. 65

ธีระ ไตรสรณกุล

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

ศรีสะเกษ

3

16 ธ.ค. 65

จักรพรรดิ ไชยสาสน์

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

อุดรธานี

3

16 ธ.ค. 65

รังสรรค์ วันไธยธนวงศ์

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เชียงราย

3

16 ธ.ค. 65

พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์

เพื่อไทย

เพื่อไทย

พลังประชารัฐ

กาญจนบุรี

4

16 ธ.ค. 65

นิยม ช่างพินิจ

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

พิษณุโลก

4

16 ธ.ค. 65

วุฒิชัย กิตติธเนศวร

ภูมิใจไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

นครนายก

5

21 ธ.ค. 65

ภาดาท์ วรกานนท์

/

/

พลังประชารัฐ

กรุงเทพมหานคร

1

21 ธ.ค. 65

กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา

/

/

พลังประชารัฐ

กรุงเทพมหานคร

1

/

ผ่องศรี แซ่จึง

/

/

เพื่อไทย

ศรีสะเกษ

2

/

จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์

เพื่อไทย

เพื่อไทย

เพื่อไทย

ศรีสะเกษ

5