รีบเช็คด่วน! มีชื่อใน “ทะเบียนบ้านกลาง” เลือกตั้งไม่ได้ ต้องรีบย้ายเข้าทะเบียนบ้านปกติ

ก่อนจะไปหย่อนบัตร ประชาชนทุกคนจะต้องตรวจสอบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะมีชื่ออยู่ในหน่วยเลือกตั้งใดขึ้นอยู่กับว่าภูมิลำเนาหรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น ๆ จะอยู่ในพื้นที่ของเขตเลือกตั้งใด แม้การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญแต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปกติ แต่ไปมีชื่ออยู่ใน “ทะเบียนบ้านกลาง” ซึ่งพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ รวมถึงสิทธิในการเลือกตั้งด้วย

ทะเบียนบ้านกลางคืออะไร? ใครบ้างอยู่ในนั้น?

ทะเบียนบ้านกลาง ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน แต่เป็นทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยสาเหตุที่บุคคลไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิดได้จากสาเหตุ เช่น 
  • เจ้าบ้านขอย้ายชื่อบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่จริงและติดต่อไม่ได้เกิน 180 วัน
  • เจ้าบ้านซื้อบ้านต่อจากผู้อื่นแล้วย้ายชื่อที่ค้างอยู่ในทะเบียนบ้านออกจากทะเบียนบ้าน รวมถึงคนไทยที่พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน และไม่มีบ้านในประเทศไทยแล้ว
  • ศาลออกหมายจับหรือพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมบุคคลใด ถ้ายังไม่ได้ตัวบุคคลนั้นภายใน 180 วันนับจากวันที่ศาลออกหมายจับ ให้ฝ่ายปกครองหรือหรือตำรวจแจ้งผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ให้รับแจ้งย้ายชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากทะเบียนบ้านแล้วเพิ่มชื่อไว้ในทะเบียนบ้านกลาง รวมทั้งให้หมายเหตุว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับ

การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางสำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย

วิธีการย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางสามารถสรุปได้สองวิธี

1. หากผู้ประสงค์ย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง มีเอกสารยืนยันตัวตนที่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจออกให้ได้ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง สามารถแจ้งขอย้ายจากทะเบียนบ้านกลางเพื่อเข้าทะเบียนบ้านใหม่ได้โดยนำเอกสารยืนยันตัวตนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของเจ้าบ้านที่ยินยอมให้ย้ายเข้าและทะเบียนบ้านฉบับจริงของบ้านที่จะย้ายเข้ามาแสดงต่อสำนักงานเขตในกรณีกรุงเทพ และสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรณีต่างจังหวัด จากนั้นจะต้องเข้ารับการสอบสวนถึงสาเหตุที่ถูกย้ายไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง 

2. หากประสงค์ย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง แต่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน เมื่อมาติดต่อกับสำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น จะต้องมีพยานบุคคลที่เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีอยู่เป็นหลักแหล่ง มีอาชีพการงานมั่นคงรวมทั้งเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในชุมชนได้รับความเชื่อถือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานของรัฐ หรือพ่อค้า มาให้การรับรองด้วย นอกจากนั้นก็จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของเจ้าบ้านที่ยินยอมให้ย้ายเข้าและทะเบียนบ้านฉบับจริงของบ้านที่จะย้ายเข้ามาแสดงด้วย โดยในกรณีนี้ก็จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันตัวบุคคลและสาเหตุที่ผู้แจ้งย้ายถูกย้ายไปอยู่ทะเบียนบ้านกลางไว้ด้วยเช่นกัน

กรณีที่ผู้ประสงค์ย้ายออกเป็นผู้ทุพลภาพหรือพิการไม่สามารถเดินได้ สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นนำเอกสารหลักฐานมาดำเนินการแทน โดยจะต้องแนบใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันมาแสดงด้วย แต่หากผู้ประสงค์จะย้ายออกสามารถเดินได้เองอยู่บ้างควรไปดำเนินการด้วยตัวเองเพราะจะมีขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ถึงสาเหตุที่บุคคลดังกล่าวถูกย้ายไปอยู่ทะเบียนบ้านกลางรวมถึงสอบสวนพิสูจน์ตัวบุคคลด้วย

การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ

ในกรณีที่ผู้มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลางพำนักอยู่ที่ต่างประเทศ หากประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางสามารถดำเนินการได้สองวิธี คือเดินทางกลับมาดำเนินการด้วยตัวเองที่ประเทศไทย ซึ่งในกรณีนี้หากหนังสือเดินทางหมดอายุ ทางสถานทูตจะออกหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อให้ใช้เดินทางกลับประเทศ ซึ่งในกรณีนี้เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้วก็สามารถดำเนินการตามวิธีการปกติตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้เลย แต่ในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ผู้ประสงค์ย้ายออกสามารถดำเนินการให้ญาติที่อยู่ในประเทศไทยไปทำเรื่องขอแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้า “ทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ” ได้ 

“ทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ” เป็นทะเบียนบ้านที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง กำหนดให้ทุกสำนักทะเบียนจัดทำขึ้น เพื่อใช้ลงรายการของบุคคลซึ่งขอแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวมีจะมีสิทธิเฉกเช่นเดียวกับคนที่อยู่ในทะเบียนบ้านปกติ รวมทั้งสิทธิทางการเมือง

การย้ายทะเบียนบ้านจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ ผู้ประสงค์ย้ายสามารถให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้โดยให้ผู้ประสงค์ย้ายออกยื่นคำร้องต่อสถานเอกอัครราชทูตในประเทศที่ตัวเองมีถิ่นพำนักอยู่เพื่อให้รับรองลายมือชื่อใน “หนังสือมอบอำนาจ (สำหรับย้ายชื่อออกจากทะเบียนกลาง)” จากนั้นจึงส่งเอกสารที่ผ่านการรับรองแล้ว ไปให้ผู้รับมอบอำนาจที่อยู่ในประเทศไทยดำเนินการย้ายชื่อจากทะเบียนบ้านกลางมาเข้า “ทะเบียนบ้านชั่วคราว (ต่างประเทศ)”  โดยการย้ายเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวจะต้องไปดำเนินการที่ เขตหรืออำเภอที่ผู้แจ้งมีภูมิลำเนาเท่านั้น ซึ่งผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวจะมีสิทธิเหมือนผู้มีชื่อตามทะเบียนบ้านปกติรวมถึงสิทธิในการเลือกตั้ง

การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางกรณีถูกย้ายไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางเพราะถูกออกหมายจับเกิน 180 วัน 

สำหรับผู้ที่ถูกย้ายไปอยู่ทะเบียนบ้านกลางเพราะถูกออกหมายจับและยังไม่ถูกจับกุมตัวภายในเวลา 180 วัน นับแต่ศาลออกหมายจับจะไม่สามารถขอแจ้งย้ายที่ปลายทางได้ ผู้ประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางจะต้องมาแสดงตัวต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นผู้จัดทำทะเบียนบ้านกลาง พร้อมแสดงหลักฐานว่าหมายจับได้ถูกเพิกถอนแล้วหรือมีการปฏิบัติตามหมายจับเช่นบุคคลดังกล่าวถูกจับกุมตัวหรือได้เข้าแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้วเสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถไปแจ้งย้ายเข้าต่อนายทะเบียนประจำท้องที่ของบ้านที่ประสงค์จะย้ายเข้าได้ 

การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง สามารถแจ้งย้ายปลายทางได้ยกเว้นกรณีคนถูกย้ายเพราะมีหมายจับ

การแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ในอดีตไม่สามารถแจ้งย้ายปลายทางได้ ผู้ประสงค์แจ้งย้ายออกต้องไปดำเนินการแจ้งย้ายออกต่อนายทะเบียนประจำท้องถิ่นที่อยู่เดิมซึ่งเป็นผู้รับแจ้งให้ย้ายชื่อบุคคลดังกล่าวไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จากนั้นจึงค่อยไปทำเรื่องย้ายเข้ากับนายทะเบียนประจำท้องถิ่นที่จะเป็นที่อยู่ใหม่

แต่ในปี 2562 มีการออก ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 (ข้อ 89 วรรคสาม) กำหนดให้ผู้ประสงค์แจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางสามารถแจ้งย้ายปลายทางได้ ยกเว้นกรณีของผู้ที่ถูกย้ายไปอยู่ทะเบียนบ้านกลางเพราะถูกออกหมายจับ ยังต้องดำเนินการแจ้งย้ายออกต่อนายทะเบียน พร้อมแสดงหลักฐานว่าหมายจับสิ้นผลไปแล้วต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่เป็นผู้รับแจ้งย้ายไปทะเบียนบ้านกลางให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะสามารถไปแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนประจำท้องถิ่นที่อยู่ใหม่ซึ่งบ้านที่ประสงค์จะย้ายเข้าอยู่ได้

ย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางแล้วไปเลือกตั้งที่ไหน?

หากผู้ประสงค์ย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านปกติเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในทะเบียนบ้านใหม่ 90 วันขึ้นไป ก็จะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตตามทะเบียนบ้านได้ทันที 

แต่หากย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ไม่ถึง 90 วัน ก็จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในที่ที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 90 วันครั้งสุดท้าย

ตัวอย่างเช่น เคยอยู่ทะเบียนบ้านกลางในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร หากอยู่ในทะเบียนบ้านเขตดุสิต เกิน 90 วัน ก็จะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตดุสิตได้ แต่ถ้าหากย้ายทะเบียนบ้านใหม่ไม่ถึง 90 วัน ก็ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตตามทะเบียนบ้านก่อนหน้าที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นเกิน 90 วัน