เปิดกฎหมายลามก ไทยปิดกั้น ต่างประเทศเน้นอยู่ร่วม

พื้นที่ของการเข้าถึงสิ่งลามกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น หนังผู้ใหญ่-เซ็กส์ทอย-OnlyFans แม้ในทางปฏิบัติบุคคลทั่วไปจะยังสามารถเข้าถึงหรือหาซื้อสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ในทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ยังกำหนดความผิดที่เกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารไว้หลายฐานความผิด การผลิต การครอบครอง การนำเข้า การส่งออกสิ่งลามกอนาจาร รวมถึงเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารบนโลกออนไลน์ ยังผิดกฎหมาย หากยังจำกันได้ ปี 2564 ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็เล่นใหญ่ บุกจับ ไข่เน่า” ผู้ผลิตคอนเทนต์ทางเพศ (Sex Creator) ตอนดึก ตามมาด้วยการตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
แม้ทิศทางของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปขณะที่กฎหมายยังไม่ถูกแก้ไขใหญ่อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ใช่ว่ากฎหมายจะถูกแช่แข็งกำหนดไว้เช่นเดิมตลอด เพราะหากสำรวจข้อเสนอที่เกี่ยวข้องในช่วงปี 2564-2565 ภาคประชาชนรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภาก็เสนอแก้ไขกฎหมาย ผ่อนคลายความผิดเกี่ยวกับเพศ เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับชีวิตประชาชน แต่ยังคงกำหนดความผิดบางอย่างเพื่อคุ้มครองผู้คนในสังคมอยู่

ส่องกฎหมายไทย ครอบครองสิ่งลามกเงียบๆ ได้ แต่ห้ามผลิต-เผยแพร่

แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญา จะกำหนดความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจารไว้สามมาตรา แต่ก็ไม่ได้กำหนดคำนิยามไว้ตรง ๆ ว่าสิ่งลามกอนาจารคืออะไร
แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาอธิบายถึงความหมายของสิ่งลามกอนาจารไว้ว่า “สิ่งลามกอนาจารคือ ภาพ ข้อความ หรือวัตถุใด ๆ ที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศหรืออวัยวะเพศโดยแสดงในลักษณะน่าเกลียด น่าอับอายในทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ ไม่มีลักษณะของศิลปะอันแสดงถึงความงามหรือฝีมือของศิลปิน และแม้สิ่งนั้นจะมิได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายก็จัดว่าเป็นสิ่งลามกอนาจารได้”
หากพิจารณาจากการอธิบายโดยศาล จะพอยกตัวอย่างสิ่งที่เข้าข่ายจะเป็นสิ่งลามกอนาจารได้ เช่น รูปโป๊, หนังโป๊ เป็นต้น ขณะที่ “สื่อลามกอนาจารเด็ก” มาตรา 1 (17) กำหนดนิยามไว้อย่างชัดเจน ว่าหมายความถึง วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือการกระทำทางเพศกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยมีลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร เนื่องจากกฎหมายมีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองเด็ก จึงมีการบัญญัติเป็นพิเศษต่างหาก
โดยในกฎหมายอาญา กำหนดความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจาร ไว้ดังนี้
1) เผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร มาตรา 287 (1) กำหนดว่าการผลิต การครอบครอง การนำเข้า การส่งออกสิ่งลามกอนาจาร รวมไปถึงการทำให้สิ่งลามกอนาจารแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์ทางการค้า หรือเพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อแสดงแก่ประชาชน เป็นความผิด ดังนั้น กรณีที่บุคคลผลิตคอนเทนต์ทางเพศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ OnlyFans หรือเว็บไซต์อื่นๆ ไม่ว่าจะเรียกเก็บเงินหรือไม่ก็ตาม จึงเข้าข่ายผิดตามมาตรานี้ อย่างไรก็ดี หากเป็นการครอบครองสิ่งลามกอนาจารเพื่อประโยชน์ทางเพศของตนเองหรือผู้อื่น (ที่ไม่ใช่สื่อลามกอนาจารเด็ก) ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ตามหลัก “Adult and Alone”
2) ค้าสิ่งลามกอนาจาร มีส่วนค้า หรือให้เช่าสิ่งลามกอนาจาร เป็นความผิดตามมาตรา 287 (2)
3) โฆษณาแหล่งสิ่งลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าหรือเพื่อทำให้แหล่งที่มาของสิ่งลามกอนาจารนั้นแพร่หลาย เป็นความผิดตามมาตรา 287 (3)
4) ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก มาตรา 287/1 กำหนดว่าการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นความผิด เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรา 287 จะเห็นได้ว่าการครอบครองซึ่งสิ่งลามกอนาจารโดยทั่วไปนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่หากเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เช่นการครอบครองหนังโป๊ที่มีผู้แสดงเป็นเด็ก แม้แค่ครอบครองไว้เฉยๆ ก็มีความผิดตามกฎหมาย และหากส่งต่อให้ผู้อื่น จะมีโทษหนักกว่าการครอบครอง
5) เผยแพร่ ค้า หรือโฆษณาแหล่งสื่อลามกอนาจารเด็ก มาตรา 287/2 กำหนดไว้ความผิดเหมือนมาตรา 287 แต่มีข้อแตกต่างคือ วัตถุที่กระทำ คือ สื่อลามกอนาจารเด็ก ทั้งนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มาตรา 287/2 มีโทษที่หนักกว่ามาตรา 287
นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ยังกำหนดว่าการนำข้อมูลซึ่งมีลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เป็นความผิด
มีข้อสังเกตว่าการกำหนดฐานความผิดของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ มีความทับซ้อนกับความผิดฐานแพร่หลายสิ่งอันลามก โฆษณาหรือไขข่าวเกี่ยวกับสิ่งอันลามก ตามมาตรา 287 และความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามมาตรา 287/1 และการค้า แจกจ่าย เผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก ตามมาตรา 287/2 โดยกฎหมายไม่ได้บัญญัติจำกัดวิธีการในการทำให้สิ่งลามก “แพร่หลาย”, “เผยแพร่”, “ส่งต่อ”, “โฆษณา” และ “ไขข่าว” โดยเฉพาะเจาะจง
ดังนั้น การกระทำความผิดฐานดังกล่าวจึงครอบคลุมทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และทางอินเตอร์เน็ต และ เมื่อเป็นวิธีการทางอินเทอร์เน็ต ย่อมเข้าข่ายเป็นการ “นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ” ทำให้การกระทำผิดหนึ่งครั้งสามารถเป็นความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287, 287/1, 287/2 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ในเวลาเดียวกัน ดังเช่นกรณีของไข่เน่า ผู้ผลิตคอนเทนต์ทางเพศ (Sex Creator) เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ OnlyFans ถูกตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีบุกจับกุมตอนดึกและถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมฯ มาตรา 14 (4) และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา แสดงให้เห็นถึงความซ้ำซ้อนและไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับ

สำรวจข้อเสนอประชาชน-สภา ดันตั้งกมธ.ศึกษา แก้ไขกฎหมาย ให้สอดคล้องกับสังคม

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) ไม่ได้ถูกนำไปใช้แค่กับเพียงผู้ผลิตเนื้อหาทางเพศบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่กลับถูกนำไปใช้กับเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง ที่โพสต์เล่าเรื่องราวประสบการณ์ทางเพศในเรือนจำ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 ด้วย  โดยคดีของเอกชัย ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้น ลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และได้รับการประกันตัวเมื่อ 19 กันยายน 2565 เป็นเวลากว่า 154 วันที่เอกชัยต้องถูกคุมขังในเรือนจำ นับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา 
ลักษณะเนื้อหาของโพสต์ที่เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ทางเพศในเรือนจำ ประกอบกับข้อความในโพสต์ เช่น “พี่โม้กให้หน่อยซิ” “พี่ดูดหัวนมให้หน่อย” และ “พี่ อยากเย็ดตูดพี่นะ” นำมาสู่การตั้งคำถามของคนในสังคมว่า การโพสต์เล่าเรื่องดังกล่าว แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศหรืออวัยวะเพศโดยแสดงในลักษณะน่าเกลียด น่าอับอายในทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ ตามแนวทางคำพิพากษาที่ศาลฎีกาได้อธิบายสิ่งลามกหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงการเล่าเรื่องเพื่อให้เห็นสภาพสังคมในเรือนจำเท่านั้น ผู้คนบางส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าการนำกฎหมายมาใช้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองที่เห็นต่างจากรัฐบาล อาจเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ (SLAPP) ขณะที่บางส่วน ก็ตั้งคำถามถึงกฎหมาย ว่าเปิดพื้นที่ให้ผู้แสดงออก พูดคุย หรือผลิตเนื้อหาเรื่องเพศได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องธรรมดาๆ หรือการผลิตเนื้อหาเพื่อหารายได้บนเว็บ OnlyFans
หากสำรวจข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่บ้าง อาทิ ข้อเสนอจากภาคประชาชน ให้เข้าชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ผลักดันการจัดระบบสิ่งลามก การเผยแพร่ ผลิต หรือค้าสื่อบันเทิงทางเพศ รวมถึงเซ็กส์ทอย สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง  อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ก็ถูกชะลอไว้ยังไม่ได้นำรายชื่อประชาชนไปยื่นต่อสภา

ขยับไปที่ฟากตัวแทนประชาชน ฝั่งสภาผู้แทนราษฎรก็มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งลามกเช่นกัน โดยส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขเพียงมาตรา 287 มาตราเดียว  โดยกำหนดให้เฉพาะการผลิต มีไว้ นำเข้าหรือส่งออกสื่อลามกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือมีเนื้อหาใช้ความรุนแรงเท่านั้น ที่จะมีความผิด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์โดยการค้าหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ยังคงมีอยู่ไม่ได้แตะต้อง นอกจากนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลยังเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดให้การกระทำที่มีลักษณะทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอม เพื่อให้ได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง เป็นความผิดตามมาตรา 14 ขณะที่การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ถูกลบออกจากความผิดมาตราดังกล่าว เท่ากับว่า ตามข้อเสนอนี้ หากบุคคลผลิต มีไว้ นำเข้า หรือส่งออกสิ่งลามก หรือเผยแพร่บนโลกออนไลน์ แต่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้เยาว์ ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ก็ไม่มีความผิด

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอจากส.ส.พรรคก้าวไกล ทั้งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง และยังรอคิวเข้าสู่การพิจารณาแต่ไม่ได้อยู่ลำดับต้นๆ จึงอาจจะไม่ทันในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ต้องติดตามกันต่อไปว่าหลังการเลือกตั้งในปี 2566 จะมีส.ส. ที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญารวมถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาหรือไม่
ด้านพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยส.ส.พรรคภูมิใจไทย เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องการผลิต ซื้อขายสื่อทางเพศ อุปกรณ์ช่วยเหลือทางเพศ และการขายบริการทางเพศที่ถูกกฎหมาย ทว่าญัตติดังกล่าวก็ยังรอคิวพิจารณาอยู่เป็นปี นับจากที่เสนอเมื่อ 15 ธันวาคม 2564

เปิดกฎหมายเยอรมนี-ญี่ปุ่น สิ่งลามกอยู่ร่วมกับสังคมได้ ครอบคลุมออนไลน์-ออฟไลน์

หากไปสำรวจกฎหมายต่างประเทศ ไม่มีการแบ่งแยกการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกใน “โลกออฟไลน์” และ “โลกออนไลน์” ออกจากกัน โดยมักนิยมใช้กฎหมายฉบับเดียวครอบคลุมถึงการกระทำทั้งในสองช่องทาง ประเทศไทยจึงเป็นกรณีพิเศษที่มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกในคอมพิวเตอร์ไว้ต่างหากจากประมวลกฎหมายปกติ

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ในประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน มาตรา 11 (3) กำหนดนิยามของ “เนื้อหา” (Content) ซึ่งใช้บังคับกับความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามก ว่าหมายความถึง สื่อสิ่งพิมพ์ เสียง ข้อมูลจำลอง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ รูปภาพ ตลอดจนวัตถุอื่นใด ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้อย่างอิสระด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลหรือเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้รูปแบบการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกตามกฎหมายเยอรมัน ไม่ได้แบ่งแยกจากช่องทางการกระทำความผิดออฟไลน์หรือออนไลน์ออกจากกัน
ในด้านเนื้อหา ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการจัดแบ่งประเภทของสิ่งลามก โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่ 1) สิ่งลามกประเภทธรรมดา และ 2) สิ่งลามกประเภทร้ายแรง
1) สิ่งลามกประเภทธรรมดา หมายถึง เนื้อหาที่เข้าข่ายลามกอนาจาร เช่น ภาพการมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศอื่นๆ ซึ่งต้องไม่มีลักษณะการใช้ความรุนแรงหรือกระทำทารุณ ไม่มีลักษณะการร่วมเพศหรือทำกิจกรรมทางเพศระหว่างมนุษย์กับสัตว์ หรือมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้แสดง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าบุคคลทุกคน จะเข้าถึงสิ่งลามกประเภทธรรมดาทั้งหมด เพราะประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันใช้เกณฑ์อายุ ในการจัดแบ่งการเข้าถึงสิ่งลามก ภายใต้หลักคิดที่ว่าบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรเข้าถึงสิ่งลามกได้ ดังนั้น การเสนอ การโฆษณา หรือทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าถึงสิ่งลามกได้ มีความผิดตามกฎหมาย การกำหนดกฎหมายรูปแบบนี้ ก็จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบการจัดเรท จัดหมวดหมู่ หรือระบบยืนยันตัวตนตามมา เพื่อคุ้มครองเด็กไม่ให้เข้าถึงสิ่งลามกได้ ตามหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นก็สามารถเข้าถึง ครอบครองสิ่งลามกประเภทธรรมดา หรือเข้าไปในร้านจำหน่ายเซ็กส์ทอยได้
2) สิ่งลามกประเภทร้ายแรง คือกรณีที่สิ่งลามกนั้นมีลักษณะการใช้ความรุนแรงหรือทารุณ หรือแสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ รวมไปถึงสิ่งลามกที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นผู้แสดง สิ่งลากมกประเภทนี้ จะถูกห้ามครอบครอง เสนอ หรือโฆษณาเด็ดขาด แม้ว่าผู้ที่ครอบครองจะเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม หากฝ่าฝืน จะมีความผิด
อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายอาญาเยอรมัน ยังเปิดช่องให้ผู้ใหญ่ครอบครองสิ่งลามกประเภทธรรมดาได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งลามกร้ายแรง จะต้องห้ามเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือครอบครองโดยเด็ดขาด ขณะที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จะถูกคุ้มครองพิเศษ มีข้อห้ามไม่ให้นำเสนอ หรือเปิดช่องใดๆ ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงสิ่งลามกไม่ว่าจะธรรมดาหรือร้ายแรงก็ตาม ส่วนในฝั่งผู้ผลิตเนื้อหาทางเพศ หากเนื้อหานั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีผู้แสดงเป็นเด็ก ก็สามารถทำได้ไม่มีความผิด

ญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับเยอรมัน ประมวลกฎหมายอาญาญี่ปุ่นไม่มีการแบ่งช่องทางการกระทำความผิดออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่กำหนดให้ใช้ครอบคลุมทุกช่องทางภายในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยระบุเนื้อหาอยู่ในมาตรา 175 ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ใดเผยแพร่ แจกจ่าย ครอบครอง หรือแสดงวัตถุลามกในที่สาธารณะ โดยนิยามของวัตถุลามก ครอบคลุมตั้งแต่เอกสาร ภาพวาด จนถึงสื่อมีเดียที่เก็บอยู่ในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือแม่เหล็ก หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก จะมีกฎหมายพิเศษแยกต่างหากเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยสิ่งลามกอนาจารและการค้าประเวณีเด็ก โดย มาตรา 7 บัญญัติห้ามไม่ให้นำเข้า ส่งออก ขนส่ง เผยแพร่ แจกจ่าย ปล่อยเช่า ครอบครอง หรือแสดงให้เห็นในที่สาธารณะซึ่งวัตถุลามกอนาจารเด็ก ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด
อาจจะมีข้อคำถามว่าอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นได้รับการยกเว้นจากประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เห็นได้จากวัฒนธรรมการผลิตหนังผู้ใหญ่ซึ่งแพร่หลายอยู่ในประเทศ คำตอบคือไม่ได้รับการยกเว้น เพียงแต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้วิธีการเลี่ยงข้อกฎหมายโดยการเซนเซอร์บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศของนักแสดง เพื่อยืนยันต่อหน่วยงานผู้ตรวจสอบของรัฐว่าการถ่ายทำหนังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นกันจริง เพียงแต่เป็นการแสดงท่าทางร่างกายเท่านั้น ซึ่งต่อมา ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งลามกในสังคมญี่ปุ่น
จากกรณีตัวอย่างการเปรียบเทียบกฎหมายข้างต้น จะเห็นกรณีเยอรมันเป็นตัวอย่างที่ดีและชัดเจนที่สุดในการมุ่งจัดการเนื้อหาของสิ่งลามกแทนที่จะปิดกั้นสิ่งลามกทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายเยอรมันมีความเข้าใจในลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการทางเพศเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่สิ่งที่พิจารณาแล้วว่าเป็นอันตรายและอาจสร้างผลกระทบต่อสังคม อาทิ สื่อลามกที่มีความรุนแรงหรือการข่มขืน หรือสื่อลามกเด็ก ย่อมถูกจำกัดไม่ให้เผยแพร่เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมทางเพศในทางที่ผิด อีกมาตรการสำคัญคือการจัดเรทอายุสำหรับการเข้าถึงวัตถุลามก โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าถึงวัตถุลามกต้องเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งบรรลุนิติภาวะและมีความรับผิดชอบทั้งทางเพศและกฎหมายแล้ว
กรณีของญี่ปุ่น การยอมรับมาตรฐานการเซนเซอร์แบบกลายๆ ของอุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ชี้ชัดให้เห็นว่ามนุษย์เราไม่อาจแยกออกจากอารมณ์ทางเพศ
แต่หากย้อนกลับมาดูกฎหมายไทย แม้กฎหมายอาญาจะยังมีพื้นที่ให้บุคคลครอบครองสิ่งลามกอนาจารเพื่อประโยชน์ทางเพศของตนเองหรือผู้อื่น (ที่ไม่ใช่สื่อลามกอนาจารเด็ก) ได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย แต่หากไปดูสายพานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตสื่อลามก การค้า หรือการโฆษณาชี้เป้าแหล่งเข้าถึงสิ่งลามกอนาจาร ก็เป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ ทำให้สภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ สังคมไทยก็ยังต้องอยู่กับสิ่งลามกโดยไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ผู้ผลิตเนื้อหาทางเพศก็ยังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ขณะที่รัฐก็ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและชัดเจน การนำระบบยืนยันอายุมาใช้ เปิดช่องให้ผู้ใหญ่ผลิต-เข้าถึงได้ และป้องกันเด็กไม่ให้เข้าถึง ก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม
กฎหมายเป็นผลผลิตของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากผู้แทนประชาชน ทิศทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งลามก จึงขึ้นอยู่กับสภา ขณะเดียวกัน เสียงของประชาชนก็มีคุณค่า ที่จะสะท้อนให้สภาเห็นและรับฟังถึงปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่ในกฎหมาย
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว