สตช. ขอขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เหตุงบประมาณ-บุคลากร ยังไม่พร้อม

หนึ่งในกฎหมายสำคัญซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในปี 2565 คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ) โดยสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อ 16 กันยายน 2564 ซึ่งมีร่างจำนวนสี่ฉบับที่เข้าสภา และเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงเห็นชอบในวาระสองและวาระสามอีกครั้งเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565 จากนั้นก็เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวถูก “เตะถ่วง” ผ่านการแก้ไขโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ ทว่าสุดท้ายก็สามารถผ่านด่านรัฐสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เมื่อ 25 ตุลาคม 2565 โดยจะมีผลใช้บังคับ 120 วันนับแต่วันประกาศ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผ่าน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ) เรื่อง ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยมีพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้ลงนาม ประเด็นสำคัญของหนังสือฉบับนี้ คือ ขอเสนอความเห็นให้ “ขยายเวลา” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ บางส่วน เฉพาะในหมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ออกไปก่อน เท่ากับว่าเฉพาะหมวดนี้เท่านั้นที่จะถูกขยายเวลาออกไป ส่วนหมวดอื่นๆ ยังมีผลบังคับใช้ตามวันที่กำหนดไว้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังยกตัวอย่างการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายขึ้นมาเป็นแนวทางด้วย คือกรณีของพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนา และคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาแก้ไขพ.ร.บ. และกำหนดแก้ไขวันบังคับใช้กฎหมาย เปิดช่องให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายได้

โดยบทบัญญัติในหมวด 3 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยากขอขยายเวลาบังคับใช้ออกไปนั้น สาระสำคัญคือ กำหนดกลไกการป้องการการทรมานและการอุ้มหาย เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบควบคุมตัว ต้องบันทึกภาพและเสียงขณะจับและควบคุมตัว ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีที่มีการอ้างว่าบุคคลถูกกระทำทรมาน พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายหรือญาติสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำนั้นได้ และหากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือการอุ้มหาย ก็สามารถไปแจ้งพนักงานอัยการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้

โดยเหตุผลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกขึ้นมา เพื่อขอเสนอขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น มีสามข้อหลักๆ ด้วยกัน

  1. ด้านงบประมาณ กล้องสำหรับรองรับการปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ยังไม่เพียงพอ โดยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่จะต้องจัดซื้ออีก 1.7 แสนตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกตับอีก 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 3,473, ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567 
  2. ด้านการเตรียมความพร้อมบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ เนื่องจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงในปัจจุบันพัฒนาก้าวล้ำไปมาก ผลิตภัณฑ์มีหลายยี่ห้อ วิธีใช้งานแตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง
  3. ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบหรือแนวทางการปฏิบัติอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือควบคุมยึดถือปฏิบัติ

ข้อเสนอขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเป็นเพียง “ข้อเสนอ” เท่านั้น ยังไม่มีผลให้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปในทันที แต่ต้องมีการตัดสินใจจากฝ่ายบริหาร และมีการตรากฎหมาย เช่น พระราชกำหนด เพื่อมาแก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ มาตรา 2 ที่กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ของกฎหมายด้วย

ซึ่งผลสุดท้ายพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ หมวด 3 จะถูกขยายเวลาบังคับใช้ออกไปหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ไฟล์แนบ