ส.ว. ขอเวลาศึกษาอีก 45 วัน ยังไม่เคาะส่งครม. ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้ความเห็นชอบญัตติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าวแล้ว ก็ต้องส่งไม้ต่อมาให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จึงจะเข้าสู่กระบวนการให้ครม. ดำเนินการประชามติ

เมื่อถึงคราวประชุมวุฒิสภา 21 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับการให้จัดทำประชามติ แต่กลับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 

อย่างไรก็ดี วุฒิสภาก็ยังไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบให้ส่งเรื่องต่อไปยังครม. เพื่อจัดทำประชามติหรือไม่ เพราะกมธ. ชุดดังกล่าว “ขอเวลา” อีก 45 วัน เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวอีก โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาจำนวนมากและต้องรับฟังความคิดเห็นข้อมูลจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน 

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาในการประชุมวันนี้ (20 ธันวาคม 2565) ว่า ญัตติดังกล่าว กระทบหลายภาคส่วน เพราะจะให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

“เป็นการเสนอญัตติที่เป็นกระดาษเพียงสองแผ่น ไม่มีหลักการเหตุผลสาระที่มีรายละเอียดมากเพียงพอต่อประชาชน ที่จะทำให้วุฒิสภาตัดสินใจได้ว่าจะส่งเรื่องนี้ไปให้คณะรัฐมนตรีพร้อมกับให้ประชาชนลงมติได้อย่างไร” สมชายกล่าว

สมชายชี้แจงต่อไปว่า กมธ. จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ประกอบด้วย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้เสนอญัตติเรื่องนี้ เข้ามาพูดคุยกับกมธ. ซึ่งได้ความว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา สามารถร่างได้ใหม่ทั้งหมดทุกมาตราตามที่สสร. จะร่างขึ้น 

นอกจากนี้ กมธ.ยังเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาชี้แจง พบว่ากรณีของการเลือกตั้ง ใช้งบประมาณราวสี่พันล้าน การจัดทำประชามติ จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า เท่ากับว่าจะใช้เงินอีกประมาณสี่พันล้าน การเลือกตั้งและการจัดประชามติไม่สามารถทำไปพร้อมกันได้เนื่องด้วยข้อกฎหมาย 

กมธ. เห็นว่า เรื่องการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญของประเทศชาติ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่มีกรอบไม่มีหลักประกัน จะเกิดปัญหาขึ้น และการออกเสียงประชามติเรื่องนี้ก็เป็นครั้งแรกของประเทศ จึงจะเชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องมาอย่างน้อยสามกลุ่ม ประกอบด้วย ประธานกมธ. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ผู้แทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มอบหมายให้ เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นผู้ชี้แจง และผู้แทนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 

สมชายชี้แจงต่อไปว่า ยังมีรายละเอียดที่กมธ.ต้องพิจารณาศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระบอบการปกครองของรัฐ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับบทบัญญัติพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ยังมีอีก 38 มาตราที่อยู่ในหมวดอื่นๆ อีก 

ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ กมธ. จึงขอขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 45 วัน ขณะที่เฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. โต้แย้งว่าไม่ควรขยายเวลานานถึง 45 วัน ควรไม่เกิน 30 วันและไปเร่งพิจารณา ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่าส.ว. ยื้อเวลา ด้านศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม กล่าวว่า “เนื่องจากนับแต่วันนี้เป็นต้นไปวันหยุดมันเยอะนะครับท่านเฉลิมชัย 30 วันท่านให้ได้ ก็ขออีก 15 วันเป็นไง จะได้ไม่ต้องลงมติครับท่าน เพื่อความสามัคคีปรองดอง นะครับ 30 วันท่านให้ได้ ก็ขออีก 15 วัน ผมขออีก 15 วันละกัน” ฝั่งเฉลิมชัยตอบกลับว่า เห็นแก่ท่านประธานคนที่สอง ก็ไม่ขัดข้อง

หลังจากนั้น ศุภชัย สมเจริญ จึงถามสมาชิกในที่ประชุมว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ เมื่อไม่มีส.ว. คนใดโต้แย้งอีก ศุภชัยก็สรุปว่าที่ประชุมวุฒิสภามีมติขยายเวลาการพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียง ประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ออกไปอีก 45 วัน ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีช่วงเวลาให้ส.ว. มีการโหวตลงมติด้วยวิธีเสียบบัตรหรือวิธีอื่นแต่อย่างใด

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ