รวมเทคนิค “ถ่วงเวลา” การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ขึ้นชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขยากที่สุด” เพราะขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 มีเงื่อนไขที่ซับซ้อน โดยนอกจากต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว การแก้รัฐธรรมนูญต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม และต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

แต่อย่างไรก็ดี ความยากของการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่มาตรา 256 เพราะในความเป็นจริง ตัว ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่มาจากรัฐบาล ก็เป็นส่วนหนึ่งของการถ่วงเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา มีการใช้เทคนิคเพื่อถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 5 ครั้ง ดังนี้

หนึ่ง ตั้ง กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญฯ ถ่วงเวลาเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ

ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 หลายพรรคการเมืองมีจุดยืนที่ต้องการ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นเพียงกลไกสืบทอดอำนาจให้กับคสช. หรือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจาก คสช. มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หรือให้ ส.ว. มีอำนาจเทียบเท่า ส.ส. ในการพิจารณากฎหมาย ไปจนถึงการให้อำนาจ ส.ว. คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

แต่ทว่า ปีแรกหลังการเลือกตั้งในปี 2562 กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกลับไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใดๆ แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขึ้นมา โดยตั้งกรอบเวลาทำงานไว้ถึง 120 วัน แต่ผลลัพธ์จากคณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นเพียงรายงานข้อเสนอ ซึ่งไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ ต่อการขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญในสภา ในทางกลับกัน การเสนอตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว เปรียบเสมือนการ “ถ่วงเวลา” ไม่ให้สภาเร่งดำเนินการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกว่ารัฐสภาจะเริ่มพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกเวลาก็ล่วงไปเกือบเก้าเดือน

อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5498

สอง ตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้รัฐธรรมนูญฯ ถ่วงเวลาการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระหนึ่ง

ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. มีนัดพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 6 ฉบับ ในวาระที่หนึ่ง (ขั้นรับหลักการ) ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง แต่ในวันดังกล่าว รัฐสภาก็ไม่ได้เริ่มต้นการพิจารณา เนื่องจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอให้รัฐสภาลงมติตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติแก้รัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ เป็นเวลา 30 วัน 

โดยผลการลงมติ พบว่า มี ส.ส. และ ส.ว. รวม 431 เสียงเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาฯ โดยเป็นเสียงจาก ส.ส. จำนวน 203 เสียง และ ส.ว. 228 เสียง เมื่อเสียงข้างมากของรัฐสภามีมติเห็นชอบกับการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว จึงเป็นผลให้การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญต้องถูก “ถ่วงเวลา” ไว้อีกประมาณเกือบสองเดือน ในขณะที่รายงานของ กมธ.ชุดดังกล่าว หาได้เป็นประโยชน์หรือมีนัยยะสำคัญต่อการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ อีกทั้ง รายงานของ กมธ.ชุดดังกล่าว ยังมีข้อเสนอเป็นไปในทิศทางคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน

อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5755

สาม การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ถ่วงเวลาการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม 

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 23 คน กับ ส.ว. 48 คน ยื่นญัตติให้รัฐสภาให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างแก้รัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และให้อำนาจรัฐสภาเพียงแก้ไขเพิ่มเติมได้เท่านั้น

ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ร่วมกันลงมติเห็นชอบกับการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 36 เสียงต่อ 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง และนับเป็นครั้งที่สามของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่ต้องการ “ถ่วงเวลา” การพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะได้รับการบรรจุในวาระสาม หรือ วาระสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้

อย่างไรก็ดี  ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้คำตอบกับประเด็นว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน” ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวได้สร้างความคลุมเครือต่ออนาคตของร่างแก้รัฐธรรมนูญ

อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5840

สี่ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม

ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. ก็เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากการอภิปรายกว่า 12 ชั่วโมง เสียงข้างมากก็มีมติให้ลงมติในวันเดียวกัน โดยผลการลงมติปรากฏว่ารัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา และได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่ถึงหนึ่งในสาม ร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มต้นพิจารณากันมาตั้งแต่ปลายปี 2563 จึงตกไป และทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง

อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5839

ห้า ส.ว. ตั้ง กมธ.ศึกษาญัตติ ส.ส.  ถ่วงเวลาการเสนอทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน

เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 ให้อำนาจรัฐสภาในการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดออกเสียงประชามติในประเด็นใดเป็นหนึ่งได้ ทำให้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้ยื่นญัตติเสนอให้ครม. ทำประชามติเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยผลการลงมติ พบว่า มีเสียงเห็นชอบ 324 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง 

แต่ทว่า ตาม พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดให้ ส.ว. ต้องลงมติในญัตติเดียวกันด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ หาก ส.ว. เห็นพ้องกับ ส.ส. ก็ให้ประธานรัฐสภาแจ้งนายกรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป แต่หาก ส.ว. ไม่เห็นชอบด้วย กระบวนการเสนอทำประชามติผ่านกลไกรัฐสภาก็ต้องยุติลง

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ส.ว. ได้ลงมติตั้ง กมธ. ศึกษาญัตติของ ส.ส. ที่เสนอให้ ครม. ทำประชามติเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ญัตติที่ ส.ส. เสนอมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอ แต่ในความเป็นจริง ญัตติดังกล่าว เป็นการเสนอเพื่อยุติข้ออ้างเดิมของ ส.ว. ที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติก่อน ดังนั้น การตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาญัตติดังกล่าว จึงเป็นการ “ถ่วงเวลา” อีกครั้ง ของฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนอย่างแท้จริง