จะได้ดูบอลโลกไหม? ไล่เรียงประเด็นข้อกฎหมาย ทำไมค่าลิขสิทธิ์ในไทยถึงแพงจัง ?

มหกรรมลูกหนัง “ฟุตบอลโลก 2022” รอบ 32 ทีมสุดท้ายใกล้จะเปิดฉากการแข่งขันขึ้นแล้วในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 และจะไปสิ้นสุดการแข่งขันในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดยจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะเป็นฟุตบอลโลกที่คนไทยไม่ต้องถ่างตานอนดึกเพื่อดูบอล แต่กลับยังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามของแฟนบอลชาวไทยว่าจะมีโอกาสได้รับชมฟุตบอลโลกครั้งนี้ผ่านช่องทางโทรทัศน์ที่ถูกลิขสิทธิ์ และฟรีหรือไม่ ไอลอว์ชวนทบทวนเหตุการณ์ ข้อกฎหมาย และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่เกิดการถกเถียงในช่วงที่ผ่านมา

(1) ปมปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่รัฐบาลจะให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาฉายว่า เป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องทำให้ได้ อยากให้ดูกันทุกคน พร้อมระบุว่าจะใช้งบประมาณของ กสทช. ในการซื้อลิขสิทธิ์ เพราะงบประมาณดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประชาชน

(2) สำหรับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 สำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ด รายงานว่า ตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เรียกค่าลิขสิทธิ์เข้ามาทั้งหมดเต็มแพ็คเกจเป็นเงิน 38 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 1,440 ล้านบาท) ไม่รวมค่าบริหารจัดการอื่นๆ ก่อนที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะต่อรองจนสามารถลดค่าลิขสิทธิ์มาอยู่ที่ 36 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 1,364 ล้านบาท) ซึ่งก็ยังแพงกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่มีค่าลิขสิทธิ์อยู่ระหว่าง 261-948 ล้านบาท ตามการรายงานของสำนักข่าวอิศรา เกิดคำถามขึ้นทันทีว่าทำไมค่าลิขสิทธิ์ถึงแพงกว่าคนอื่นขนาดนี้? คำตอบของเรื่องนี้อยู่ในกฎหมาย 2 ฉบับ

(3) กฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับแรก คือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ทำให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2555 (ชื่อเล่น “ประกาศ Must Have”)  ซึ่งกำหนดให้ 7 รายการกีฬา ได้แก่ ซีเกมส์, อาเซียน พาราเกมส์, เอเชียน เกมส์, เอเชียน พาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก รวมถึง “ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” เป็น “รายการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป” พูดง่ายๆ คือต้องเอาไปฉายทางช่องทางฟรีทีวีเท่านั้น ห้ามฉายทางช่องเคเบิล ดาวเทียมหรือแพลตฟอร์มที่มีเงื่อนไขอื่นแบบเอ็กคลูซีฟ ซึ่งทำให้กลุ่มทุนและผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรทัศน์ขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

(4) แค่บังคับให้ฉายทางฟรีทีวีอย่างเดียวยังไม่ “สาแก่ใจ” กสทช. ออกกฎหมายอีกฉบับ เป็น ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 (ชื่อเล่น “ประกาศ Must Carry”) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (ช่องเคเบิล ดาวเทียม ฯลฯ) ต้องนำช่องฟรีทีวีไปฉายด้วย โดยต้องฉายตลอดเวลา ต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลงผังรายการหรือเนื้อหารายการ คือ ต้องจอไม่ดำ ดูได้ตลอด

(5) ประกาศสองฉบับนี้ ทำให้การถ่ายทอดฟุตบอลโลกในประเทศไทยผ่านทางฟรีทีวี กลายเป็นการถ่ายทอดสดที่มีช่องทางให้รับชมได้กว้างขวางอย่างมหาศาล ทั้งช่องทางฟรีทีวีที่มีหลากหลายช่อง (แต่ละช่องที่ได้ลิขสิทธิ์ไปฉายนับเป็น 1 ช่องทาง) และช่องเคเบิล ดาวเทียม หรือแพลตฟอร์มอื่นที่แพร่ภาพของช่องฟรีทีวีไปฉายในระบบของตนเองอีก (นับเป็นคนละอีก 1 ช่องทาง) ซึ่งสัญญาณภาพในระบบนี้ก็เป็นระบบที่อาจถูก “ลักลอบ” จูนสัญญาณเพื่อรับชมได้ง่ายอีกด้วย รวมๆ กันแล้วมีมากกว่าประเทศอื่นเขา จึงไม่แปลกที่ตัวแทนของฟีฟ่าจะเรียกค่าลิขสิทธิ์แบบฟูลออฟชั่นในราคาจัดหนักจัดเต็มแบบนี้

(6) แล้วประกาศสองฉบับนี้มีขึ้นเพื่ออะไร? ตามเหตุผลที่เขียนไว้ในประกาศฯ กสทช. ต้องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคน รวมถึงคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการโทรทัศน์บางรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง หรือต้องการให้รายการโทรทัศน์บางรายการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดหาสิทธิและสวัสดิการให้กับประชาชน ก็ต้องมาพร้อมงบประมาณและกลไกในการอุดหนุนสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้น อาจเสี่ยงต่อการเสียโอกาสแบบนี้ที่ภาคเอกชนก็ไม่กล้าลงทุน ขณะที่หน่วยงานรัฐก็เกี่ยงกันรับผิดชอบ

(7) ย้อนกลับไปในฟุตบอลโลกปี 2014 ก่อนประกาศ Must Have จะบังคับใช้ ขณะนั้นบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนลบรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด (อาร์เอส) เป็นผู้ประมูลได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากฟีฟ่า แต่เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ กสทช. ก็ “ตีมึน” บังคับอาร์เอสให้ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีด้วย อาร์เอสจึงได้ฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศ Must Have และมิให้นำประกาศดังกล่าวมาใช้กับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 เฉพาะกรณี ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตัดสินให้อาร์เอสไม่ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีครบทั้ง 64 แมทช์ เนื่องจากอาร์เอสได้รับลิขสิทธิ์มาก่อนการออกประกาศ Must Have ส่วนฟุตบอลโลกปี 2018 บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (ทรู) เป็นตัวแทนเจรจา โดยร่วมลงขันกันออกค่าลิขสิทธิ์ระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกชน 9 องค์กร เช่น ซีพี, บีทีเอส, กัลฟ์, ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ ฟุตบอลโลกปี 2018 จึงมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีและมีการแพร่ภาพในเคเบิลและดาวเทียมทุกแห่ง ถูกต้องตามประกาศ Must Have และ Must Carry

(8) หลังการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอเงินสนับสนุนสำหรับนำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 1,600 ล้านบาท ซึ่ง กสทช. ได้มีหนังสือตอบกลับถึง กกท. ว่า ให้จัดทำรายละเอียดแจกแจงงบประมาณดังกล่าวว่าเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง พร้อมกับนัดหมายประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565

(9) แล้ว กสทช. จะนำเงินจากที่ที่ไหนมาสนับสนุน? เงินที่ กสทช. “อาจจะนำมาใช้” สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกตามคำร้องขอของ กกท. ได้นั้น เป็นงบประมาณที่อยู่ใน “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยช์สาธารณะ” (กทปส.) ซึ่งจัดตังขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 52 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา และบุคคลากรในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ

(10) ประเด็นนี้ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต” หนึ่งในกรรมการ กสทช. เห็นว่า ประกาศ Must Have ไม่ได้กำหนดให้ กสทช. ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายการที่ระบุให้เป็น Must Have (7 รายการกีฬาข้างต้น) เพียงแต่ถ้ามีภาคเอกชนซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศ กสทช. มีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลให้เอกชนต้องเผยแพร่รายการนั้นผ่านการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาฉาย กสทช. จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการแทรกแซง

เมื่อไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการแทรกแซง กสทช. จึงไม่มีอำนาจที่จะให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุน กทปส. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 27 เนื่องจากการอนุมัติคำขอจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าวต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน คือเพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ซึ่งสำหรับตอนนี้ แม้แต่คนทั่วไปที่ไม่ใช่คนด้อยโอกาสก็ยังไม่มีสิทธิได้รับชมฟุตบอลโลก จึงยังไม่เกิดความไม่เท่าเทียมหรือไม่ทั่วถึงขึ้น

โดย ศ.ดร.พิรงรอง เห็นว่า พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 8 ระบุวัตถุประสงค์ของ กกท. ให้มีหน้าที่ส่งเสริมการกีฬา จัด ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมมือในการจัดและดำเนินกิจกรรมกีฬา ติดต่อร่วมมือกับองค์การหรือสมาคมกีฬาทั้งในและนอกประเทศ โดยมี “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” สนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม หากจะต้องมีหน่วยงานที่ “ควัก” เพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกให้คนไทยได้ดูฟรี จึงเป็นหน้าที่ของกองทุนนี้

(11) ด้าน “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว  แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า กองทุน กทปส. ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่ออุดหนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดหนุนบริการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมให้ทั่วถึง เช่น การขยายพื้นที่บริการ 5G ไปในพื้นที่ห่างไกล หรือช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงบริการได้ เป็นต้น หาก กสทช. ยอมเสี่ยงผิดกฎหมาย ดร.สมเกียรติ เสนอว่าควรเปลี่ยนชื่อกองทุน กทปส. เป็น “กองทุนป้อมสั่ง”

(12) ด้านฝ่ายนักวิชาการสื่อ นำโดย “รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสื่อคัดค้านการอนุมัติสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ระบุเหตุผลว่าเป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ซึ่งอาจทำให้สิ้นเปลืองเงินและสูญเสียโอกาสสำหรับโครงการพัฒนาอื่นที่มีประโยชน์กว่า แต่ยังขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน อีกทั้งโดยตัวกองทุนแล้ว ก็เหลือเงินอยู่ไม่มากนัก เพียง 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ตามการรายงานของสำนักข่าวอิสรา

(13) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุม กสทช. โดยกรรมการเสียงข้างมากได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนแก่ กกท. เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ภายใต้กรอบวงเงิน “600 ล้านบาท” โดยใช้เงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งการประกาศให้เงินสนับสนุนดังกล่าว ก็ยังขาดอยู่อีก 1,000 ล้านบาท ในเรื่องนี้ ดร.ก้องศักด ผู้ว่าฯ กกท. รับว่าเป็นงานยากที่จะหาเงินจำนวนดังกล่าว จากนี้จะต้องเร่งหารือกับภาคเอกชนที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุน รวมถึงต่อรองราคากับเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อให้ราคาลดลงมาอีก คำตอบของผู้ว่าฯ ทำให้แฟนบอลชาวไทยยังคงต้องเตรียมใจและรอลุ้นอย่างใกล้ชิดว่าจะได้ดูครบทั้ง 64 แมทช์การแข่งขันหรือไม่ต่อไป เช่นเดียวกับเครื่องหมายคำถามชิ้นใหญ่ ว่าเหตุใด กกท. จึงไม่ใช้เงินจาก “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง