ส.ส.-ประชาชน เริ่มก้าวแรก! เดินหน้าทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่

3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับญัตติเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 323+1 = 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง ซึ่งการลงมติดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นกระบวนการทำประชาชามติตามพระราชบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ วุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบญัตติดังกล่าวอีกครั้ง หากวุฒิสภาเสียงข้างมากเห็นด้วย ประธานรัฐสภาต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วย กระบวนการริ่เริ่มการทำประชามติโดยสภาก็จะสิ้นสุดลง แต่กระนั้น ประชาชนยังมีช่องทางการเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดออกเสียงประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน

ส.ส. เริ่มก้าวแรก! ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังต้องรอลุ้นมติจาก ส.ว.

การลงมติของ ส.ส. เพื่อเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปตามกลไก พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งให้อำนาจ “รัฐสภา” เสนอทำประชามติได้ ดังนั้น หลังจากที่ ส.ส. ได้มีมติเห็นชอบให้ทำประชามติแล้วในวันนี้ กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น ส.ส. จะต้องส่งเรื่องต่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบด้วยอีกทอดหนึ่ง

หาก ส.ว. มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้มีการทำประชามติ ข้อเสนอทำประชามติก็จะตกไป แต่ถ้าเสียงข้างมากของ ส.ว. เห็นด้วยกับข้อเสนอ ก็จะเป็นกรณีที่รัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 9 (4) ของพ.ร.บ.ประชามติ

จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาต้องแจ้งมติเห็นชอบของแต่สภาให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปดำเนินการ โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาวันออกเสียงประชามติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามพ.ร.บ.ประชามติ ในกรณีทั่วไป วันออกเสียงประชามติจะต้องไม่เกิดขึ้นก่อน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ ข้อเสนอของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ต้องการให้ ครม. ดำเนินการจัดประชามติวันเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและเพื่อความสะดวกของประชาชน

หลังจากที่ประชาชนได้มาออกเสียงประชามติว่า ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ จุดตัดที่ทำให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นมีข้อยุติ คือ 1) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และ 2) การออกเสียงนั้น จะต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ห้ามเป็นภิกษุหรือต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล เป็นต้น

สภาไม่ใช่ตัวเลือกสุดท้าย! ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม. ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่เองได้

ในกรณีที่ ส.ว. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่การเรียกร้องให้มีการทำประชามติยังไม่สิ้นสุดลง เพราะตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) ได้กำหนดกรณีประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติได้ โดยต้องอาศัยการเข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างน้อย 50,000 ชื่อ 

นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 พรรคก้าวไกล ได้เปิดตัวแคมเปญ “#RESETประเทศไทย เลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ที่อาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) โดยมีจำนวนคนลงชื่อในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 แล้ว เป็นจำนวน 55,662 รายชื่อ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลตั้งเป้าให้ได้รายชื่อมากกว่า 60,000 รายชื่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาดทางเอกสารทำให้รายชื่อไม่ครบ และจะดำเนินการเสนอต่อ ครม. ต่อไป

อย่างไรก็ดี ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีดุลยพินิจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของประชาชน หาก ครม.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของประชาชนก็เป็นอันตกไป ถ้าครม. เห็นชอบกับข้อเสนอ ก็จะต้องดำเนินการจัดทำประชามติเหมือนกับการทำประชามติที่เสนอโดยรัฐสภาต่อไป