ร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ตกไป! สภาคว่ำในวาระสาม 194:196 เสียง

2 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราในวาระสองและวาระสาม โดยการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ กินเวลาถึงช่วงเย็น เนื่องจากมีการลงมติวาระสามถึงสองรอบ โดยรอบแรก เป็นการเสียบบัตรตามปกติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติในวาระสาม มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 174 เสียง ไม่ด้วย 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง แต่เนื่องจากคะแนนเห็นด้วยกับคะแนนไม่เห็นด้วย แตกต่างกันไม่เกิน 25 คะแนน จึงมีส.ส. ขอใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อนับคะแนนใหม่ ซึ่งตามข้อ 83 และ ข้อ 85 ระบุว่าถ้าการขอให้นับคะแนนใหม่ ให้ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล

หลังลงมติใหม่ ด้วยวิธีการขานชื่อส.ส. รายบุคคล ผลการลงมติ  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า ในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เป็นอัน “ตกไป” ในวาระสาม ปิดฉากร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ที่ใช้เวลาประมาณ 582 วัน ถึงจะเข้าสภา

ครม.เคาะออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ 1 วันก่อน #สุราก้าวหน้า เข้าสภา

ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 จากเดิมที่กำหนดให้การผลิตหรือกลั่นสุราไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์เพื่อบริโภคเองในครัวเรือนหรือเพื่อการค้า ก็ต้องขออนุญาตก่อน แก้ไขเป็นเฉพาะการผลิตสุราเพื่อการค้าเท่านั้นที่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าผลิตเพื่อการบริโภค (homebrewing) หรือการทดลองต้มสุราเพื่อคิดต้นสูตรใหม่ สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

นอกจากนี้ ภายใต้กฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560  ซึ่งออกตามความของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้เพียงบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้นที่สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ ยกเว้น สุราสามทับ สุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ และสุราชุมชน แต่ในร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้การออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้ากำหนดประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต เปิดทางให้ผู้ประกอบการผลิตสุราที่มีเจ้าของเดียวหรือมีรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามารถริเริ่มกิจการได้

กฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้ผู้ประสงค์ขอใบอนุญาตผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทที่ “มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท” โดย “มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท” ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากและบังคับใช้ต่อเบียร์เท่านั้น อีกทั้งยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกำลังการผลิตไว้ในกฎกระทรวงด้วยว่า ผู้ผลิตสุราต้องมีศักยภาพผลิตขั้นต่ำที่สูง เช่น โรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิต 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี ฯลฯ ซึ่งในร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำจัดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตเบียร์เพื่อขาย ไม่ว่า ณ สถานที่ผลิตหรือไม่ สามารถเลือกขนาดกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565 หนึ่งวันก่อนที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ก็มีรายงานข่าวว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และในคืนวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีการประกาศ กฎกระทรวง การผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับใหม่ที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ นั้น ก่อนหน้านี้ที่ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าจะเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่งและถูกครม. นำไปศึกษาก่อนรับหลักการ กรมสรรพสามิตเคยออกมาชี้แจงว่ากำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวงอนุญาตการผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีมติให้แก้ไขตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และมีกำหนดจะเสนอให้กระทรวงการคลังออกเป็นกฎกระทรวงฉบับใหม่ได้ภายในเดือน มิถุนายน 2565 แต่ท้ายที่สุดแล้วกฎกระทรวงดังกล่าวก็คลอดออกมาเพียงหนึ่งวันก่อนที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

ส.ส. ย้ำ ออกกฎกระทรวง ไม่เท่าผ่านร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า 

ด้วยสถานการณ์ที่ฝ่ายบริหารเร่งออกกฎกระทรวงมาก่อนวันที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมาย ทำให้ประเด็นนี้ถูกยกมาถกเถียงระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า โดยฝั่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (กมธ.) หลายรายชี้แจงประเด็นนี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  ระบุว่า กฎกระทรวงที่ออกล่าสุด ทำอย่างเร่งด่วน อาจจะเพื่อให้มีผลกระทบกับกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาไม่ควรเอาปัจจัยภายนอกมาเป็นปัจจัยต่อการพิจารณากฎหมาย สิ่งที่สภากำลังทำอยู่ คือการพิจารณาแก้ไขกฎหมายซึ่งศักดิ์สูงกว่ากฎกระทรวง วันนี้หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา หมายความว่ากฎหมายแม่จะไม่ถูกแก้ไข ซึ่งในอนาคต กฎกระทรวงที่เพิ่งออกไปก็อาจจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือเปลี่ยนเนื้อหากลับไปเป็นเหมือนเดิมก็ได้ สิ่งที่จะเป็นหลักยืนยัน คือกฎหมายที่วันนี้สภากำลังพิจารณาวาระสอง เพื่อให้สุดท้ายเป้าประสงค์ของสภาที่จะให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เกิดขึ้นได้จริง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กมธ. อภิปรายว่า ขณะนี้ปัจจัยของการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้อาจจะแปรเปลี่ยนไป ในตอนสภาพิจารณาวาระหนึ่ง เห็นตรงกันว่าอุตสาหกรรมสุรานั้นผูกขาดและมีมูลค่าสูง ขณะที่ชาวบ้านและทุนเล็กไม่สามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมนี้ได้เพราะมีกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต แต่ก็มีคำถามว่า เมื่อมีการออกกฎกระทรวงฉบับใหม่มา กฎหมาย #สุราก้าวหน้า จะยังจำเป็นหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่ใช่ เพราะตัวร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า มาตรา 3 ที่แก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เพราะเห็นว่ากฎหมายเดิม ผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ในกฎหมายกำหนดให้ออกกฎกระทรวงโดยที่ไม่ได้เขียนเงื่อนไขอะไรเอาไว้ ในร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า จึงกำหนดกรอบในการออกกฎกระทรวงไว้ ว่าต้องกำหนดหรือต้องไม่กำหนดเรื่องอะไรบ้าง เช่น กำลังแรงม้าเครื่องจักร ทุนจดทะเบียน หรือหลักเกณฑ์ที่มีลักษณะกีดกันทมางการค้า ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน การออกกฎกระทรวงซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ก็จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ด้วย แต่หากกฎหมายไม่ผ่าน กลับไปอยู่สภาพเดิม คือ ไม่กำหนดเงื่อนไขไว้ ฝ่ายบริหารจะออกกฎกระทรวงไว้อย่างไรก็ได้ จะเอื้อทุนขนาดใหญ่อย่างไรก็ได้

“อย่าไปคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ที่จะได้ประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลยนะครับ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะได้ประโยชน์กับประชาชนทั่วไป แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการออกกฎหมายในอนาคตด้วย ขอบคุณครับ” สาทิตย์กล่าวทิ้งท้าย

การพิจารณาวาระสอง เป็นการพิจารณาเชิงรายละเอียดรายมาตรา โดยจุดสำคัญอยู่ที่ร่างมาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 153 ของพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 แก้ไขเป็นเฉพาะการผลิตสุราเพื่อการค้ารวมถึงการมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราเพื่อการค้าเท่านั้นที่ต้องขออนุญาต รวมถึงกำหนกรอบในการออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต มีส.ส. หลายรายลุกขึ้นอภิปรายร่างมาตรา 3 และมาตราอื่นๆ อาทิ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กฎกระทรวงคือการเปลี่ยนล็อคจากล็อคเก่าไปเป็นล็อคใหม่ กฎกระทรวงซึ่งมาจากวิธีคิดของราชการไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่สามารถไประดับโลกได้ ไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพวัตถุดิบไทยอย่างข้าว มัน อ้อย ข้าวโพด ผลไม้ ขณะที่ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ปลดล็อคเรื่องการกีดกันการแข่งขันผ่านการกำหนดทุนจดทะเบียน กำลังแรงม้า ฯลฯ อันนี้ต่างหากที่เป็นการปลดปล่อยศักยภาพผู้ผลิตอย่างแท้จริง 

พิธาทิ้งท้ายฝากเพื่อนส.ส. ว่า “สำหรับทุกท่านที่อยู่ในที่นี้นี่เป็นการโหวตหนึ่งครั้งในพันครั้ง บางท่านอาจจะโหวตเป็นหมื่นๆ ครั้งที่เคยผ่านมา ไม่ได้มีความหมายอะไรกับพวกท่านมากมายขนาดนั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการ สำหรับเกษตรกร สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวงการนี้ นี่คือความฝันของเขา และนี่คือความหวังของเขา…

…สำหรับพี่น้องเกษตรกร สำหรับผู้ประกอบการที่เขาสู้มาเป็น 30-40 ปี ตั้งแต่เครือข่ายเหล้าไทย ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเด็กอยู่ จนมาถึงทุกวันนี้ อันนี้คือโค้งสุดท้ายของเขาที่จะทำให้เขามีความฝันอยู่ในประเทศนี้ ต้องเรียนท่านประธานฯ ผ่านไปยังพี่น้องประชาชนครับ เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้ กับสิทธิชุมชนในการทำธุรกิจ เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนโภคภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ โภคภัณฑ์ราคามีแต่ลง ผลิตภัณฑ์ราคามีแต่ขึ้น และหาวิถีในการหาฐานภาษีใหม่ๆ ให้ประเทศ หางบประมาณใหม่ๆ ในการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสุรา ไม่ว่าจะเป็นสุรานายทุน สุรานำเข้า หรือสุราพื้นบ้าน ซึ่งนั่นก็คือการเก็บภาษีจากฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้จากสุราก้าวหน้า เพื่อมาดูแลเยาวชน นักดื่มคนรุ่นใหม่ ให้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อจะให้กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเกี่ยวอุบัติเหตุทางรถยนต์มีงบประมาณในการทำ และไม่มีข้ออ้างในการที่จะดูแล ทั้งจุดแข็ง ศักยภาพ และความท้าทายที่มาจากอุตสาหกรรมสุราทั้งประเทศ ไม่ว่าจะมาจากของใคร” 

เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการกีดกัน การผูกขาด แต่เมื่อวานนี้มีการออกกฎกระทรวงออกมา จึงมีคำถามว่าการแก้ไขกฎหมายนี้ยังจำเป็นหรือไม่ หรือกฎกระทรวงเพียงพอแล้ว ตนคิดว่า สภาต้องไม่สับสน กฎหมายกับกฎกระทรวงเป็นคนละเรื่อง กฎกระทรวงคือวิธีปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายที่ไม่ระบุชัดเจนว่าวิธีปฏิบัติต้องยึดโยงกับอะไร ก็จะทำให้อำนาจในการกำกับอยู่ที่กระทรวง โชคดีว่าส่วนที่ออกมาเป็นกฎกระทรวง มันสะท้อนสิ่งที่พยายามจะแก้กฎหมาย แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด และกฎกระทรวงก็ไม่สามารถมาทดแทนที่พยายามจะแก้ไขกฎหมายได้ ที่สำคัญที่สุดคือ หากวันนี้ไม่ผ่านกฎหมาย #สุราก้าวหน้า ฝ่ายบริหารเปลี่ยนใจได้ แก้ใหม่ได้ ตนคิดว่ากฎหมายนี้ที่ทำมาอย่างยากเย็น ถึงเวลาที่สภาต้องตัดสินใจและควรสนับสนุนกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ตนในฐานะคนมุสลิม ต้องงดออกเสียง แต่สิ่งที่ตนเป็นห่วง คือ การใช้สุรา มันมีทั้งบวกและลบ ตนห่วงกังวลว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์จะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า รวมถึงการใช้สุราในเยาวชนซึ่งต้องมีการควบคุมในระดับหนึ่ง อีกสิ่งที่ตนอยากพูด คือ ไม่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ไม่ต้องนำกฎกระทรวงมาพิจารณา เพราะสิ่งที่สภากำลังพิจารณาอยู่คือกฎหมายซึ่งใหญ่กว่ากฎกระทรวง

คมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า จากกฎกระทรวงที่เพิ่งออกมามันย้อนแย้ง การคุมคุณภาพ เครื่องผลิต ฯลฯ เป็นการคุมกำเนิดในการพัฒนาการทำสุราพื้นบ้าน ช่วงพรรคไทยรักไทยดำเนินการเกี่ยวกับสุราชุมชน ตนเป็นหนึ่งในคนที่ขยายผลให้ชาวบ้านทำ ราคาเหล้าขาวที่ชาวบ้านใช้กัน มีต้นทุนแค่ประมาณ 10 บาท พวกภาษีไปประมาณ 50 บาท บวกผู้ค้าคนกลางไป 10 บาท ต้นทุนแค่ 10 บาท มันขึ้นไปได้ถึง 120 บาท ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้กับวิถีชีวิตชาวบ้าน ตามงานประเพณีต่างๆ

คมเดช อภิปรายอีกว่า ธุรกิจประเภทนี้ยึดครองประเทศและผูกขาด การที่ฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวงเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย ไปควบคุมไม่ให้เกิดการจำหน่าย การพัฒนา ที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดสุราได้ ตนไม่เห็นด้วยกับการออกกฎกระทรวง และสนับสนุนร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า 

โหวต 2 รอบ แพ้โหวตฉิวเฉียดห่างเพียง 2 เสียง ร่างตกไป

หลังจากลงมติรายมาตราครบทุกมาตราแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติในวาระสาม มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 174 เสียง ไม่ด้วย 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง แต่เนื่องจากคะแนนเห็นด้วยกับคะแนนไม่เห็นด้วย แตกต่างกันไม่เกิน 25 คะแนน จึงมีส.ส. ขอใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนับคะแนนใหม่ ซึ่งตามข้อ 83 และ ข้อ 85 ระบุว่าถ้าการขอให้นับคะแนนใหม่ ให้ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล

ก่อนจะถึงช่วงลงมติขานรายบุคคล นายกองตรี อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.พลังประชารัฐ ขอให้ประธานฯ นับองค์ประชุมก่อนลงมติขานรายบุคคล แม้ก่อนหน้านี้ประธานฯ จะวินิจฉัยว่าไม่ต้องนับอีกรอบ ด้านธีรัจชัย พันธุมาส ส.ส.ก้าวไกล ถามว่าหากมีคนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ #สภาล่ม จะทำอย่างไร? ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ถามประธานฯ ว่า หากครั้งนี้องค์ประชุมไม่ครบ รอบหน้ากลับมารับคะแนนใหม่ด้วยวิธีการขานชื่อรายบุคคลใช่หรือไม่ ด้านสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นั่งเป็นประธานในที่ประชุม ตอบชี้แจงว่า สภาทำงานค้างไว้ตรงไหน ในการประชุมครั้งหน้าก็ต่อจากตรงนั้น

หลังจากนั้น เป็นช่วงการตรวจสอบองค์ประชุมด้วยวิธีการให้ส.ส. เสียบบัตร ผลปรากฏว่าครบองค์ประชุม จึงลงมติใหม่ ด้วยวิธีการขานชื่อส.ส. รายบุคคล ผลการลงมติ  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต #สุราก้าวหน้า ในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เป็นอัน “ตกไป”