เลือกตั้งยังไม่ได้! กฎหมายลูกยังไม่มา ดึงเกมช้าให้ซับซ้อน

สภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 จะต้องครบวาระในวันที่ 24 มีนาคม 2566 และต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หรืออาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้ถ้าหากมีการยุบสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งที่หนึ่ง การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไปจะต้องใช้ระบบที่แตกต่างออกไปจากปี 2562  กล่าวคือ มีบัตรเลือกตั้งสองใบ แยกบัตรสำหรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต และอีกใบสำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ปรับจำนวนส.ส. แบ่งเขตมี 400 คนและส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ผลพวงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งนี้เอง เปิดช่องเกิดการ “ดึงเกม” ขึ้นในหมู่ผู้มีอำนาจ เพราะต้องแก้ไขกฎหมายลูกอีกสองฉบับให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ที่ประชุมร่วมกันต้องพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (กฎหมายเลือกตั้ง) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (กฎหมายพรรคการเมือง) ตามมาด้วยปัญหามากมายที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งปี 

และถ้ายังจัดการกระบวนการเหล่านี้ไม่เสร็จสิ้นก็อาจกระทบต่อกำหนดเวลาสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป

กระบวนการ “ทุลักทุเล” ที่ ส.ส. อยากแก้ไขระบบเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเสนอแก้ไขถึง 25 ร่าง ผ่านการลงมติ 4 ยก แต่กลับ “แก้ไขไม่ได้” เพราะมีเสียงของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขวางทางเอาไว้หลายต่อหลายเรื่อง มีเพียงประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่สามารถลงมติผ่านวาระที่สามได้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 แต่ก็ผ่านมาด้วยความ “ทุลักทุเล” เพราะข้อเสนอนี้่ถูกเสนอมาถึงสามร่าง โดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ ส.ว. กลับยอม “รับหลักการ” ในวาระที่หนึ่งเพียงร่างเดียว คือ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีรายละเอียดน้อยมาก ส่งผลให้ร่างฉบับที่กรรมาธิการ (กมธ.) นำเสนอในวาระที่สอง ถูกคัดค้านว่าอาจ “ขัดต่อหลักการ” ของร่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอมาแบบจำกัด ทำให้กมธ. ต้องยอมถอนออกไปหลายมาตรา เพื่อให้ประเด็นหลักสามารถผ่านออกมาได้

รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่แก้ไขได้เพียงสามมาตราเรื่องระบบเลือกตั้ง ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564  จากนั้นรัฐสภาก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองต่อให้สอดคล้องตรงตามส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปในรัฐธรรมนูญ

กฎหมายพรรคการเมือง ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้โดยเน้นแก้ไขประเด็นทางเทคนิค เช่น ค่าธรรมเนียม การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ฯลฯ ส่วนกฎหมายเลือกตั้ง ต้องพบแรงเสียดทานมากเพราะเป็นเรื่องที่ ส.ส. ทุกพรรคมีเป้าหมายและมีส่วนได้เสียไม่ตรงกัน เกิดเป็นข้อถกเถียงเรื่องการหาสูตรคำนวนที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตรหาร 100” หรือ “สูตรหาร 500” 

แม้ว่าสูตรหาร100 จะช่วยให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบ แต่ผลการลงมติกลับ “พลิกล็อก” ในวาระที่สองได้ออกมาเป็น “สูตรหาร 500”  ตามข้อเสนอของ “พรรคปัดเศษ” โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และส.ส. พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาล

แต่ท้ายที่สุดก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และ “สภาล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง “พลิกล็อก” อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1)  เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง

ความ “ทุลักทุเล” เปิดช่องโหว่ให้ตั้งเรื่องว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” 

แม้ว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะผ่านรัฐสภามาได้แล้วแบบงงๆ เมื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็นแล้ว และกกต. ก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางของกฎหมายเลือกตั้ง จะยังไม่ถึงปลายทางได้ง่ายๆ เมื่อส.ส. และส.ว. รวม 105 คน นำโดยระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ ผู้เสนอสูตร “หาร 500” ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 เข้าชื่อกันเสนอประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 

โดยข้อกล่าวหาว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” นั้นตั้งประเด็นมาสองด้าน คือ  

1) การตรวจสอบเชิงกระบวนการ ว่าการตรากฎหมายถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

โดยในคำร้องตั้งประเด็นว่า การที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มีเหตุควรสงสัยว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐใช้วิธีถ่วงเวลาประชุม จงใจให้กฎหมายไม่เสร็จในกรอบเวลา ซึ่งทั้งสองพรรคมีความได้เปรียบมีผลประโยชน์ร่วมกันจึงใช้เทคนิคทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการกำหนดกรอบเวลาเพื่อให้รัฐสภาใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ให้ใช้เทคนิคทำให้ร่างกฎหมายตกไป จึงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา

2) การตรวจสอบเชิงเนื้อหา ว่ามีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยในคำร้องได้ตั้งประเด็นไว้สองมาตรา ได้แก่

  • ร่างมาตรา 25 แก้ไขมาตรา 130 ของกฎหมายเลือกตั้ง มีสาระสำคัญ คือ จากเดิมที่กำหนดว่า ถ้าต้องมีการเลือกตั้งใหม่บางเขตหรือบางหน่วยก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ห้ามนำคะแนนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของเขตที่ต้องเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหา ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับ โดยการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้มีข้อห้ามดังกล่าวไว้ในมาตรา 130 แล้ว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ที่กำหนดว่า ถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง การคำนวณจำนวนส.ส.พึงมี และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.
  • ร่างมาตรา 26 ซึ่งยกเลิกมาตรา 131 ของกฎหมายเลือกตั้ง มีสาระสำคัญว่า ภายในหนึ่งปีหลังจากเลือกตั้งทั่วไป ถ้ามีผู้สมัครส.ส. ทุจริตการเลือกตั้ง หรือต้องมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะการเลือกตั้งในเขตนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คำนวณจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยห้ามนำคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมมาคำนวณรวมด้วย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ที่กำหนดเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ว่า ภายในหนึ่งปีหลังการเลือกตั้ง ถ้าต้องเลือกตั้งซ่อมเพราะการเลือกตั้งเขตนั้นไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้นำมาตรา 93 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

21 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาว่าร่างกฎหมายเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องที่ส.ว. 77 คน เข้าชื่อเสนอว่าร่างกฎหมายพรรคการเมือง ที่เสนอมาพร้อมๆ กันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อ 19 ตุลาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญให้ประธานกกต. ชี้แจงเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือ ผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน คดียังไม่มีทีท่าว่าจะใกล้ถึงวันวินิจฉัยชี้ขาด

กลายเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อนาคตทางการเมืองของไทยกำลังถูกผูกไว้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาออกคำวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไปสู่การเลือกตั้งได้โดยชัดเจนและรวดเร็วที่สุดก็ได้ หรือศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้เวลา “ยืดเยื้อ” ทำให้สถานการณ์การเมืองอึมครึม เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนต่อไปก็ได้ หรือศาลรัฐธรรมนูญอาจมีบทบาทสำคัญที่ครั้งที่เปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไปโดยอาศัยอำนาจในการทำคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นไปได้

ศาลรัฐธรรมนูญอาจ “ตีตก” กฎหมายเลือกตั้งทั้งฉบับ

ผลของคดีตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคสี่และวรรคห้า สรุปได้ ดังนี้

เชิงกระบวนการ : กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายนั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายนั้นเป็นอันตกไปทั้งฉบับ ไม่ว่าเชิงเนื้อหาร่างกฎหมายนั้นจะมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นจะเป็นสาระสำคัญหรือไม่เป็นสาระสำคัญก็ตาม

เชิงเนื้อหา : กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญ ร่างกฎหมายนั้นก็จะเป็นอันตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าข้อความในร่างกฎหมายนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป

มาตรา 148 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

(2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า

ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่กรณีตามวรรคสาม ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปตามมาตรา 81

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามกรอบเวลาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับร่างกฎหมายเลือกตั้ง จึงอาจจะเกิดขึ้นได้สามแบบด้วยกัน และส่งผลต่อความเป็นไปทางการเมืองแตกต่างกัน ดังนี้

1) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกระบวนการตราเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ทำให้รายละเอียดสำหรับกติกาการเลือกตั้งครั้งหน้ามีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ และเดินหน้าตามกรอบเวลาไปสู่การเลือกตั้งได้ 

2) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้ง มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ข้อความนั้นไม่เป็นสาระสำคัญ และกระบวนการตราเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป เนื้อหาส่วนอื่นยังคงใช้บังคับได้ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ หลังจากการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ครม. หรือส.ส. ก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้ง ได้อีกในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ไม่กระทบต่อกรอบเวลาไปสู่การเลือกตั้ง

3) กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตราร่างกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และ/หรือ วินิจฉัยว่า ในเชิงเนื้อหามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยที่ข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญ ร่างกฎหมายเลือกตั้งก็จะ “ตกไปทั้งฉบับ” หมายความว่าต่อให้เรื่องระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขแล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ได้ถูกแก้ไขทำให้เกิดเป็นภาวะ “สุญญากาศ” ทางกฎหมาย  การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ก็อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 

ยังมีทางเลือก การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งนั้นใช้บังคับไม่ได้ ก็ไม่ได้นำไปสู่ “เดดล็อกทางการเมือง” เสมอไป ยังมีทางออกอื่นในการออกกฎหมาย เพื่อรองรับการให้เลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นได้ทันตามกำหนดเวลา

ทางออกที่หนึ่ง คณะรัฐมนตรีหรือส.ส. อาจเสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาอย่างรวดเร็ว โดยใช้ร่างฉบับเดิมมาปรับแก้ไขส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นปัญหา ให้มีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับฉบับเดิมไม่ให้มีข้อถกเถียงใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก

ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมาย ยังสามารถเร่งรัดเพื่อให้ทันการเลือกตั้งในปี 2566 ได้ ถ้ารัฐสภาพิจารณาลงมติ “สามวาระรวด” หลังรัฐสภารับหลักการตอนวาระหนึ่งแล้ว ก็ตั้งกมธ. เต็มสภา ให้ส.ส. ส.ว. ทุกคนที่อยู่ในห้องประชุมเป็นกมธ. และเสนอแก้ไขร่างกฎหมายในที่ประชุมร่วมกันเลย หลังจากนั้นก็ลงมติผ่านร่างกฎหมายที่คั่งค้างอยู่ได้ภายในวันเดียว  

การตั้งกมธ. เต็มรัฐสภา ทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 89 วรรคสอง ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.ป. สามารถตั้งกมธ.เต็มสภาได้ เมื่อ ส.ส. และส.ว. ส่วนใหญ่เห็นด้วย

ทางออกที่สอง เคยมีคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการตรากฎหมายไม่ถูกต้องในกรณี ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563  ที่พบว่ามีการ “เสียบบัตรแทนกัน” เพราะฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมแต่ลงคะแนนเห็นชอบด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญ “เลี่ยง” ไม่ชี้ว่าร่างกฎหมายที่กระบวนการไม่ถูกต้องนั้นตกไปทั้งฉบับ แต่กลับกำหนดคำบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง และส่งร่างกฎหมายนั้นไปต่อในขั้นตอนของวุฒิสภาได้ ตามคำวินิจฉัยที่ คำวินิจฉัยที่ 2-3/2563

หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กระบวนการตรากฎหมายเลือกตั้งที่ “สภาล่ม” จนกฎหมายผ่านออกมาแบบทุลักทุเล มีปัญหาก็อาจกำหนดคำบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขให้ถูกต้องในบางขั้นตอน โดยไม่ต้องให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับและเริ่มต้นกระบวนการทั้งหมดใหม่ก็ได้

ทางออกที่สาม กรณีที่ใกล้จะเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญได้ หากครม. เห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีจำเป็นรีบด่วนเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปสู่การเลือกตั้ง ก็สามารถตราพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งไปก่อน และส่งให้รัฐสภาพิจารณาภายหลังได้ ทั้งนี้ การกำหนดเนื้อหาของพระราชกำหนดก็ควรจะสอดคล้องกับร่างกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภามาแล้วและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไปอีก

สิ่งที่สำคัญ คือ การใช้อำนาจในการตราพระราชกำหนด ควรทำอย่าง “จำกัด” เพราะเป็นข้อยกเว้นหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ปกติการออกกฎหมายจะเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากตัวแทนประชาชน กรณีที่ครม.ที่เป็นฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจออกกฎหมายไปก่อน แล้วค่อยให้ฝ่ายนิติบัญญัติประทับตรารับรอง “ภายหลัง” ต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นฉุกเฉินจริงๆ และไม่มีวิถีทางอื่นแล้ว และไม่ควรจะฉวยโอกาสใช้อำนาจนี้ออกกติกากฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์พวกพ้องของตัวเอง