เลือกตั้ง66: สมัคร ส.ส.ต้องเป็นสมาชิก 90 วัน ถ้า ส.ส.ย้ายพรรคสิ้นสภาพทันที

นับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2561 หรือ “พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.” มาตรา 68 กำหนดให้ภายในระยะเวลา 180 วัน ก่อนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ หรือ วันที่ 24 มีนาคม 2566 บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามระเบียบวิธีการหาเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนกำหนด หากมีการเลือกตั้งใหม่อันเนื่องมาจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ

เมื่อฤดูกาลเลือกตั้งได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ สิ่งสำคัญที่บรรดา ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีก่อนจะไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า คือ ‘การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. บังคับให้ต้องมี ด้วยเหตุนี้ บรรดา ส.ส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงเริ่มเตรียมตัวหาที่ทางให้กับตัวเองก่อนจะถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ดังจะเห็นได้จากการเปิดตัวร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองที่ตัวเองคาดว่าจะเข้าไปร่วมงานด้วย 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 90 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะครบวาระสภา) หรือ 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง (กรณีเลือกตั้งใหม่เพราะยุบสภา) ส่วนบรรดา ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคหรือเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องลาออกจากสมาชิกพรรคเดิมก่อน ซึ่งจะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน ยกเว้นยุบสภา

คุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองสังกัดก็ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดไว้ว่า

“มาตรา 97 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร …

(3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน”

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัคร ส.ส. มีอยู่ 2 เงื่อนไข ดังนี้

  1. กรณีครบวาระสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
  2. กรณียุบสภาฯ ต้องเป็นสมาชิกพรรคนั้นเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ถ้า ส.ส.ย้ายพรรคใหม่ต้องลาออก สิ้นสภาพ ส.ส.

การเลือกตั้งยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นวันไหน ในกรณีหากครบวาระสภาฯ และมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามที่ กกต. กำหนดไว้เบี้องต้น จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองต่อเนื่อง 90 วัน ซึ่งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อยภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่นอนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ควรสังกัดพรรคการเมืองครบ 90 วัน ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้ว่า ส.ส.ปัจจุบันที่ต้องการจะย้ายพรรคใหม่ ได้กำหนดเส้นตายในการย้ายพรรคไว้ช่วงวันที่ 24 ธันวาคม 2565 คือเป็นระยะเวลา 90 วัน จนถึงวันหมดอายุสภาผู้แทนราษฎร 

แต่การจะย้ายพรรค ส.ส.ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิมก่อน เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มาตรา 26 กำหนดให้พรรคต้องตรวจสอบไม่ให้ผู้ใดเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่น กล่าวคือ ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค และการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคระหว่างเป็น ส.ส. จะส่งผลให้สถานะการเป็น ส.ส. ของบุคคลนั้นสิ้นสภาพไปทันที 

อย่างไรก็ดี ถ้ามีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น ก็จะทำให้เงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคก่อนวันเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 30 วัน ทำให้ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคยังสามารถย้ายพรรคหลังยุบสภาได้ทันก่อนวันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับจากวันยุบสภาฯ และการยุบสภายังทำให้ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรคไม่เสียเปรียบ ส.ส. คนอื่นที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ เนื่องจากทุกคนสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. พร้อมกัน

ย้อนข้อมูล ส.ส.ย้ายพรรค ของสภาผู้แทนฯ เลือกตั้ง 2562

ที่ผ่านจะเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.ย้ายพรรคจำนวนหลายครั้ง แต่ไม่ได้ต้องสิ้นสภาพ ส.ส.ไปด้วย เนื่องจากสามสาเหตุประกอบด้วย

  1. ส.ส.ถูกขับออกจากพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ส.ที่ถูกขับจากพรรคต้องหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ถ้าหาไม่ได้จะต้องสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. โดยที่ผ่านมามีสามเหตุการณ์ คือ การขับไล่ ส.ส.งูเห่า พรรคอนาคตใหม่ สี่คน, การขับไล่ ส.ส.งูเห่า พรรคเพื่อไทย  สองคน และ ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ จนนำไปสู่การขับไล่ ส.ส.กลุ่มของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 21 คน
  2. พรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้ ส.ส.จากพรรคที่ถูกยุบต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ในกรณีคือ พรรคอนาคตใหม่ ที่ทำให้ ส.ส. จำนวน 65 คนต้องหาพรรคสังกัดใหม่
  3. พรรคเล็กยุบพรรคตัวเองเพื่อย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ ในกรณีเกิดขึ้นการ พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มี ส.ส. หนึ่งคน คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน กับพรรคประชาธรรมไทย ที่มี ส.ส.หนึ่งคนเช่นกัน คือ พิเชษฐ สถิรชวาล ทั้งคู่ใช้วิธียุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

การที่ ส.ส.ไม่มีสังกัดพรรคจากสามกรณีไม่มีผลทำให้สภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่ ส.ส.ย้ายพรรคด้วยสาเหตุลาออกด้วยตัวเองที่จะมีทำให้ทำให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ทันที ดังเช่น กรณีของ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค  ที่ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สามารถพกตำแหน่ง ส.ส.มาได้เพราะสิ้นสุดตั้งแต่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว