แคมเปญล่า 50,000 ชื่อ เสนอครม.ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ข้อเสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพื่อใช้แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ข้อเสนอที่เพิ่งมีขึ้นใหม่ หากยังจำกันได้ ช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ข้อเสนอก็เป็นอันตกไป หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนลงประชามติ “เสียก่อน” เป็นผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่ โหวตเทร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม ร่างเป็นอันตกไปแม้จะผ่านการพิจารณามาถึงสองวาระแล้วก็ตาม

ภายหลังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการลงมติไม่เห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม แม้ต่อมาจะมีการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และไม่มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. อีก จนกระทั่ง เมื่อ 7 กันยายน 2565 พรรคก้าวไกล เริ่มแคมเปญ “#RESETประเทศไทย เลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ใช้กลไกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 (พ.ร.บ. ประชามติ) ล่ารายชื่อประชาชนผ่านเว็บไซต์ https://www.resetthailand.org/ เพื่อเสนอทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถามความเห็นประชาชนเจ้าของประเทศว่า ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ ปัจจุบันมีประชาชนเข้าชื่อเกินกว่า 50,000 คนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกับข้อเสนอนี้ต่อไป

ก้าวไกลล่ารายชื่อ ประชามติพร้อมเลือกตั้ง ตั้งสสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

“RESET ประเทศไทย” คือ แคมเปญของพรรคก้าวไกลที่ให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป้าหมายสำคัญของข้อเสนอนี้ คือ ให้มีการทำประชามติในวันเลือกตั้งส.ส.ที่จะมีขึ้นในปี 2566 เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจร่วมกันว่า ประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง เป็นฐานของการสร้างกลไกสืบทอดอำนาจให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภาคประชาชนหลายภาคส่วนจึงเห็นว่าต้องมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น นำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากฟากประชาชนและจากส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เพื่อให้มีการตั้งสสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสองฉบับ หนึ่งฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และอีกฉบับเสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย

แม้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้งสสร. จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปจนถึงวาระสอง การลงมติรายมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ไม่สำเร็จ เมื่อไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติด่วนให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งบางฝ่ายตีความคำวินิจฉัยนี้ว่าหมายถึง ต้องทำประชามติว่าประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน แล้วค่อยเสนอร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง ทำให้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในการพิจารณาวาระที่สาม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

จากผลพวงของการคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ชี้แจงชัดแจ้งว่า การทำประชามตินั้นจะต้องทำขั้นตอนใด ตั้งแต่ก่อนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ หรือหลังร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงนำมาสู่การเสนอเรื่องทำประชามติ เพื่อถามประชาชนเจ้าของประเทศต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก่อนที่รัฐสภาจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการต่อไป

เข้าชื่อเกิน 50,000 ชื่อแล้ว ยังต้องเสนอให้ครม. เคาะ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ทำประชามติ

ข้อเสนอ RESET ประเทศไทย นี้ อาศัยกลไกตามพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเปิดช่องให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 หมื่นคน สามารถมีส่วนร่วมผ่านการเสนอเรื่องทำประชามติได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ จะได้ทำประชามติ แต่จะต้องให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย โดยเหตุนี้ แม้ว่าปัจจุบันประชาชนเกินกว่า 50,000 คนร่วมกันเข้าชื่อเสนอให้ทำประชามติให้สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ครม. ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีดุลยพินิจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของประชาชน หากครม.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของประชาชนก็เป็นอันตกไป

ถ้าครม. เห็นชอบกับข้อเสนอ นายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาวันออกเสียงประชามติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามหลักเกณฑ์ในพ.ร.บ.ประชามติ ในกรณีทั่วไปวันออกเสียงประชามติจะต้องไม่เกิดขึ้นก่อน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ โดยข้อเสนอ RESET ประเทศไทย ต้องการให้ ครม. พิจารณาจัดประชามติวันเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและเพื่อความสะดวกของประชาชนในออกเสียงประชามติ

กรณีครม.เห็นชอบกับข้อเสนอนี้ และจัดให้มีการทำประชามติ จุดตัดว่าเรื่องที่ทำประชามตินั้นมีข้อยุติ คือ 1) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และ 2) การออกเสียงนั้น จะต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ห้ามเป็นภิกษุหรือต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า ตามพ.ร.บ.ประชามติ การออกเสียงประชามติในกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอให้ครม.เห็นชอบนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กกต. กำหนด จากการสืบค้นในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ก็ยังไม่พบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่เสนอโดยประชาชน แม้ว่าพ.ร.บ.ประชามติจะประกาศใช้หนึ่งปีเต็มแล้วก็ตาม ดังนั้น จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า นอกจากเงื่อนไขหลักว่าต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คนแล้ว ในเชิงรายละเอียด กกต.จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไปในทิศทางใด

สภาเสนอทำประชามติได้ไม่ต้องง้อรัฐบาล ถ้าส.ส. ส.ว. ส่วนใหญ่เห็นด้วย

ตามพ.ร.บ.ประชามติ นอกจากประชาชนจะสามารถเสนอเรื่องเพื่อทำประชามติแล้ว ก็ยังมีการทำประชามติกรณีอื่นๆ เช่น รัฐสภาสามารถเสนอทำประชามติได้เช่นเดียวกัน ซึ่งนอกจากแคมเปญ RESET ประเทศไทย ล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอทำประชามติแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านก็ใช้กลไกตามพ.ร.บ.ประชามติ เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติเห็นชอบให้มีการทำประชามติ ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

ทั้งนี้ การออกเสียงประชามติที่เสนอโดยประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ กับที่การประชามติที่เสนอและผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภา มีจุดแตกต่างที่สำคัญ คือ กรณีเสนอโดยประชาชนต้องได้รับความเห็นชอบจากครม. ก่อน ครม. จึงมีดุลยพินิจในการจัดหรือไม่จัดให้มีการทำประชามติก็ได้ แต่กรณีของรัฐสภา ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.และส.ว. เห็นชอบให้มีการทำประชามติแล้ว ครม.จะต้องรับไปดำเนินการเพื่อจัดให้มีประชามติเท่านั้น จะปัดตกการเสนอประชามติที่ผ่านมติของรัฐสภาแล้วไม่ได้

แม้ญัตติที่เสนอให้มีการทำประชามตินั้น จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดรูปร่างที่ชัดเจน เนื่องจากตอนลงมติว่าส.ส. ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น องค์ประชุมในที่ประชุมไม่ครบ ดังนั้น จึงต้องไปลงมติกันในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2565 จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 และหากส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีการทำประชามติแล้ว ก็ยังต้องส่งไม้ต่อให้วุฒิสภา เพื่อวัดเสียงส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าส.ว. ส่วนใหญ่เห็นด้วย การทำประชามติเพื่อถามเสียงประชาชนว่าต้องการให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงจะเกิดขึ้นได้

เข้าชื่อเพื่อเสนอครม.ให้จัดทำประชามติได้ทาง https://www.resetthailand.org/