ฝ่ายค้านเสนอทำประชามติช่วงเลือกตั้ง ถามประชาชนเห็นชอบให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่

15 กันยายน 2565 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) กำหนด หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบญัตติดังกล่าว จะต้องส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอีกเช่นกัน หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ครม.จะต้องจัดให้มีประชามติในเรื่องดังกล่าว

ณัฐพงษ์แถลงหลักการและเหตุผล ใจความว่า เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนในสังคมอย่างกว้างขวาง เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร มีกระบวนการรับรองโดยอาศัยการทำประชามติที่ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล มีเนื้อหาหลายส่วนที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย อาทิ มีการขยายอำนาจสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รวมถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัดกุมน้อยกว่าในอดีต 

ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนแสดงออกถึงการเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสมาชิกรัฐสภาทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่วุฒิสภา ดังจะเห็นได้ว่า ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภารับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอโดยส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ริเริ่มสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

แต่ในสถานการณ์ต่อมา มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 ซึ่งหากรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องสอบถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือก็คือทำประชามติก่อนนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าที่ผ่านมาทำไมถึงยังไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนได้ ถ้ายังไม่มีการจัดทำประชามติ ด้วยเหตุนี้ จึงขอเสนอจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่า จะเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านกลไกของสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเห็นชอบ ครม. ก็ต้องดำเนินการทำประชามติ

โดยณัฐพงษ์และจุลพันธ์ เสนอคำถามและคำตอบสำหรับการทำประชามติ ใจความว่า

คำถาม : “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน”
คำตอบ : เห็นชอบ I ไม่เห็นชอบ I ไม่แสดงความเห็น

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แถลงเหตุผลต่อว่า การจัดทำประชามติดังกล่าว จะเป็นหนทางออกจากวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน ที่สังคมหลายส่วนมองว่ามีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นจุดเริ่มต้นการรื้อฟื้นของเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการสอบถามความเห็นประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดอย่างตรงไปตรงมา ว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และหากเป็นไปได้ จะต้องรีบเร่งดำเนินการประชามติพร้อมวันเลือกตั้ง นอกจากอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้สิทธิใช้เสียง ยังทำประชามติได้ด้วย อีกทั้งยังประหยัดเม็ดเงินภาษีด้วย

ด้านจุลพันธ์ ระบุว่า ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อครม. ตามอำนาจพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้ครม.ดำเนินการทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยสสร. หรือไม่ ซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ประชาชน เวลาที่ประชุมรัฐสภาบรรดาสมาชิกต่างก็ถกเถียงกันว่าตนเองเป็นผู้แทนประชาชน แต่ความจริงแล้วจำเป็นต้องย้อนถามจุดตั้งต้น คือประชาชน พร้อมทั้งย้ำว่าหากเป็นไปได้ ควรจัดให้มีการทำประชามติในช่วงเลือกตั้ง

ภายหลังผู้เสนอญัตติชี้แจงหลักการและเหตุผลแล้ว ก็เป็นช่วงให้ส.ส.อภิปรายในญัตตินี้ โดยมีส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน และส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลหลายราย ที่ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ อาทิ

วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ วีระกรระบุว่า ตนเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเท่านั้น พรรคอื่นทำไม่ได้ ข้อเท็จจริงมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมก็ไม่ได้พูดเพื่อด้อยค่าใคร แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาลให้วุฒิสมาชิกซึ่งอีกปีกว่าๆ เขาก็หมดแล้ว ให้เขามีสิทธิยกมือสนับสนุนคนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 250 เสียงโดยไม่ต้องหาเสียงเลยเนี่ย โดยไม่ต้องไปขอความเห็นชอบจากพี่น้องประชาชนเลย ก็สามารถยกมือให้นายกฯ ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ คือ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ”

“ผมเห็นมาแต่เริ่มแล้ว ตั้งแต่ประกาศใช้แล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แฟร์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความยุติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มองเห็นประชาชน เพราะฉะนั้นผมเห็นด้วย” วีระกรกล่าว

วีระกร อภิปรายต่อว่าในทางปฏิบัติการแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยาก เพราะในชั้นรับหลักการ วาระหนึ่ง ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว. ทั้งหมดที่มีอยู่ หากมี ส.ว. อยู่ครบเต็มจำนวน 250 คน ก็จะคิดเป็น 84 เสียง หากเสียงประชาชนที่ทำประชามติเห็นด้วยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร. มีจำนวนมาก เกิน 60% หรือท่วมท้นถึง 80-90% ก็จะเป็นเสียงกดดันต่อส.ว.

บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หลังจากรับฟังเหตุผลของผู้เสนอญัตติแล้ว นี่คือความพยายามที่จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตนขอสนับสนุนทุกข้อ ทุกอย่าง ทุกประการ หากยังจำกันได้ สมาชิกรัฐสภาต่างก็พยายามมาหลายครั้ง ร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร.ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับตกไป แต่สมาชิกหลายท่านก็ไม่ย่อท้อ มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เช่นเรื่องสิทธิชุมชน น่าเสียดายที่ทุกฉบับตกหมด ผ่านแค่เรื่องการแก้ระบบเลือกตั้ง เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-7 กันยายน 2565) พรรคเพื่อไทยก็เสนอแก้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ บวกกับฉบับที่เสนอโดยประชาชน รวมเป็น 4 ฉบับ แต่ก็ตกไปตามที่คาด

บัญญัติกล่าวว่า ตนเชื่อว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผ่านการประชามติและมีสสร.จากการเลือกตั้งโดยประชาชน จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่มาจากการมีส่วนร่วมโดยประชาชนที่อธิบายได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดองในประเทศนี้ และจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อีกทั้งการจัดทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง ไม่เพียงแต่เป็นการประหยัดงบประมาณ สำคัญที่สุด คือ เป็นการเพิ่มสีสันให้ประชาชนให้ความสนใจการเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นด้วย

ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 60 สาเหตุมาจากปี 2557 ตนมีโอกาสลงรับสมัครเลือกตั้งส.ว. แต่ไม่ได้รับเลือก คนที่ตนเคารพนับถือได้รับเลือกให้เป็นส.ว. ปรากฏว่าประชุมไปแค่ 2 นัด ก็โดนคณะรัฐประหารยึดอำนาจไป จากนั้นไม่นานมีการประกาศตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตนได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะอนุกรรมาธิการรณรงค์ของสปช. จากนั้นจึงได้เริ่มรณรงค์ฟังความคิดเห็นประชาชน หลังจากนั้นจึงมีมติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 ซึ่งนำโดยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากคณะรัฐประหารไม่ยอมรับ จึงมีการตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 60

ที่ตนสมัครมาเป็นส.ส. เพื่อมาแก้รัฐธรรมนูญปี 60 นี่คือวัตถุประสงค์หลักที่เข้ามาวันแรก แต่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไปไม่ถึงฝัน โชคดีที่เพื่อนส.ส.พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตตินี้ขึ้นมา ให้ทำประชามติเพื่อจะตั้งสสร. ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ที่ตนตั้งไว้ การตั้งสรร. ขึ้นมาเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง ตนหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาแทนที่รัฐธรรมนูญ 60 จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง 

ตอนท้าย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายสรุปว่า การเสนอทำประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 9 (4) ซึ่งกำหนดว่า ถ้ารัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ให้ความเห็นชอบให้มีการทำประชามติแล้ว ครม.ต้องรับไปดำเนินการเท่านั้น หมายความว่า ครม.จะปัดตกไม่ได้ โดยกระบวนการหลังจากผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งโดยส่วนตัวตนเชื่อว่าวุฒิสภาน่าจะให้ความเห็นชอบเช่นกัน

แต่เนื่องจากอนาคตก็ไม่อาจทราบได้ว่าสภาจะมีมติอย่างไร ตนจึงอยากขอเรียกร้องเพื่อนสมาชิก ยังมีอีกหนึ่งช่องทางในการเสนอประชามติ คือ มาตรา 9 (5) ที่ให้ประชาชนสามารถเสนอ 50,000 รายชื่อ เสนอให้ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการทำประชามติดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่านสภา ซึ่งตอนนี้กำลังมีการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ https://www.resetthailand.org/ 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ส.ส.ผู้อภิปรายมีความเห็นตรงกัน แต่หากหลังจากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบญัตตินี้แล้ว ก็ต้องส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบอีก จากการทำงานร่วมกันกับวุฒิสภาในการแก้รัฐธรรมนูญช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วุฒิสภามักจะกล่าวอ้างเรื่องประชามติที่มีคนรับรัฐธรรมนูญ 60 ถึง 16 ล้านเสียง หากทำประชามติอีกก็จะเป็นข้อยุติ ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก หากประชาชนลงมติว่าต้องมีสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกคนจะได้เดินหน้า แต่หากประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 ดีแล้ว ก็จะได้หยุดข้อถกเถียงกัน

ภายหลังจากจบช่วงอภิปราย เข้าสู่ช่วงการลงมติ โดยมีศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง นั่งเป็นประธานในที่ประชุม ก่อนการลงมติ เป็นช่วงตรวจสอบองค์ประชุมซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกแต่ละสภา ปัจจุบันมีจำนวนส.ส. ทั้งหมด 478 คน องค์ประชุมจึงอยู่ที่ 239 คน หลังจากรอส.ส. เข้าห้องประชุมมาแสดงตน มีผู้แสดงตน 242 คน ครบองค์ประชุม 

ต่อมาเวลา 15.44 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติญัตติเสนอทำประชามติว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  มีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วย 215+2 =217 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง แต่ขณะที่ลงมติองค์ประชุมไม่ครบ จึงทำให้ส.ส. หลายรายตั้งข้อห่วงกังวลว่าหากปล่อยผ่านไปสู่ชั้นวุฒิสภา จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่าส.ส. เห็นชอบขณะองค์ประชุมไม่ครบ และจะทำให้สิ่งที่ทำมาสูญเปล่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เสนอว่าให้ลงมติในครั้งถัดไป ซึ่งอาจมีขึ้นในสมัยประชุมครั้งหน้า (1 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566) ท้ายที่สุด ประธานในที่ประชุมจึงสั่งปิดการประชุม ข้อเสนอเพื่อให้จัดทำประชามติ จึงยังถูกคงไว้เพื่อรอลงมติในสมัยประชุมหน้า

______________________________________________

ช่วงปลายปี 2563 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 รัฐสภาเคยพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดตั้งสสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านวาระสอง ที่ประชุมรัฐสภาเคาะให้สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. เรื่องขอให้ส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสภามีอำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีบัญญัติใดที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้อำนาจรัฐสภาเพียงแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 เท่านั้น เมื่อ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้คำตอบกับประเด็นว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยตุลาการเสียงข้างมากมีมติว่า “รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการทำประชามติก่อน”

17 มีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ วาระสาม ก็เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักว่าจะสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่อันเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลการลงมติปรากฏว่ารัฐสภามีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม โดยมีผู้เห็นชอบ 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ซึ่งรวมถึงเสียง ส.ว. สองในสามและฝ่ายค้านอีกร้อยละ 20 ในวาระสุดท้าย ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงตกไป