รวมคำอภิปราย ส.ว. ต่อข้อเสนอ #ตัดอำนาจสว ยกเลิก272

6-7 กันยายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณาร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ โดย 1 ฉบับ เสนอโดยภาคประชาชน ริเริ่มโดย คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 272 เพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่เลือกนายกฯ ส่วนร่างอีก 3 ฉบับ เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย ฉบับแรก แก้ไขเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ฉบับที่สอง แก้ไขเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายประเด็น เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิสาธารณสุข ฉบับที่สาม กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส. และอยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง

โดยวันที่ 6 ผู้อภิปรายส่วนใหญ่เป็นส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่ส.ว. ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าของการอภิปราย ไม่ได้มีผู้อภิปรายเยอะมากนัก มีส.ว.เพียงไม่กี่รายนั้นที่อภิปราย เช่น คำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายว่า จะรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจส.ว. เฉลา พวงมาลัย อภิปรายว่า ประทับใจที่รัฐสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พร้อมอ้างเอกสิทธิ์ในการโหวตร่างแก้รัฐธรรมนูญวันพรุ่งนี้ ขณะที่การอภิปรายช่วงเช้าในวันที่ 7 เริ่มมีส.ว. ที่อภิปรายมากขึ้น โดยมีความเห็นที่หลากหลาย ควรค่าแก่การบันทึกไว้ 

วันชัย สอนศิริ พร้อมแก้ 272 วันเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

เพื่อนสมาชิกฝ่าย ส.ส. บางท่านได้กล่าวหา ตำหนิ ด่า เสียดสี ประชดประชันสารพัดกับ ส.ว. ขอเรียนต่อท่านประธานและพี่น้องประชาชนว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เรื่อง #ตัดอำนาจสว โหวตนายกฯ นั้น ผมได้แสดงจุดยืนมาหลายครั้ง หลายโอกาส และครั้งนี้ “ขอยืนยันสนับสนุนการแก้ไขมาตรานี้” อย่างเต็มปากเต็มคำ

สถานการณ์ตอนนั้นกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล และเฉพาะเหตุการณ์ดังกล่าวมันได้เลยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาสถานการณ์ทางการเมือง บุคคล เหตุผล และความจำเป็น มันเปลี่ยนไปแล้วครับท่านประธาน จะมีมาตรา 272 นี้หรือไม่มี แทบจะไม่มีความหมายอะไรครับ ผมไม่อยากให้เพื่อนสมาชิกนั้นติดกับดักอยู่กับมาตรา 272 เกินความจำเป็น

คนที่จะเสนอใครเป็นนายกฯ ได้ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น ส.ว. อยากจะได้คนนั้นคนนี้เป็นนายกฯ รัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ แม้ว่า ส.ว. 250 คนอยากได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีปัญญาหรอกครับ ถ้าส.ส. ไม่เสนอ หรือเสนอคนอื่น เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมาจากการเสนอโดยส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนเท่านั้น

สิ่งที่ปรากฏมาและจะปรากฏต่อไปไม่ว่าจะในขณะนี้หรือในอนาคตหลังการเลือกตั้ง คนที่จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (ของส.ส.) แน่นอน อย่างน้อยที่สุดต้อง 251 เสียงขึ้นไป ถ้าไม่มีเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง ส.ว. ก็ไม่มีทางที่จะไปโหวตให้คนนั้นคนนี้ เป็นไปไม่ได้ จะตอบคำถามสังคมอย่างไร จะยืนอยู่ในสังคมอย่างไร จะเกิดวิกฤติทางการเมืองอย่างไร ส.ว. รับรู้ครับ การที่ส.ว. จะเลือกใครเป็ยนายกฯ นั้น เลือกตามเสียงส.ส. ที่มาจากประชาชนเป็นคนกำหนดครับ แม้ส.ว. จะไปเลือกคนอื่นที่มีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง เลือกไปก็ไปไม่รอด อยู่ได้ไม่เกินเดือนสองเดือนสามเดือนก็พับกลับบ้านเก่า ดังนั้น ทั้งหมดยืนยันได้ว่า มาจาก ส.ส. โดยแท้

ท่านประธาน เพื่อนสมาชิกและผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ก็คงเห็นโดยตลอดอยู่แล้วว่า ที่รัฐบาลอยู่มาได้ทุกวันนี้ อยู่ได้เพราะ ส.ส. ในสภานี้ ไม่ได้อยู่ได้เพราะส.ว. เลยแม้แต่น้อย ถ้า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางที่จะอยู่ได้มาสามปีเกือบสี่ปี ดังนั้น ยืนยันได้เลยว่า 272 แม้จะมีให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ไม่ได้มีน้ำยา ไม่มีราคาอะไรเลยครับ การจะมี 272 หรือไม่มี จึงไม่ได้มีความหมายอะไรเลย พวกท่านกำลังถูก 272 บังตา และถูกผี 272 หลอกท่านเองต่างหากเล่า

แท้ที่จริง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้ารวมกันได้เกิน 251 เสียง หรือ 375 เสียงขึ้นไป ถามจริงๆ เถอะครับ ส.ว. จะไปมีน้ำยาอะไร จะไปทำอะไรได้ ส.ว. จะไปตั้งใครเป็นนายกฯ ได้ เพียงแต่ท่านที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนนั้น ไม่สามารถรวมกันได้เองต่างหากเล่า

แล้วถามจริงๆ เถอะ มาด่าหาว่า ส.ว. นั้นรับใช้ ใช้หนี้บุญคุณ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วเคยคิดไหมครับว่า ทำไมเราไม่ด่า ไม่กล่าวหา ไม่ตำหนิ พวกที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกันเองว่าทำไมเราไม่รวมกัน ทำไมเราไม่แข็งขืนกัน ทำไมพวกเราแท้ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งไปรวมกับคนอื่น ทำไมไม่รวมกับพวกเราที่กล่าวหาด่าว่าส.ว. อยู่ เราเป็นอย่างไรเคยดูกันบ้างไหม ทำไมไม่คบกันเอง เออ! น่าคิดไหมครับ เคยถามตัวเองไหม? ถ้าพวกเราดีด้วยกัน มาจากการเลือกตั้งด้วยกัน น่าจะไปด้วยกัน แต่พวกเราไม่อยู่ด้วยกันนี่ก็แปลกครับ แล้วก็มาโยนบาปอันนี้ให้กับ ส.ว. ทั้งๆ ที่ 272 ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรเลย เขาใช้เพียงเพื่อเฉพาะกาลในสถานการณ์ของการเปลี่ยนผ่านเท่านั้นเอง ผมถึงบอกว่า ด่าส.ว. จังเลย เคยสำรวจตัวเองบ้างไหม ว่าทำไมเราไม่รวมกัน

เมื่อพูดถึงขนาดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า 272 นั้นไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรเลย เพราะส.ส. เป็นคนเสนอนายกฯ และการดำรงอยู่ของนายกฯและรัฐบาลนั้น อยู่ที่ ส.ส. ส่วน ส.ว. ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้มีส่วนอะไรเลย ด้วยเหตุดังที่กราบเรียนมานี้ ผมจึงสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272

  • หนึ่ง วันเวลาของการเปลี่ยนผ่านเพื่อจะถ่ายโอนอำนาจระหว่าง คสช. เพื่อมาสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้นมันเลยไปแล้วครับท่านประธาน ระยะเวลามันเลย จึงไม่มีความจำเป็น
  • สอง สถานการณ์ของการปฏิรูปที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเป็นไปตามมาตรา 272 คำถามพ่วงนั้น ก็เลยไปแล้วเช่นกันครับ
  • สาม บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่เราจะต้องเลือกมาเพื่อทำภารกิจต่อเนื่องดังกล่าวนั้นก็เลยจุดนี้ไปแล้ว
  • สี่ เหตุผลและความจำเป็นเพื่อประคองสถานการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็เลยจุดนี้ไปแล้วเช่นกัน

ด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผล ด้วยสถานการณ์ต่างๆ การมีมาตรา 272 หรือไม่ ดังที่ผมย้ำมาทั้งสามครั้ง จึงไม่มีความจำเป็น หรือมีอยู่ก็ไม่หามีความหมายแต่อย่างใดไม่

ขอกราบเรียนนเป็นขั้นสุดท้ายว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้ตำหนิ อย่าได้เสียดสี อย่าได้ประชดประชันต่อส.ว. อีกเลย ทั้งหมดเกิดขึ้นโดยฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งโดยแท้ ไม่รวมพลังกันอย่างแข็งขันแล้วเป็นหนึ่งเดียว ถ้าท่านเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมี 272 ให้ส.ว. โหวตนายกฯ ไม่ได้มีความหมายแต่ประการใด

อีกมาตราหนึ่งที่ได้เสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 29 และมาตรา 29/1 (ประเด็นการรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสนอโดยพรรคเพื่อไทย) เป็นการแก้ที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นทนายความและนักกฎหมายเห็นเรื่องนี้แล้วไม่พูดถึงไม่ได้ เรื่องสิทธิในการประกันตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง พิจารณาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันเกินกว่ากรณีไม่ได้ และคนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาจะคุมขังเกินกว่าหนึ่งปีไม่ได้ แม้จะมีหลักเกณฑ์ของศาลกำหนดเรื่องนี้ไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้าง บางกรณีก็คล้ายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า แต่ถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะเป็นการช่วยเหลือคนยากคนจนคนด้อยโอกาส คนรวยเป็นคนมีอิทธิพลได้รับความสะดวกรวดเร็ว ได้รับการประกัน ได้รับการดูแลเห็นเป็นประจักษ์เลย แต่คนจนคนด้อยโอกาสแม้ศาลจะให้โอกาสในหลายวิธีแต่แนวปฏิบัติไม่ได้ชัดเจน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพื่อเหมือนเป็นสภาพบังคับว่าคนที่ไม่ได้รับการประกันตัวศาลควรรีบพิจารณาคดี บางคนถูกขังอยู่สองปีสามปีพิพากษายกฟ้อง บางทีก็ขังในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาแล้วก็ยกฟ้อง การแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงก่อให้เกิดความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ ผมขอสนับสนุนอย่างยิ่ง

อีกหลายมาตราที่เสนอมา ผมพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ขอสนับสนุนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทุกฉบับ

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. มีความรู้ความสามารถ ทำไมต้องมานั่งทนโขกสับ

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปราย กล่าวว่า ปกติแล้วตนก็ไม่ค่อยอภิปราย แต่ปรากฏการณ์เมื่อวาน (6 กันยายน 2565) ทำให้กลับไปคิดว่า ส.ว. ยังมีเกียรติมีศักดิ์ศรีอยู่หรือเปล่า ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถล่มข้างเดียว

“วันนี้ ผมจึงใช้สิทธิของวุฒิสมาชิก ทำการย้อนกลับไปดูว่าทำไมถึงต้องมีส.ว. ชุดนี้ ทำไมถึงต้องมานั่งทนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโขกสับ ทั้งๆ ที่ส.ว. ส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถมากมาย บางครั้ง ไม่ได้รับรองว่าวุฒิสมาชิกจะดีเด่นทุกท่าน เช่นเดียวกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ดีเด่นทุกคน บางคนซื้อเสียงเข้ามาจนเคยชิน ที่เรียกกันว่าแจกกล้วยๆ แจกกันมานานแล้ว ท่านประธานก็ทราบดี แต่ผมเชื่อว่า ท่านประธานที่อยู่บนบัลลังก์นั้น (ชวน หลีกภัย) ไม่ต้องซื้อครับ ชี้ให้เห็นว่า ความดีสามารถซื้อใจประชาชนได้ แต่นักการเมืองชั่วบางคนต้องใช้กล้วยแลก”

“ทำไมถึงต้องมีส.ว. ทำไมถึงเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรามาย้อนความจำกันสักนิด ปี 2554 รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศ แล้วบ้านเมืองเกิดอะไรครับ… โครงการจำนำข้าว  ผมเรียนท่านประธานนะครับว่าผมเป็นกรรมการตรวจสอบโครงการจำนำข้าวจังหวัดพิจิตร ได้ทำการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว แล้วเราได้เห็นว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ใช้เงินงบประมาณไปในโครงการนี้ หนึ่งล้านแปดแสนล้านบาท จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเป็นหนี้ชาวนาอีก เก้าแสนล้านบาท” กิตติศักดิ์อภิปราย

หลังจากนั้น สมคิด เชื้อคง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยลุกขึ้นประท้วงกิตติศักดิ์ที่พาดพิงบุคคลภายนอกและพาดพิงพรรคเพื่อไทย “ผมเรียนท่านประธานอย่างนี้นะครับ เรื่องนี้เวลาใครคิดไม่ออกก็ด่าโครงการจำนำข้าว แล้วตัวเลขที่เอามาแฉ หลายครั้งที่เขาพูดก็ยังย้ำที่เดิม ทุกโครงการของรัฐบาลก็มาย้ำอยู่เรื่องนี้ วันนี้เรามาอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ขอประธานโปรดวินิจฉัยครับ”

ด้านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม ระบุว่า ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวาน ส.ส. ก็อภิปรายส.ว. หนัก ประเด็นที่ส.ว. จะชี้แจง ถ้าอยู่ในประเด็นที่เขาถุกกล่าวหาก็ชี้แจงได้ ด้านพิเชษฐ์ เชื้อเมือพาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ร่วมประท้วงด้วยว่ากิตติศักดิ์กล่าวเท็จในที่ประชุม โดยให้ถอนคำที่พูดว่าโครงการจำนำข้าว ใช้เงินหนึ่งล้านแปดแสนล้านบาทนั้นไม่เป็นความจริง และกล่าวเสียงดังว่า “เอาข้อมูลมาจากไหน! ต้องถอนครับ! กล่าวหาคนภายนอกโดยไม่มีข้อมูล! เอามาจากไหน!”  ชวน หลีกภัย  ระบุว่ายังไม่มีอะไรผิดข้อบังคับ จึงให้กิตติศักดิ์ ส.ว. อภิปรายต่อ

กิตติศักดิ์ อภิปรายต่อว่า “ปี 2555-2556 มีการชุมนุมทางการเมือง ชุมนุมทั้งเรื่องชาวนาไม่ได้เงิน เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นภายในประเทศ มีผู้คนออกมาชุมนุมนับหมื่นนับแสนคน แล้วที่หลายครั้งบอกว่า พลเอกประยุทธ์ไปยึดอำนาจจากคุณยิ่งลักษณ์ ผมกราบเรียนท่านประธานนะครับว่า คุณยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งเพราะว่าถูกป.ป.ช. ชี้มูล ในการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ดังนั้น ช่วงปลายรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถนำพาประเทศไปได้ เกิดความวุ่นวาย เกิดการชุมนุมมากขึ้น เมื่อประเทศไปไม่ได้ แน่นอนครับ ทหาร ลูกหลานของพี่น้องตามียายมาทั่วประเทศ เขาก็มีความรักชาติ เขาต้องการให้ประเทศเดินไปได้ เมื่อประเทศติดขัดเนื่องจากการเมือง มีการทุจริตหลายอย่าง ยกตัวอย่างว่า โครงการจำนำข้าว มีคนติดคุกร้อยๆ ปี”

“ดังนั้น เมื่อรัฐบาลขณะนั้นเดินไปไม่ได้ ทหารออกมาทำรัฐประหาร และเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ใช้มาประมาณ 3 ปีเศษจึงร่างรัฐธรรมนูญ 2560 โดยการทำประชาพิจารณ์ (ประชามติ) ความเห็นของพี่น้องประชาชน 15 ล้านกว่าคน และบทเฉพาะกาล มาตรา 272 มีส.ว. 200 คน บวกกับอีก 50 คนสำหรับทดลองครั้งถัดไป”

“การที่พูดจริงครึ่งหนึ่ง พูดเท็จครึ่งหนึ่ง ให้ประชาชนสับสน บางครั้งบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะมาตอบได้ จริงครับ แต่ผมก็เห็นว่านักการเมืองบางคนบางพรรคเนี่ย ด่านายกฯ ซึ่งขณะนี้พักงานอยู่ ท่านก็ไม่สามารถมาตอบได้ ด่ากันเสียผู้เสียคน ขนาดส.ว. นั่งหัวโด่อยู่ในสภานี้ ยังไม่ให้เกียรติ ยังดูหมิ่นศักดิ์ศรี ทั้งๆ ที่บางคนไม่มีศักดิ์ศรีเท่าส.ว.ด้วยซ้ำไป”

“ผมอยากเรียนว่า ทุกคน ทุกหน่วยงาน ไม่มีคนดีและคนชั่วทั้งหมด ดีชั่วคละกันไป แต่ผมคิดว่า การที่ส.ว. ชุดพวกเราเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ในช่วงประคองบ้านเมืองมาได้ถึงทุกวันนี้ แทนที่ประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมือง เพราะฉะนั้น ผมกราบเรียนท่านประธานเป็นข้อมูลสุดท้ายว่า นายกฯ ที่ชั่วที่โกงประเทศไทยมีจริงครับ แต่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กราบขอบพระคุณครับ” กิตติศักดิ์กล่าวปิดท้าย

เฉลา พวงมาลัย ดีใจที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

เฉลา พวงมาลัย ส.ว. กล่าวว่า ตนขออภิปรายร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ในมาตรา 272 โดยการอภิปรายของตนมาจากเสียงของพี่น้องประชาชน เพราะตนนั้นเป็นตัวแทนของพี่น้องจังหวัดราชบุรีที่เลือกตนมาเป็นกระบอกเสียงในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข

เฉลา พวงมาลัย ส.ว. กล่าวว่า การที่ตนเข้ามาทำหน้าที่ในสภาไม่ได้ผิดอะไร เพราะตนก็มาจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศเช่นเดียวกัน การที่ ส.ส. อภิปรายให้ร้าย ส.ว. เป็นสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วย และตนรู้สึกดีใจและประทับใจที่รัฐสภาแห่งนี้ เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะตอนนั้นมีการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สองท่าน ตนดูแล้วก็เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดีที่สุด

เฉลา พวงมาลัย ส.ว. กล่าวว่า สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองจากอุดมการณ์หลากหลายสี ตนและเพื่อนสมาชิกอีก 50 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง อยากเข้ามาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เข้ามาขับเคลื่อนประเทศ การที่ตนเห็นรัฐสภาแห่งนี้กำลังให้ร้าย ป้ายสี วุฒิสภา ทำให้ตนอดทนไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมาอภิปราย และอยากกล่าวว่า สมาชิกวุฒิทั้ง 250 คน ไม่ใช่เลวร้าย ทุกท่านมีความสาารถ มีประสบการณ์ และเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

ตนอยากเรียนพี่น้องประชาชนว่า ตนและเพื่อนสมาชิกได้ทำงานลงพื้นที่ทั่วประเทศ ทำงานเป็นทีม แล้วเอาข้อมูลไปนำเสนอพี่น้องประชาชน รวมถึงรับข้อมูลจากพี่น้องประชาชนมาเสนอแนะรัฐบาลใ้ประเทศเจริญก้าวหน้า แต่สภาแห่งนี้ สมาชิกบ้างท่านพูดจาก้าวร้าว เสียดสี สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 ท่าน และตนไม่อาจทนได้ วันนี้จึงขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนว่า การเลือกนายกฯ ในครั้งนั้น มันมีการเสนอมาสองคน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดีที่สุด ถ้าเสนอมาหลายท่านก็จะมีตัวเลือก แต่เสนอมาแค่นี้ก็ต้องเลือกแบบนี้

เฉลา พวงมาลัย ส.ว. กล่าวว่า ในตอนลงมติ กลุ่มของตนที่มีสมาชิกอยู่ 50 คน จะโหวตตามเอกสิทธิ์ที่ตนมี เรามีวิจารณญาณ และมีความรู้สึก ไม่สามารถบังคับสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ได้ จึงอยากให้ประชาชนรับรู้ว่า ทั้ง 250 คน ตั้งใจทำงาน มีความรู้ความสามารถ และโปรดให้เกียรติ และให้ความสำคัญกับสมาชิกวุฒิสภาทุกคนด้วย

เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. เป็นปุถุชน มีอารมณ์ อยากให้เราสนับสนุนต้องพูดดีๆ วิงวอน

“ทาง ส.ว. เราถูกโจมตีมาโดยตลอด มีการกระแนะกระแหนเสียดสี ด้อยค่า บางคนใช้คำว่าด่าว่า ก็ไม่เป็นไรครับเพราะที่มาที่ไปของเราผมยอมรับว่ามาจาก คสช. แต่พวกเราพยายามทำงาน พวกเราประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ เราก็รู้ว่าสังคมมองอย่างไร เราก็แลกมาด้วยการทำงานให้คุ้มค่า ทางพวกเราเองก็เห็นว่าอำนาจในการเลือกนายกเป็นของ ส.ส. แต่ว่าถ้าพรรคการเมืองจะต้องรวบรวมเสียงข้างมากในสภา ส.ส. ให้เกินครึ่ง ส.ว. จึงเลือกผู้ที่ได้รับเสนอรายชื่อ เราไม่สามารถที่จะเลือกนายกที่มาจากเสียงข้างน้อยได้เลย เพราะการเสนอกฎหมายสำคัญถ้ารัฐบาลเสียงข้างน้อยก็คว่ำ เพราะฉะนั้น ในการเลือกนายก เราก็ต้องเลือกจากพรรคที่สามารถจัดการเสียงในสภา ส.ส. ได้”

“การที่ ส.ว. อภิปรายครั้งนี้จำนวนน้อย เทียบไม่ได้กับครั้งก่อน เท่าที่ผมพูดคุยมาก็ไม่รู้จะพูดไปทำไม เพราะพูดซ้ำและไม่จำเป็น อย่าลืมนะครับว่าในการเลือกนายกครั้งที่แล้วที่ ส.ว. มีสิทธิเลือก ส.ว. ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถึง 56 คนจำนวนไม่น้อยนะครับ แม้เราจะต้องการอย่างน้อย 84 คน ผมก็คิดว่าโอกาสดีที่มันจะผ่านไปถึง 84 คน แต่ผมไม่แน่ใจ ส.ส. หลายท่านอภิปรายดี วิงวอน ส.ว. ให้ช่วยลงมติสนับสนุน แต่ ส.ส. บางท่านโดยเฉพาะท่านที่อายุน้อย อภิปรายเสียดสีตลอด ด้อยค่า ส.ว. ตลอด ส.ว. เราเป็นปุถุชน มีอารมณ์ ท่านอยากให้เราสนับสนุน ท่านพูดดี ๆ มีหลักการ ท่านพูดเหมือน ส.ส. หลายท่านที่วิงวอน เพราะพวกเราไม่มีนักการเมืองหนุนหลัง เรารับฟังแล้วก็คิดตามด้วยเหตุด้วยผลและลงมติตามที่ตนเองคิด จะรับหรือไม่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว. แต่ละคน”

ถวิล เปลี่ยนศรี เลือกพล.อ.ประยุทธ์ เพราะดีกว่าคนอื่น 

ถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. ลุกขึ้นอภิปราย กล่าวว่า ความจริงแล้วไม่ได้ตั้งใจจะมาอภิปรายร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 ฉบับ ที่มีการนำเสนอมาแล้วหลายครั้งหลายหน อ่านดู วิเคราะห์ดูก็น่าจะเพียงพอที่จะลงมติได้แล้ว แต่ที่ต้องลุกมาอภิปราย เพราะมันมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกในที่ประชุม

ถวิล อภิปรายว่า ร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อ #ตัดอำนาจสว ในการร่วมเลือกนายกฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชน ว่า ที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา ไม่ใช่ตัวร่างแก้รัฐธรมนูญหรือตัวผู้เสนอ (สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มเสนอร่างฉบับนี้) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวาน (6 กันยายน 2565) ก็คือท่วงท่าที่มีผู้ให้ความเห็นเรื่องตัดอำนาจส.ว. ส.ส.หลายท่านพูดถึงคำหนึ่งก็เผด็จการ สองคำก็บ้าอำนาจ หวงอำนาจ สืบทอดอำนาจ มีการโจมตีด้วยถ้อยคำอันคลุมเครือเกี่ยวกับส.ว. มีการยกเอาเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของส.ว. บางคนมาอ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังมีการตรวจสอบอยู่

“ท่านกล่าวพาดพิง เรื่องเผด็จการ เรื่องสืบทอดอำนาจ คำว่าเผด็จการ หรือคำว่าสืบทอดอำนาจ ผมว่ามันมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ในชีวิตผม ผมก็เห็นมาหมดแล้ว เผด็จการที่มาในรูปแบบแต่งตัวบอกฝ่ายมาเลยว่าเป็นเผด็จการ ก็เคยเห็นมา ซึ่งในความคิดของผมอันนี้ก็ตรงไปตรงมาดีไม่ต้องมาตีความว่าเผด็จการหรือไม่เผด็จการ เช่นเดียวกันครับ ในช่วงชีวิตของผมก็เจอเผด็จการที่ซ่อนเร้น แอบแฝง ตีเนียน ห่มผ้าประชาธิปไตย ท่องคำว่ามาจากประชาชนวันละสามเวลา แต่พฤติการนั้นบางครั้งเป็นเผด็จการรวบอำนาจยิ่งกว่าเผด็จการตามรูปแบบเสียด้วยซ้ำไป”

“เผด็จการรวบอำนาจ ไม่ฟังเสียงใคร มุ่งแต่จะให้ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ ผมก็คิดว่าพวกเราเคยเห็นมาแล้วในหลายปีที่ผ่านมานี้ เผด็จการสืบทอดอำนาจ จากพี่มาถึงน้อง จากพี่ไปน้องเขย ก็มีให้เห็นมาแล้ว ต่อไปผมไม่แน่ใจว่าจะเห็นว่าจากพ่อไปลูกอีกบ้างหรือไม่ ลองติดตามกันดู ก็ขอละครับว่าอย่าว่ากล่าวรังเกียจเดียดฉันท์กันเลย เดี๋ยวมันจะกลายเป็นเข้าตำราว่า ว่าแต่เขา”

“ท่านยังกล่าวอีกว่าพวกผมเป็นพวกที่ผลัดกันเกาหลัง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ บุญคุณ บางท่านก็ถามไปถึงขั้นที่ว่า ได้ตอบแทนบุญคุณหมดหนี้หมดสินกันแล้วหรือยัง ผมยอมรับครับว่า พวกเราเอง ส.ว. ในแง่ของการเกาะเกี่ยวกับพี่น้องประชาชน เรามีจุดอ่อนในเรื่องที่มา เราไม่ได้มาจากภาคประชาชน อันนี้ใครๆ ก็ทราบ แต่ว่า ถ้าจะพูดถึงการเกาะเกี่ยวกับพี่น้องประชาชน ในแง่การรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ผมก็ไม่อยากบอกว่าพวกเราเหนือกว่าคนอื่นๆ แต่ผมรับรองได้ว่าพวกเราไม่น้อยหน้าใครๆ แน่ รวมทั้งท่านที่กล่าวหาพวกเราด้วย”

“แม้แต่การเลือกพลเอกประยุทธ์ (เป็นนายกฯ) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เราเลือกด้วยเหตุด้วยผล เพราะพลเอกประยุทธ์ ดีกว่าผู้ที่เสนอชื่อมาในชั้นนั้น เราไม่ได้คิดถึงเรื่องของการตอบแทนหรือการใช้หนี้ ผมและสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านไม่เคยเป็นหนี้บุญคุณใครเป็นตัวบุคคล แต่พวกผมเป็นหนี้บุญคุณประเทศนี้และก็จะต้องชดใช้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

“ท่านขอแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว. ในรัฐธรรมนูญก็ต้องอาศัยเสียง ส.ว. มาสนับสนุน ท่านอยากได้ ท่านไปขอของเขาจากผู้ที่ครอบครองดูแลอยู่ แล้วท่านก็เดินด่าพวกเขาหยาบๆ คายๆ ไอ้หน้าด้าน ไอ้คนเห็นแก่ตัว ไอ้แก่ ทำนองนี้ครับ ท่านลองนึกดูครับว่า ด้วยวิธีนี้ ท่านจะให้เขามาเห็นดีเห็นงามกับท่านได้ยังไง”

“การอภิปรายครั้งนี้ บางท่านก็ไม่ได้หวังผล แต่คิดจะเอามันอย่างเดียว ขอให้ได้ด่า ขอให้ได้เหน็บแนม ขอให้ได้เสียดสีประชดประชัน ถ้าอย่างนั้นผมแนะนำท่านว่าไปข้างนอกเถอะครับ ไปที่ที่เขาทำกันอย่างนี้ ไม่ใช่สภาอันทรงเกียรติ”

มณเฑียร บุญตัน ไม่มีประโยชน์ที่จะรักษาสิทธิที่เคยใช้ไปแล้ว

มณเฑียร บุญตัน ได้กล่าวอภิปรายว่า ผมขอกราบขอบพระคุณที่ให้โอกาสผมอภิปรายจุดยืนความเห็นความตั้งใจที่ผมจะลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสี่ฉบับที่เสนอเข้ามา

ผมได้พูดตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีความพยายามที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญสู่การพิจารณาของรัฐสภาแห่งนี้ว่า แม้ว่าโดยส่วนตัวผมไม่ใคร่จะอยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะมันมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับบ่อยครั้งไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพราะอย่างไรเสีย ก็จะมีคนได้ และมีคนเสียประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ผมสนับสนุนร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งสี่ร่าง ไม่ใช่เพราะผมน้อยเนื้อต่ำใจ หรือ หน้าบาง เพราะถูกด่าว่า เสียดสี ด้อยค่า สมาชิกวุฒิสภา แต่ผมเห็นว่า เมื่อผมอยู่ในสภาแห่งนี้แล้ว ผมมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย ผมก็ใคร่ที่จะเห็นความงดงามในการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญที่หลากหลายในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้พวกเราได้เสนอแปรญัตติ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่ผมจะรับร่างทุกร่าง

ผมขออนุญาตเรียงลำดับร่างรัฐธรรมนูญที่ผมต้องนำมากล่าวโดยสังเขป ร่างฉบับที่หนึ่งซึ่งเสนอโดยคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ผมเห็นด้วยกับท่านที่จะมีการแก้ไขในมาตรา 43 (…) แม้จะมีบางประเด็นบางข้อที่คงจะต้องมีการพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการว่า ทำไมต้องตัดอำนาจท้องถิ่น ซึ่งผมก็พยายามเดาว่า ท่านพยายามมองว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ไม่ปะปนกับสิทธิชุมชน สิทธิบุคคล อันนั้นก็พอจะฟังได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครอภิปรายชี้แจงในเรื่องเหล่านี้

ส่วนประเด็นที่สองเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยส่วนใหญ่ผมเห็นด้วย แต่ประเด็นที่จะต้องสอบถามซักเล็กน้อย เพื่อจะได้ขอให้มีการชี้แจง คือ การแก้ไขมาตรา 25 โดยการเพิ่มวรรคห้า (เรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่) ผมเห็นด้วยเพราะเป็นสิ่งที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 2550 เพียงแต่ว่า โดยปกตินิติประเพณีของไทยเรา เวลาเราจะอนุวัตรตามข้อตกลงหรือกติการะหว่างประเทศ เราจะออกเป็นกฎหมายภายในประเทศ เราไม่ได้อนุวัตรตามโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ตาม สิทธิที่ว่านั้นจะยังไม่เป็นผลจนกว่าจะมีกฎหมายในประเทศ ถ้าทุกท่านเข้าใจตามนี้ไม่เป็นปัญหา ผมไม่อยากให้ถกเถียงกันไปกันมาแล้วเข้าใจผิด ของเราไม่ได้ปฏิบัติแบบเดียวกันกับประเทศในละตินอเมริกา ที่อนุวัตรตามกติการะหว่างประเทศโดยอัตโนมัติหลังเข้าเป็นภาคีแล้ว

ประเด็นสุดท้าย คือ การแก้ไขมาตรา 272 ผมได้พูดไปหลายรอบแล้วว่า ผมไม่ติดใจ และยินดีโหวตให้ และได้โหวตให้ทุกร่างที่แก้ไขหรือตัดมาตรา 272 มันไม่มีความจำเป็นและไม่มีประโยชน์อะไรที่จะรักษาสิทธิในส่วนนี้ที่ผมได้เคยใช้ไปแล้ว

ในสถานการณ์ซึ่งขณะนั้น คนที่ใช้ก็บอกว่าจำเป็น คนที่ไม่อยากให้ใช้ก็บอกว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ผมไม่เถียงครับ จะจำเป็นหรือสืบทอดอำนาจก็ว่ากันไป เป็นความเห็นทางการเมือง แต่ ณ ขณะนี้ผมคิดว่าหมดความจำเป็นแล้ว

ผมจึงยืนยันว่า ผมจะแก้ไขมาตรา 272 เหมือนที่เคยทำ ไม่ได้รู้สึกหน้าบาง ไม่ได้รู้สึกว่าที่ทำมาในอดีตดีหรือชั่ว พิจารณาตามเหตุการณ์ ตามเงื่อนไข ตามผลของการกระทำก่อนหน้านั้น และผมหวังว่า เราจะไม่มีความจำเป็น หวังว่าเราจะไม่สร้างเงื่อนไขให้สิ่งที่ปรากฎในมาตรา 272 กลับมาอีก ผมคิดว่า เราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวด และหลีกเลี่ยงไม่ให้มันกลับมาอีก

พิศาล มาณวพัฒน์ นายกฯ จากการเลือกตั้งจะสง่างามในเวทีโลก

พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็น ส.ว. ที่ลงมติ “รับหลักการ” ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาก่อนหน้านี้ กล่าวอภิปรายในรัฐสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกว่า ผมอยู่ต่างประเทศเกือบครึ่งชีวิตราชการ ผมตระหนักดีถึงความสง่างามของประเทศ เมื่อประเทศไทยมีประชาธิปไตยเต็มใบ เมื่อ 35 ปีมาแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย เดินทางไปกรุงวอชิงตัน ผมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย คำถามแรกที่ฝ่ายสหรัฐถาท คือ ท่านมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เมื่อทราบว่ามาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายสหรัฐยิ้ม การพูดคุยต่อจากนั้นเป็นไปด้วยความอบอุ่น มิตรภาพ ใกล้ชิด ท่านประธาสภาท่านนั้นป่านนี้ก็ยังนั่งอยู่ที่บัลลังก์ประธานรัฐสภา เป็นตัวอย่างที่ดี ประชาชนทั่วประเทศมีความภาคภูมิใจ

เป็นความจริงครับ การที่ไทยมีผู้แทนจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประเทศจะสง่างามในเวทีโลก และในประเทศที่มีประชาธิปไตยเสมอทุกครั้ง 

แต่การยึดโยงกับประชาชนไม่น่าจะเป็นสิ่งผูกขาดที่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจะอ้างได้เท่านั้น ในชีวิตราชการของผมและข้าราชการในกระทรวงต่างประเทศ พวกเราไม่ได้ยึดโยงผลประโยชน์ของประชาชนเพียงแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่ง แต่เรายึดโยงประโยชน์ประชาชนทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและอยู่ต่างประเทศทั่วโลก ผมมั่นใจว่าเพื่อนสมาชิก ส.ว. ต่างก็เคยผ่านชีวิตที่ช่วยเหลือประชาชนมาทุกคน การยึดโยงกับประชาชนน่าจะดูที่การกระทำมากกว่าวาทะกรรม ตลอดสามปีเศษผมเห็นว่าเพื่อนส.ว. จำนวนมากได้ทำหน้าที่ทำงานแบบทุ่มเท ยึดผลประโยชน์ประชาชนมาตลอด ไปรับฟังปัญหาประชาชนทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ ประชาชนนในพื้นที่นั้นเป็นนประจักษ์พยานได้ กระทู้ถามฝ่ายบริหารเป็นปากเสียงแทนประชาชน เรามีแม้กระทั่งคณะกรรมาธิการลดความเหลื่อมล้ำ ผมอยู่กรรมาธิการสาธารณสุข ท่านประธานทำหน้าที่เป็นปากเสียงประชาชนในภาวะวิกฤติโควิด ลดภาระประชาชนในการทำเอกสารจนปัจจุบันได้ทำเป็นระบบดิจิทัล ส.ว. ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้นจากความรู้ประสบการณ์ที่แต่ละคนมี ร่างกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภานี้ก็ด้วยการออกเสียงของส.ว. ที่เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากทุกครั้ง ผมจึงเห็นว่า การทำงานที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันจะเป็นสูตรสำเร็จเพื่อประโยชน์ของประชาชน 

หลักการทำงานให้เกียรติซึ่งกันและกันนี้น่าจะสำคัญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ การนำเสนอร่างปิดสวิตซ์ส.ว. ก่อนหน้านี้ เคยมียอดส.ว. ที่สนับสนุน 56 คน ท่านต้องการ 84 คน ขาดอีกเพียง 28 เสียง สมัยที่ผมทำงานเป็นหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น ต้องการการสนับสนุนจากสนช. ผมแบ่งสมาชิกสนช. เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนแน่นอน กลุ่มที่คัดค้านแน่นอน และกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ผมขอเข้าพบคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและคุมเสียงสนช.หลายๆ คน เพื่ออธิบายข้อห่วงกังวลให้กับสนช. แต่ละท่านได้อย่างใกล้ชิด

แม้จะมีความเห็นต่างบางประการ แต่ผมจะสนับสนุนร่างทั้งสี่ฉบับ ดังนี้

หนึ่ง ผมต้องการให้เกียรติประชาชน ที่ผ่านผู้แทนของเขาในสภานี้ ผมต้องการให้เกียรติภาคประชาชนที่ร่วมลงนามกันมา ในร่างที่เพิ่มความเป็นปชต เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน

สอง ผมอยากเห็นความขัดแย้งในบ้านเมืองให้ลดลง ความขัดแย้งที่เคยขยายลงไปบนถนน เป็นการคืนความเชื่อมั่นว่า ระบบรัฐสภายังแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยได้

สาม เมื่อความขัดแย้งลดลง ประเทศชาติย่อมได้ประโยชน์ จะเพิ่มความเชื่อมั่น จากประชาคมระหว่างประเทศโดยตรง จะเพิ่มการลงทุนการติดต่อการค้า ทำให้การต่างประเทศของรัฐบาลไทย มีพลังเต็มศักยภาพ

ประการสุดท้าย จะทำให้นายกรัฐมนตรีท่านต่อไป มีความสง่างามในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น 

ในการทำงานส.ว. ผมไม่เคยได้รับใบสั่ง หรือคำสั่ง ให้โหวตในทิศทางใดทั้งสิ้น ผมโหวตต่างจากเพื่อนส.ว. ในอดีต ก็ไม่เคยมีเพื่อนส.ว. แสดงความรังเกียจ มีแต่มิตรภาพ มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในวันนี้ผมไม่จำเป้นต้องอภิปรายเพื่อโน้มน้าวเพื่อนส.ว.ให้โหวตเหมือนผม

แต่อยากจะฝากไว้ว่า ในวาระต่อไปที่เพื่อนส.ส. ต้องการ เสียงจากส.ว.84 เสียง ลองเปิดใจโน้มน้ามด้วยเหตุผล ด้วยความสุภาพ แน่นอนแต่หนักแน่น ว่าทำไมส.ว. ควรโหวตสนับสนุน เพราะอย่างไรต่างเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยกันทั้งสิ้น เป็นคนไทยเหมือนกัน และท้ายที่สุดเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น